ค้นหา

เครื่องตรวจจับสารพิษตกค้างในผักผลไม้แบบพกพา

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
เข้าชม 597 ครั้ง

นักวิจัย : รศ.ดร.เบญจพล ตันฮู้ รศ.ดร.ดารินี พรหมโยธิน และ ผศ.ดร.ทุติยาภรณ์ ทิวาวงศ์

ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา :

ในปัจจุบันผักผลไม้แต่ละชนิดมีปริมาณสารเคมีตกค้างจากพื้นที่แหล่งเพาะปลูกที่แตกต่างกันโดยสารเคมีที่ตกค้างในผักผลไม้ เช่น ยาฆ่าแมลง, ยาฆ่าหญ้า, ปุ๋ยเคมี และโลหะหนัก ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้บริโภค มีผลทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ หากได้รับสารเคมีเหล่านี้ในปริมาณมากจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็ง ตัวอย่างของสารเคมีที่มักพบเจอ ได้แก่ สารคาร์โบฟูราน (Carbofuran) ซึ่งนิยมใช้ในนาข้าว, พืชไร่ เช่น ถั่วเหลือง, ข้าวโพด, แตงโม, แตงกวา และ พืชสวนอย่างกาแฟ, ส้ม, มะพร้าว อีกทั้งพบสารเมโทมิล (Methomyl) ในองุ่น, ลำไย, ส้มเขียวหวาน, สตรอว์เบอร์รี่, กะหล่ำปลี, หัวหอม, และมะเขือเทศ รวมทั้งสารไดโครโตฟอส (Dicrotophos) ใช้กำจัดแมลงในพืชผักผลไม้ และ สารอีพีเอ็น (EPN) ใช้เป็นหัวยาและผสมกับสารเคมีเกษตรชนิดอื่นๆในการเพาะปลูกเพื่อกำจัดแมลงหลายชนิด

นอกจากนี้ ยังมีสารพิษที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ได้แก่ สารพิษจากเชื้อจุลินทรีย์ เช่น สารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) เสี่ยงทำให้เกิดมะเร็งตับ, สารพิษจากเห็ดบางชนิด และสารพิษในพืชผักบางชนิด เป็นต้น รวมไปถึงน้ำซุปที่อาจมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก สารตะกั่วจากการใช้หม้อที่ชำรุดหรือไม่ได้คุณภาพในการทำอาหาร เป็นต้น

ทีมวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังโดย วิทยาลัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุได้คิดค้น เครื่องตรวจจับสารพิษตกค้างในผักผลไม้แบบพกพา ชื่อ เค-เวจจี้ สกรีน (K-Veggie Screen) เป็นการพัฒนาอุปกรณ์เครื่องอ่านค่าทางเคมีด้วยขั้วไฟฟ้า ที่สามารถช่วยคัดกรองปริมาณสารพิษในผักผลไม้และอาหารเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคในเรื่องความปลอดภัยของอาหาร ลดปัญหาผลกระทบทางสุขภาพจากสารเคมีตกค้างในผักผลไม้ และช่วยส่งเสริมตลาดเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์

เค-เวจจี้ สกรีน ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ 1) ส่วนควบคุม ที่ประกอบจากไมโครคอนโทรลเลอร์ขนาดเล็กและประมวลผลก้าวล้ำด้วยระบบเอไอ (AI) เพื่อการทำงานอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ 2) ส่วนตรวจวัด (Sensor) ซึ่งได้พัฒนาผิวหน้าขั้วไฟฟ้าให้มีความจำเพาะกับสารกำจัดศัตรูพืชและแมลงได้อย่างแม่นยำ สามารถเปลี่ยนเซ็นเซอร์เพื่อตรวจวัดสารก่อภูมิแพ้ในอาหาร อาทิ เคซีน (Casein), สารเร่งเนื้อแดง, กลูเตน, เมลามีน และสารโลหะหนัก, ซิงค์ และสารปรอท ได้อีกด้วย

ตัวเครื่องมีหน้าจอแสดงผลซึ่งจะแสดงค่า 2  แบบ คือ ‘ปลอดภัย’ และ ‘ไม่ปลอดภัย’ โดยเซ็นเซอร์จะตรวจวัดสารเคมีในกลุ่มยาฆ่าแมลงและสารกำจัดศัตรูพืชเป็นหลักเพียงหยดน้ำล้างผักผลไม้ ลงในช่องตรวจวัดค่าสารเคมีใช้เวลาประมวลผลด้วยระบบ AI อย่างรวดเร็วเพียง 10 วินาที และแสดงผลผ่านทางแอปพลิเคชัน ชื่อ ‘Smartzen’ ผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟน แบบเข้าใจง่าย มี 3 ระดับ (สี) ได้แก่ สีเขียว หมายถึง ปลอดภัย, สีเหลือง มีสารเคมีอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และสีแดง มีค่าสารเคมีเกินมาตรฐาน ทั้งนี้ทำให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบและทำการล้างผักและผลไม้ให้อยู่ในเกณฑ์สีเขียวเพื่อความปลอดภัยก่อนการบริโภค

จุดเด่นนวัตกรรม :

  • ตัวเครื่องมีขนาดเล็กกะทัดรัด พกพาได้สะดวก น้ำหนักเบา ราคาถูก เซ็นเซอร์ใช้งานง่าย ไม่ต้องเตรียมตัวอย่างการทดสอบให้ยุ่งยาก เพียงเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนก็อ่านผลได้รวดเร็ว
  • ออกแบบขั้วไฟฟ้าใช้วิธีการฝังตัวโมเลกุลของสารจำเพาะที่ต้องการวัดลงไปในสารโพลิเมอร์ในการตรวจวัด จึงสามารถตรวจวัดในผักผลไม้ได้หลากหลายชนิด เหมาะสำหรับผู้รักสุขภาพและผู้บริโภคทั่วไป
  • สามารถเปลี่ยนหัวเซ็นเซอร์ชนิดอื่นเพื่อตรวจวัดค่าความจำเพาะสารเคมีอื่นๆ ได้

ข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามที่ : 

วิทยาลัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุ
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
เลขที่ 1 ซอยฉลองกรุง 1 ถนนฉลองกรุง แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520

อีเมลล์ : [email protected]

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_271166