ค้นหา

การจัดการชีวมวลในแปลงเกษตรที่สูงเพื่อลดการเผาในไร่ข้าวโพด

ทีมวิจัยสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ หน่วยงานเจ้าของผลงาน สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)
เข้าชม 891 ครั้ง

นักวิจัย/เจ้าของนวัตกรรม/เจ้าของข้อมูล : ทีมวิจัยสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ หน่วยงานเจ้าของผลงานสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)

ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา :

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาระดับโลก ซึ่งมีการดำเนินนโยบายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงปารีสและ COP26 โดยประเทศไทยตั้งเป้า “Carbon Neutrality” ภายในปี 2050 และ “Net Zero Emissions” ภายในปี 2065 ภาคการเกษตรทางภาคเหนือของไทยมีการปลูกข้าวโพดในพื้นที่กว่า 7 ล้านไร่ ทำให้เกิดชีวมวลจากเศษวัสดุเป็นจำนวนมาก เช่น ซังและลำต้นข้าวโพด อย่างไรก็ตาม การขนส่งชีวมวลเหล่านี้ไปยังโรงงานหรือสถานที่รวบรวมยังเป็นอุปสรรค เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกอยู่ในที่สูง และวัสดุชีวมวลมีน้ำหนักเบา ทำให้การจัดการชีวมวลส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งการเผาในที่โล่ง ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศและปัญหาหมอกควัน

เพื่อลดปัญหาดังกล่าว โครงการวิจัยนี้จึงมุ่งเน้นการใช้เครื่องจักรขนาดเล็กในการจัดการชีวมวลข้าวโพดในพื้นที่สูง โดยพัฒนาเครื่องมือสำหรับเก็บเกี่ยวและรวบรวมเศษวัสดุเหลือใช้ เพื่อนำไปแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการเผาในที่โล่ง และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษวัสดุทางการเกษตร ทั้งยังช่วยทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตพลังงานไฟฟ้าและในอุตสาหกรรม

จุดเด่นนวัตกรรม :

1. พัฒนาเครื่องจักรเฉพาะทาง งานวิจัยได้จัดหาและพัฒนาเครื่องจักรต่าง ๆ เช่น เครื่องเก็บเกี่ยวดัดแปลง เครื่องบรรทุก เครื่องสับย่อยชีวมวล และเครื่องอัดก้อนกลมชีวมวล ซึ่งทั้งหมดได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมกับพื้นที่ศึกษา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรวบรวมและจัดการชีวมวลจากเศษข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
2. การแปรรูปชีวมวลเพื่อเพิ่มมูลค่า งานวิจัยเน้นการใช้เศษข้าวโพดในการผลิตอาหารสัตว์อัดก้อน และเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัสดุที่เหลือจากการเกษตร ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ
3. ส่งเสริมการใช้เครื่องจักรและสร้างอาชีพทางเลือก สนับสนุนการจัดหาเครื่องจักรอัดก้อนให้กับเกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอาหารสัตว์อัดก้อน ลดการใช้แรงงานคน และสร้างอาชีพทางเลือกในชุมชน
4. ลดค่าใช้จ่ายและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้เครื่องจักรอัดก้อนในพื้นที่เกษตรช่วยลดการนำเศษข้าวโพดออกจากพื้นที่สูง ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่ง
5. การวิเคราะห์เชิงลึก พิจารณามิติของโลจิสติกส์ เทคโนโลยี เศรษฐศาสตร์ และพฤติกรรมศาสตร์ เพื่อพัฒนา solution/best practice ในระบบโลจิสติกส์สำหรับการขนส่งเศษวัสดุเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามที่ :
สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
โทรศัพท์ : +66 53 941300
โทรสาร : +66 53 217143
อีเมล : [email protected]

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : ทีมวิจัยสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ หน่วยงานเจ้าของผลงาน สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)