นักวิจัย/เจ้าของนวัตกรรม/เจ้าของข้อมูล :
ทีมวิจัย
รศ. ดร.เชาวลิต มิตรสันติสุข
รศ. ดร.ชัชวาล วงศ์ชูสุข
ผศ. ดร. เมธี สายศรีหยุด
รศ. ดร. อรทัย จงประทีป
อ. ดร. วิไล ศิริวัชรไพบูลย์
ผศ. ดร. เยาวภา หล่อเจริญผล
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์/เลขที่คำขอสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร 2402000250
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา :
โครงการวิจัยนี้มีเป้าหมายที่จะพัฒนานวัตกรรมระบบเครื่องจักรอัตโนมัติ ซึ่งประกอบด้วย หุ่นยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สำหรับปรุงอาหารและตรวจวัดกลิ่นรสอาหาร โดยใช้ต้นแบบเซนเซอร์ที่พัฒนาจากโครงการวิจัยของผู้ร่วมวิจัยในโครงการนี้ที่ได้ดำเนินการแล้ว มาต่อยอดเข้ากับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อสร้างเป็นระบบอัตโนมัติที่สามารถปรุงอาหารและตรวจวัดกลิ่นรสของอาหารได้ ด้วยการผสานเทคโนโลยีการนำการจดจำรูปแบบ (Pattern recognition) เพื่อจดจำสัญญาณไฟฟ้าที่ได้จากการตรวจจับสารเคมีของทั้ง 5 กลิ่นรสเข้ากับการเรียนรู้เชิงลึก (Deep learning) และการเรียนรู้ด้วยตนเองจากข้อมูล (Machine learning) มาประยุกต์ใช้เข้าด้วยกัน ได้เป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของระบบอิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัตินี้
การประยุกต์ใช้ระบบเครื่องจักรอัตโนมัติดังกล่าวในอุตสาหกรรมอาหาร จะช่วยให้สามารถควบคุมมาตรฐานของกลิ่นรสอาหารได้เป็นอย่างดี ทั้งยังมีความสะดวกและรวดเร็ว ซึ่งส่งผลดีในการเพิ่มโอกาสและศักยภาพในกลุ่มของอุตสาหกรรมอาหารมากขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลดีในเรื่องของการลดต้นทุนการใช้นักทดสอบทางด้านอาหารในอุตสาหกรรมอาหารขนาดใหญ่บางประเภท สำหรับการใช้งานนวัตกรรมนี้อุตสาหกรรมอาหารขนาดเล็ก นับว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ผลิตภัณฑ์อาหารมีคุณภาพที่ทัดเทียมเท่ากับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และมีโอกาสเติบโตในธุรกิจและส่งออกมากยิ่งขึ้น รวมถึงเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร และลดการนำเข้าอุปกรณ์ตรวจจับเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ในประเทศไทย
จุดเด่นนวัตกรรม :
1. นวัตกรรมระบบเครื่องจักรอัตโนมัติ ประกอบด้วย หุ่นยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สำหรับปรุงอาหารและตรวจวัดกลิ่นรสอาหาร โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เป็นพื้นฐานในการพัฒนาระบบ
2. พัฒนาประสิทธิภาพของวัสดุตรวจจับ (Sensor) ในการตอบสนองต่อกลิ่นรสอาหาร ได้แก่ กลิ่น รสหวาน รสเค็ม รสเปรี้ยว รสอูมามิ และความเผ็ด
3. สามารถสาธิตการปรุงอาหารไทย เช่น ต้มยำน้ำใสแบบอัตโนมัติ โดยการบูรณาการเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และเซนเซอร์ตรวจวัดกลิ่นรสของอาหาร
4. ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีประมวลภาพ (Image processing) และพัฒนาจมูกอิเล็กทรอนิกส์ (E-nose) จากข้อมูลในฐานข้อมูล (Database)
กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์เป้าหมาย
ผู้ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมทางด้านอาหาร โรงพยาบาล สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย หน่วยงานภาครัฐและเอกชนสถาบันการศึกษา
ข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามที่ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์/ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า