นักวิจัย/เจ้าของนวัตกรรม/เจ้าของข้อมูล :
กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กรมชลประทาน
กรมอุตุนิยมวิทยา
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. ภายใต้ทุนอุดหนุนวิจัยและนวัตกรรม จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น : ปัจจัยที่ก่อให้เกิดภัยแล้งในประเทศไทย นอกจากฝนแลัวยังมีองค์ประกอบอื่นหลายอย่าง เช่น ระบบการหมุนเวียนของบรรยากาศ การเปลี่ยนแปลงส่วนผสมของบรรยากาศ การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างบรรยากาศกับน้ำทะเลหรือมหาสมุทร ดังนั้น การเกิดภัยแล้งในพื้นที่แปลงปลูกของเกษตรกร มีความเสี่ยงมากน้อยกับขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของภัยแล้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งไม่มีเครื่องมือช่วยให้เกษตรกรสามารถวางแผนการเพาะปลูกได้เป็นอย่างดี ถ้ามีเครื่องมือช่วยเกษตรกรในการวางแผนเพาะปลูกจะช่วยลดผลกระทบและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากภัยแล้งได้
ความสำคัญของปัญหา :
ภาคการเกษตรของไทยประสบปัญหาจากภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมีผลกระทบโดยตรงกับการเกษตรและแหล่งน้ำ ส่งผลเสียหายต่อกิจกรรมทางการเกษตร เช่น พื้นดินขาดความชุ่มชื้น พืชขาดน้ำ พืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพต่ำ รวมถึงปริมาณลดลง ภัยแล้งที่เกิดมีผลต่อการเกษตร มักเกิดในฤดูฝนที่มีฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ส่วนใหญ่เกิดจากฝนแล้งและทิ้งช่วง โดยแต่ละปีจะเกิดขึ้นได้ 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงฤดูหนาวต่อเนื่องถึงฤดูร้อน ซึ่งจะเริ่มจากครึ่งหลังของเดือนตุลาคมเป็นต้นไป บริเวณประเทศไทยตอนบน (ภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออก) จะมีปริมาณฝนลดลงเป็นลำดับ ยกเว้นภาคใต้ จนกว่าจะย่างเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมของปีถัดไป ซึ่งจะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ส่วนภัยแล้งอีกช่วงหนึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงกลางฤดูฝน คือ ประมาณปลายเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม จะมีฝนทิ้งช่วง ซึ่งอาจเกิดขึ้นเฉพาะท้องถิ่นหรือบางบริเวณ แต่บางครั้งก็อาจครอบคลุมพื้นที่กว้างเกือบทั่วประเทศไทย การประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ต้องอาศัยข้อมูลปริมาณน้ำฝนของกรมอุตุนิยมวิทยาเป็นหลักและเจ้าหน้าที่ต้องสำรวจ ตรวจสอบ ยืนยันความเสียหายของแปลงเกษตร ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ขาดข้อมูลเชิงประจักษ์ และขาดแคลนเทคโนโลยีที่สามารถช่วยตรวจสอบในเชิงวิทยาศาสตร์ได้
จุดเด่นนวัตกรรม :
แอปพลิเคชัน “เช็คแล้ง” เพื่อสนับสนุนข้อมูลในการตัดสินใจประกาศภัยแล้งให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นกลไกในการสำรวจตรวจสอบความเสียหายของแปลงเกษตร ทำให้ลดภาระกำลังคนและระยะเวลาในการตรวจสอบ รวมถึงให้หน่วยงานที่บริหารจัดการน้ำภาคการเกษตรมีฐานข้อมูลประกอบการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีพื้นที่นำร่องการอบรมใช้งานแอปพลิเคชั่น”เช็คแล้ง” จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร ร้อยเอ็ด สุรินทร์ นครราชสีมา อุทัยธานี และกำแพงเพชร ซึ่งได้รับการตอบรับจากเกษตรกรในการทดลองใช้งานจำนวนมาก
ข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามที่ :
กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กรมชลประทาน
กรมอุตุนิยมวิทยา
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. ภายใต้ทุนอุดหนุนวิจัยและนวัตกรรม จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)