ค้นหา

นวัตกรรมกล่องเลี้ยงจิ้งหรีดอัตโนมัติ

ภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เข้าชม 48 ครั้ง

นักวิจัย/เจ้าของนวัตกรรม/เจ้าของข้อมูล :
ผศ.ดร.ปิยะพงษ์ ศรีวงษ์ราช
ผศ.ดร.ชามา อินซอน
คุณธนกร พรมโคตรค้า
คุณพงศธร โชติวีระกุล ภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น : “จิ้งหรีด” ถือว่าเป็นสัตว์ดาวรุ่งขึ้นแท่นของสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ ทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจไทย สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร จิ้งหรีดถูกนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ โดยจิ้งหรีดทั้งตัวถูกนำมาผลิตในรูปแบบจิ้งหรีดแช่แข็งและจิ้งหรีดปรุงรส ส่วนจิ้งหรีดสดนำมาผลิตเป็นจิ้งหรีดผง พัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากมาย เช่น พาสต้าจิ้งหรีด แครกเกอร์จิ้งหรีด ขนมปังผสมผงจิ้งหรีด แป้งบราวนี่สำเร็จรูป เกลือปรุงผสมจิ้งหรีด ผงโปรตีนสกัดเข้มข้น ไส้กรอกผสมจิ้งหรีด โปรตีนจิ้งหรีดอัดเม็ด ฯลฯ โดยจิ้งหรีดมีศักยภาพเป็น “แหล่งโปรตีนทางเลือก” คุณค่าทางโภชนาการสูง โปรตีนเฉลี่ยสูงกว่าเนื้อสัตว์ มีกรดอะมิโนจำเป็นครบ 9 ชนิด มีโอเมก้า 6 และโอเมก้า 3 เทียบเท่าปลาแซลมอน มีแคลเซียมสูงกว่านมวัว มีธาตุเหล็กสูงกว่าผักโขม มีวิตามิน B12 สูงกว่าปลาแซลมอล 10 เท่า มี Chitin สนับสนุนการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย โพรไบโอติกส์

จิ้งหรีดนั้นเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่มีมูลค่าสูงในปี 2565 จิ้งหรีดมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 14,000 ล้านบาท อัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 28.6% คาดว่า ปี 2573 ตลาดจิ้งหรีดจะมีมูลค่า 144,000 ล้านบาท เพราะมีผู้บริโภคในทุกภูมิภาค ในแอฟริกามีการบริโภคจิ้งหรีดมากที่สุด จำนวน 25 ประเทศ รองลงมา คือ เอเชีย 13 ประเทศ อเมริกา 4 ประเทศ ยุโรป 4 ประเทศ และทวีปออสเตรเลีย 2 ประเทศ

ความสำคัญของปัญหา :
รูปแบบการเลี้ยงโรงเรือนแบบเปิดแบบเดิม ส่งผลให้การเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดมีปัญหาหลายด้าน เช่น อัตราการตายของจิ้งหรีด เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมกับการใช้พื้นที่เพาะเลี้ยงที่ไม่มีประสิทธิภาพและความยากลำบากในการปฏิบัติงานของเกษตรกร โดยการเลี้ยงจิ้งหรีดจะมีการสร้างคอกให้กับจิ้งหรีด และการให้อาหารและน้ำจะอาศัยแรงงานคนเป็นหลัก

จากปัญหาดังกล่าวจะเห็นว่ารูปแบบการเลี้ยงจิ้งหรีดของเกษตรกรในปัจจุบันนั้น ยังไม่เหมาะสมเท่าใดนัก นักวิจัยจึงมีแนวคิดพัฒนารูปแบบการเลี้ยงจิ้งหรีดใหม่ให้เป็นแบบระบบปิดที่ได้มาตรฐาน ง่ายต่อการทำความสะอาด เป็นการใช้พื้นที่ในการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และมีระบบดูแลอัตโนมัติเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องของแรงงานคน

จุดเด่นนวัตกรรม : กล่องเลี้ยงจิ้งหรีดอัตโนมัติ เป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยงจิ้งหรีดแบบดั้งเดิมให้มีประสิทธิภาพและง่ายต่อการจัดการมากยิ่งขึ้น สามารถให้อาหารและน้ำแบบอัตโนมัติตามคำสั่งที่กำหนดบนหน้าตู้ควบคุม หรือผ่านทางมือถือ โดยอาศัยการทำงานของไมโครคอนโทรลเลอร์ร่วมกับระบบอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IOT) สามารถลดความร้อนสะสมภายในตู้เลี้ยงจิ้งหรีดได้ด้วยพัดลมระบายอากาศ โดยการกำหนดค่าอุณหภูมิสูงสุดที่ยอมให้เกิดขึ้นได้ ช่วยลดเวลาและการใช้แรงงานคนในการเลี้ยงจิ้งหรีดของเกษตรกร อีกทั้งยังใช้พื้นที่ในการเลี้ยงจิ้งหรีดน้อยกว่า เมื่อเทียบกับวิธีการเลี้ยงแบบเดิม ทั้งนี้ สามารถลดอัตราการตายของจิ้งหรีดได้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์อีกด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามที่ :
ภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทรศัพท์ : 081-940-9903 อีเมล : [email protected]

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_262023