นักวิจัย/เจ้าของนวัตกรรม/เจ้าของข้อมูล :
รศ.ดร.ณัฐชัย พงษ์ประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มจธ.
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น :
ประเทศไทยมีชื่อเสียงในฐานะประเทศผู้ส่งออกสับปะรดและผลิตภัณฑ์สับปะรดบรรจุกระป๋องไทยเป็นอันดับ 1 ของโลก ด้วยมูลค่า 2 หมื่นล้านบาท (ข้อมูล ณ มกราคม 2566) สับปะรดภูแลเป็นสับปะรดขึ้นชื่อของจังหวัดเชียงราย เป็นพืชเฉพาะถิ่นในตำบลนางแล ตำบลท่าสุด ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ซึ่งปัจจุบันสับปะรดภูแล ได้เป็นสินค้าจีไอของจังหวัดเชียงราย ถือเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงรายที่มีศักยภาพ ด้วยลักษณะเด่นของสับปะรดภูแลคือ ผลมีขนาดเล็ก เนื้อสีทอง รสชาติหวานปานกลาง แกนกรอบ จึงเป็นที่นิยมของผู้บริโภค โดยเฉพาะเมื่อนำมาปอกและตัดแต่งเพื่อรับประทานสด หรือที่เรียกว่า ผลไม้ตัดแต่งพร้อมบริโภค
ความสำคัญของปัญหา : สัปปะรดภูแลเป็นที่นิยมอย่างมากของผู้บริโภคชาวจีน และปัจจุบันมีการส่งออกไปจำหน่ายที่ประเทศจีนเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ อีกทั้งสับปะรดนั้นมีน้ำตาลเป็นองค์ประกอบสูง ที่ทำให้เชื้อจุลินทรีย์เจริญเติบโตได้ดี ผลิตภัณฑ์สับปะรดภูแลตัดแต่งพร้อมบริโภคจึงมีโอกาสเน่าเสียและสูญเสียคุณภาพได้ง่ายระหว่างการขนส่งก่อนถึงมือผู้บริโภค จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาการส่งออกของสับปะรดภูแลตัดแต่งพร้อมบริโภค จึงเป็นที่มาของการนำงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีไมโครนาโนบับเบิ้ล หรือเทคโนโลยีฟองอากาศที่มีขนาดเล็กระดับไมโครและนาโน มาใช้ยืดอายุและรักษาคุณภาพให้กับผลิตภัณฑ์สับปะรดภูแลตัดแต่งพร้อมบริโภคเพื่อการส่งออก
จุดเด่นนวัตกรรม :
ซึ่งคุณสมบัติเด่นของไมโครนาโนบับเบิ้ล คือ ฟองอากาศที่เกิดจากไมโครนาโนบับเบิ้ลนั้น มีขนาดที่เล็กมาก มีความคงตัวสามารถกระจายอยู่ในน้ำได้เป็นเวลานาน และมีพื้นที่ต่อปริมาตรสูงที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการละลายสารหรือก๊าซใดๆ ที่ใช้ฆ่าเชื้อใส่ลงไปในน้ำล้าง เช่น สารประกอบคลอรีน ก๊าซโอโซน เป็นต้น ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการล้างทำความสะอาดผักหรือผลไม้ตัดแต่งได้เป็นอย่างดี ลดการใช้สารเคมี ลดการสิ้นเปลืองน้ำที่ใช้ล้าง โดยนำสิ่งสกปรกที่ติดอยู่บนพื้นผิวของผักหรือผลไม้ตัดแต่งให้หลุดลอยออกมาจากพื้นผิว จึงทำให้เกิดประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อของผักหรือผลไม้ตัดแต่งได้ดียิ่งขึ้น
ประโยชน์ของเทคโนโลยีไมโครบับเบิ้ลที่เด่นชัดคือ สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้แรงงาน ลดระยะเวลาการล้าง ลดปริมาณการใช้น้ำ จากปกติการล้างจะต้องเปลี่ยนน้ำใหม่ทุกครั้ง แต่น้ำที่ใช้เทคโนโลยีไมโครบับเบิ้ลจะสามารถใช้ซ้ำได้บ่อยๆ ทำให้ลดการใช้ทรัพยากรลงได้ ลดการใช้สารเคมีลงครึ่งหนึ่งจากเดิมที่ต้องใส่สารคลอรีนในน้ำเพื่อการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในสัดส่วน 100% แต่ถ้านำเทคโนโลยีไมโครบับเบิ้ลเข้าไปร่วมจะใช้สารคลอรีนเพียง 50% ขณะที่ค่าใช้จ่ายของเทคโนโลยีไมโครบับเบิ้ลเป็นต้นทุนคงที่และเมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องล้างผักหรือผลไม้นำเข้าที่ไม่ใช้เทคโนโลยีไมโครบับเบิ้ลแล้ว ยังมีราคาถูกกว่าการนำเข้าเครื่องล้างผักหรือผลไม้จากต่างประเทศครึ่งหนึ่ง
ข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามที่ :
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.)