นักวิจัย/เจ้าของนวัตกรรม/เจ้าของข้อมูล :
ผศ.น.สพ.ดร. มานะกร สุขมาก
น.สพ.ดร. อรรถพล กำลังดี
ศ.น.สพ.ดร. สถาพร จิตตปาลพงศ์
ผศ.ดร. ประพันธ์ศักดิ์ ศีรษะภูมิ
รศ.ดร. ศศิมนัส อุณจักร
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น : ปัจจุบันความมั่นทางด้านอาหารหรือ food-security กลายเป็นเรื่องสำคัญที่หลายๆ ประเทศตระหนักและเตรียมรับมือหากเกิดปัญหา เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างเพียงพอและปลอดภัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมีบทบาทในการสนับสนุนด้านการผลิตอาหารให้มีความพอเพียง ส่งเสริมการเข้าถึงอาหารในสังคมและรักษาเสถียรภาพให้มีความเพียงพอตลอดเวลา อีกทั้งมีพันธกิจหลักในการส่งเสริมให้เกษตรกรรมไทยมีความยั่งยืน ประชากรกินดีอยู่ดี เพิ่มความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ดังนั้น เพื่อส่งเสริมการเกษตรกรรม ทั้งด้านพืช สัตว์ และสุขภาพของผู้บริโภคให้เป็นไปอย่างยั่งยืนและสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศ มหาวิทยาลัยจึงจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมวัคซีนและชีวภัณฑ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KU- VBIC) ขึ้น เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนและพัฒนาการใช้องค์ความรู้ การให้คำแนะนำและบริการด้านการวิจัย ส่งเสริมการใช้ประโยชน์นวัตกรรมการวิจัย ผลผลิตงานวิจัยและผลิตภัณฑ์เพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ที่เอื้ออำนวยให้เกิดความสามารถในการแข่งขันกับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์กลุ่มวัคซีนและชีวภัณฑ์จากต่างประเทศ โดยมุ่งหวังในการเป็นส่วนหนึ่งของภาคการผลิตสินค้าการเกษตร เพื่อให้ประเทศสามารถผลิตสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ นอกจากนี้ยังต้องการความร่วมมือจากภาครัฐในการผลักดันให้การใช้วัคซีนและชีววัตถุในภาคการเกษตร โดยเฉพาะด้านสัตว์ สามารถดำเนินการได้อย่างถูกกฎหมาย อีกทั้งยังสนับสนุนนโยบายสุขภาพหนึ่งเดียว (one health) สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย โดยขยายผลมาถึงเกษตรกรรมองค์รวมเพื่อผลิตอาหารปลอดภัย (food safety and food security) และส่งเสริมการใช้วัคซีนเพื่อเกษตรกรรมไทยอย่างยั่งยืน
ความสำคัญของปัญหา : โรคสัตว์ติดเชื้อทั้งอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำที่มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง มีสาเหตุมาจากปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ทั้งที่เกิดจากปัจจัยตามธรรมชาติ และที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ รวมทั้งยังเกิดจากการจงใจกระทำให้เกิดขึ้น นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์ ก็ยิ่งทำให้ความเสี่ยงของการแพร่ระบาดข้ามทวีปเพิ่มสูงขึ้นด้วย เหตุนี้จึงเกิดกระแสการตื่นตัวของทุกภาคส่วนทุกระดับทั้งในระดับพื้นที่ ระดับชาติ และนานาชาติ ในการเตรียมความพร้อมที่จะป้องกันและควบคุมมิให้โรคที่เกิดขึ้นใหม่แพร่กระจายออกไปเป็นวงกว้าง ปัจจุบันวัคซีนและชีวภัณฑ์ที่ใช้ควบคุมโรคในสัตว์มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งต้องใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีในการวิจัยและพัฒนาขั้นสูง ทำให้ได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพและสามารถนำไปใช้ควบคุมโรคในพื้นที่เลี้ยงจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จุดเด่นนวัตกรรม : วัคซีนและชีวภัณฑ์เพื่อการควบคุมและป้องกันโรคสัตว์ ที่อยู่ในระดับ TRL4 -7 เช่น วัคซีนชนิดออโตจีนัส (autogenous vaccine) ซึ่งใช้เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนเชื้อตาย (Inactivated vaccine) เพื่อให้มีการผลิตและนำไปใช้เพื่อแก้ปัญหาโรคระบาดที่มีอยู่อย่างรวดเร็วและการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการพัฒนาวัคซีนหน่วยย่อย (subunit vaccines) ประกอบด้วยวัคซีนชนิดรีคอมบีแนนต์ (recombinant protein vaccines) และดีเอ็นเอวัคซีน (DNA vaccine) ทำให้มีคุณสมบัติและประสิทธิภาพใกล้เคียงวัคซีนชนิดเชื้อตายหรือมีประสิทธิภาพที่สูงกว่าและปลอดภัยกว่า ที่ใช้ได้กับสัตว์ อาทิ วัคซีนปลานิล วัคซีนปลากะพงขาวชนิดกินและชนิดฉีด วัคซีนป้องกันโรคไวรัสอุบัติใหม่ในปลานิลและปลานิลแดง วัคซีนต่อต้านเห็บโคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วัคซีนเพื่อควบคุมและป้องกันโรค PRRS ในสุกร เป็นต้น
ข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามที่ :
ศูนย์นวัตกรรมวัคซีนและชีวภัณฑ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์