นักวิจัย/เจ้าของนวัตกรรม/เจ้าของข้อมูล :
นายยุทธนา เครือหาญชาญพงค์
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น : หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด (Fall armyworm : Spodoptera frugiperda JE Smith) เป็นศัตรูสำคัญของข้าวโพด วงจรชีวิตของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดใช้เวลา 30-40 วัน เมื่อผสมพันธุ์แล้วผีเสื้อเพศเมียจะวางไข่ในเวลากลางคืน โดยวางไข่เป็นกลุ่มละประมาณ 100-200 ฟอง มีขนปกคลุมไข่ ผีเสื้อเพศเมียหนึ่งตัววางไข่ได้ประมาณ 1,500 – 2,000 ฟอง ระยะไข่ประมาณ 2-3 วัน หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดมี 6 ระยะ คือระยะหนอน 14 – 22 วัน ถ้าโตเต็มที่จะมีขนาดลำตัวยาว 3.2 – 4.0 เซนติเมตร และจะทิ้งตัวลงดินเพื่อเข้าสู่ระยะถัดไป ระยะดักแด้ 7 – 13 วัน เป็นตัวเต็มวัยมีชีวิต 10 – 21 วัน สามารถบินเคลื่อนย้ายระหว่างแปลงและอพยพระยะไกลระหว่างประเทศหรือภูมิภาคได้ สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดโดยเฉพาะข้าวโพดปลูกใหม่จนถึงข้าวโพดที่มีอายุ 30 วัน ขอให้ติดตามสถานการณ์การระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดและเฝ้าระวังสำรวจแปลงปลูกพืชอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดสามารถเข้าทำลายข้าวโพดตั้งแต่อายุ 7 วันจนถึงออกฝัก โดยกัดกินยอดและใบของข้าวโพดทำให้ต้นอ่อนตาย ต้นไม่เจริญเติบโต และฝักไม่สมบูรณ์หากระบาดรุนแรงจะทำให้ผลผลิตเสียหายถึง 73 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่
ความสำคัญของปัญหา : หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดเป็นแมลงศัตรูพืชต่างถิ่นที่พบเข้ามาระบาดครั้งแรกในไทยเมื่อปลายปี พ.ศ. 2561 พบการระบาดในข้าวโพดที่ปลูกฤดูแล้งหลังนา จังหวัดที่มีการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ได้แก่ ตาก สุโขทัย พิจิตร อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก นครสวรรค์ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท และสระบุรี ลักษณะการทำลายของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดจะกัดกินอยู่ในยอดข้าวโพดทำให้ใบขาดเป็นรู เว้าแหว่งและยอดกุด ซึ่งจากการปลูกข้าวโพดอย่างต่อเนื่องประกอบกับสภาพอากาศที่เหมาะสมของประเทศไทย ทำให้เกิดการระบาดอย่างรุนแรงเป็นพื้นที่วงกว้างและพฤติกรรมที่สามารถเข้าทำลายได้ในทุกช่วงการเจริญเติบโตของข้าวโพดทำให้ในบางพื้นที่ผลผลิตเสียหายมากกว่า 70%
จุดเด่นนวัตกรรม : เครื่องพ่นสารเคมีหรือสารชีวภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อใช้พ่นสารดังกล่าวให้เป็นละอองฝอยตรงไปยังเป้าหมายโดนหนอนกระทู้ลายจุดให้มากที่สุด จากการวิจัยและทดสอบเครื่องพ่นสารแบบคานหัวฉีดชนิดใช้แรงลมช่วย สามารถพ่นกระจายเป็นละอองฝอยออกจากหัวฉีดไปโดนตัวหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดที่หลบซ่อนอยู่ในกรวยใบหรือใต้ใบได้โดยตรง ซึ่งอาศัยหลักการของลมที่ช่วยให้เกิดการพลิกของใบข้าวโพด ทำให้สารออกฤทธิ์ทั้งสารเคมีและชีวภัณฑ์สามารถแทรกซ้อนบริเวณใต้ใบพืชและในกรวยข้าวโพดได้โดยง่าย ซึ่งการใช้แรงลมช่วยนี้ยังไม่มีในเครื่องพ่นสารแบบคานหัวฉีดที่เกษตรกรใช้ในปัจจุบัน จึงสามารถกล่าวได้ว่าเป็นเครื่องแรกที่ผลิตในประเทศไทย โดยเครื่องพ่นสารแบบคานหัวฉีดชนิดใช้แรงลมช่วยสามารถพ่นได้รวดเร็ว 20 ไร่/ชั่วโมง และสามารถพ่นได้ตั้งแต่ข้าวโพดอายุ 7 วัน จนถึงข้าวโพดติดฝัก เครื่องพ่นสารแบบคานหัวฉีดชนิดใช้แรงลมช่วยใช้น้ำน้อยและช่วยให้ละอองสารมีความสม่ำเสมอมากกว่าการพ่นจากคานหัวฉีดแบบน้ำมาก รวมทั้งอัตราการพ่นที่น้อยกว่า ทำให้สามารถปฏิบัติงานพ่นสารได้รวดเร็วกว่า สามารถลดจำนวนครั้งในการผสมและการเติมสารเมื่อเทียบในปริมาณน้ำในถังพ่นสารที่เท่ากัน เครื่องพ่นสารแบบใช้ลมช่วย สามารถพ่นได้พื้นที่ที่มากกว่าถึง 2 เท่า ช่วยลดการใช้น้ำในการพ่นสารได้มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์และลดปริมาณสารเคมีและชีวภัณฑ์ลงได้ 20 เปอร์เซ็นต์รวมทั้งจากการทำงานที่รวดเร็วยังมีส่วนช่วยในการลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจากรถแทรกเตอร์ได้มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์
ข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามที่ :
นายยุทธนา เครือหาญชาญพงค์ วิศวกรการเกษตรชำนาญการพิเศษ
สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 089-2124183