ค้นหา

เลี้ยงหมูขุนแบบ Smart Farm ปลอด ASF กำไรดี ความสำเร็จของอีซี่ เทค ฟาร์ม สนับสนุนโดย ธ.ก.ส.

ผศ.ดร. อภิชาติ อาจนาเสียว อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เข้าชม 16 ครั้ง

นักวิจัย/เจ้าของนวัตกรรม/เจ้าของข้อมูล :
ผศ.ดร. อภิชาติ อาจนาเสียว อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ดร. อภิชาติ อาจนาเสียว

ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น : อีซี่ เทค ฟาร์ม เป็นฟาร์มเลี้ยงหมูขุน ตั้งอยู่เลขที่ 331 บ้านนาแกเหนือ หมู่ที่ 10 ตำบลนาหนองทุ่ม อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งมี ผศ.ดร. อภิชาติ อาจนาเสียว อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นเจ้าของคือ อีกหนึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้น ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ธนาคารที่มีวิสัยทัศน์ในการดำเนินงานอย่างเด่นชัดว่า เป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน มุ่งให้การสนับสนุนเติมทุนให้เกษตรกรด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำทุกรูปแบบ เพื่อนำเกษตรกรไปสู่ความสำเร็จ อย่างยั่งยืนภายใต้หลัก BCG สร้างเมืองไทยเป็นศูนย์กลางผลิตอาหารปลอดภัยของโลก

ความสำคัญของปัญหา :
“จากสถานการณโรคระบาด ASF หรือ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ส่งผลทำให้หมูในประเทศได้รับความสูญเสียเป็นจำนวนมาก ประเมินว่ามีหมูเหลืออยู่ในระบบเพียง 30-40% เท่านั้น ส่งผลให้ราคาหมูหน้าฟาร์มในประเทศสูงเป็นประวัติการณ์โดยมีราคาสูงสุดถึง 120 บาทต่อกิโลกรัม จากสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้หมูแม่พันธุ์ลดลงตามไปด้วย ประเมินว่าการเพิ่มจำนวนหมูแม่พันธุ์จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 – 3 ปี เพราะหมูแม่พันธุ์ต้องใช้เวลาในการเลี้ยงให้โต จึงจะมีปริมาณแม่พันธุ์เท่ากับสภาวะหมูก่อนมีการระบาดของโรค ASF ดังนั้นราคาหมูจะแพงต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปี ประกอบกับสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน มีผลทำให้ราคาอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลจากเหตุการณ์ทั้ง 2 อย่าง ประเมินได้ว่าราคาหมูจะมีราคาสูงไม่ต่ำกว่า 100 บาทต่อกิโลกรัม ตลอดช่วงเวลา 2-3 ปีนี้”

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. นำเยี่ยมชมความสำเร็จของ อีซี่ เทค ฟาร์ม

จุดเด่นนวัตกรรม :
การพัฒนาของอีซี่ เทค ฟาร์ม ได้เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การสนับสนุนด้านสินเชื่อโดย ธ.ก.ส. จากการตั้งฟาร์มครั้งแรก เมื่อปี 2563 จนถึงปัจจุบัน โดยมีจำนวนหมูขุนเพิ่มขึ้น จาก 200 ตัว เป็น 1,000 ตัว มีโรงเรือนเลี้ยงหมูทั้งหมด 5 โรงเรือนๆ ละ 200 ตัว แยกพื้นที่กัน โดยโรงเรือนเป็นรูปแบบที่คิดค้นพัฒนาขึ้นเอง ในรูปแบบคอกปิดที่ใช้ระบบจัดการอัตโนมัติที่ง่ายและราคาถูก ซึ่งข้อมูลสามารถส่งขึ้น Cloud ได้ สามารถติดตามข้อมูลได้จากทั่วโลก ผ่านมือถือและคอมพิวเตอร์ พร้อมกันนี้ยังมีการเสริมรายได้ด้วยการเลี้ยงแกะ แพะ วัวหรือกระบือ

ระบบให้อาหารและน้ำที่ผสมในถาดหมูอัตโนมัติ
ระบบให้อาหารและน้ำที่ผสมในถาดหมูอัตโนมัติเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ ดร.อภิชาติ ได้คิดค้นพัฒนาจนสำเร็จ โดยระบบดังกล่าว สามารถดูข้อมูลได้แบบ real time ผ่านมือถือและคอมพิวเตอร์พร้อมเก็บข้อมูลบน Cloud สามารถดูย้อนหลังได้

ระบบนี้เป็นระบบที่นําอุปกรณ์เซ็นเซอร์ตรวจจับระดับอาหารในถังอาหารหมู รวมทั้งชุดกล่องควบคุม การเปิด-ปิดรีเลย์ (สวิตช์ไฟฟ้า) เพื่อสั่งให้มอเตอร์ท่อลําเลียงอาหารทำงานจากไซโล มาเติมอาหารที่ถังอาหารหมู  การทำงานคือ เมื่อเซ็นเซอร์วัดระดับอาหารตรวจจับได้ว่ามีอาหารในถังอาหารที่มีถาดให้หมูกินมีระดับต่ำกว่าที่ตั้งไว้ บอร์ดในกล่องควบคุมการป้อนอาหารจะสั่งให้รีเลย์ไปเปิดการทำงานของมอเตอร์ต้นกําลังเพื่อป้อนอาหารจากถังอาหารใหญ่มาที่ถังอาหารที่มีถาดให้หมูกิน จนอาหารถึงระดับที่ต้องการ บอร์ดจะสั่งให้รีเลย์ไปปิดการทำงานของมอเตอร์ โดยระดับอาหารสามารถตั้งระยะได้ 10-80 ซม.

นอกจากนี้ ในกล่องควบคุมจะมีบอร์ดที่ใช้ส่งข้อมูลผ่านไวไฟ เพื่อส่งข้อมูลทุกครั้งที่มีการทำงานของมอเตอร์ต้นกําลังไปที่โทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ เพื่อให้รู้ปริมาณอาหารที่หมูกินในแต่ละวัน ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการติดตามผลการเลี้ยงในแต่ละช่วง ส่วนการควบคุมการให้น้ำไปผสมกับอาหารในถาด ทําได้โดยการตั้งเวลาที่ไทม์เมอร์ ให้โซลินอยวาล์วน้ำเปิดน้ำในช่วงเวลาตามกำหนด เพื่อกระตุ้นการกินอาหารของหมู โดยสามารถตั้งปริมาณน้ำในแต่ละช่วงเวลาได้ โดยชุดกล่องควบคุมคำสั่งและระบบให้อาหารและน้ำที่ผสมในถาดอัตโนมัติ

ระบบพัดลมระบายอากาศอัตโนมัติ
ระบบพัดลมระบายอากาศอัตโนมัติ เป็นอีกระบบที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยง ทำการติดตั้งพัดลมระบายอากาศ 1 ตัวต่อคอกหมูขุน 50 ตัว เพื่อระบายอากาศ ลดอุณหภูมิและลดแก๊สภายในโรงเรือน โดยมีการทำงาน คือ เมื่อเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิตรวจจับได้ว่าอุณหภูมิในโรงเรือนสูงกว่าที่ตั้งไว้ บอร์ดในกล่องควบคุมอุณหภูมิในโรงเรือนจะสั่งให้รีเลย์ไปเปิดการทำงานของมอเตอร์พัดลม เพื่อให้พัดลมทำระบายความร้อนและแก๊สที่เกิดขึ้นในโรงเรือนออกไป จนอุณหภูมิต่ำลงหรือระบายแก๊สจนถึงระดับที่ต้องการบอร์ดสั่งให้รีเลย์ไปปิดการทำงานของมอเตอร์พัดลม เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิและความชื้นอากาศในโรงเรือน พร้อมบอร์ดที่ใช้ส่งข้อมูลผ่านไวไฟ เพื่อส่งข้อมูลไปที่โทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์แบบเรียลไทม์

ระบบตรวจจับคนงานเข้าโรงเรือน พร้อมพ่นยาฆ่าเชื้อก่อนเข้า

ระบบตรวจจับคนงานเข้าโรงเรือน พร้อมพ่นยาฆ่าเชื้อคนงานก่อนเข้าโรงเรือน ถือเป็นระบบไบโอเซฟตี้ที่จําเป็นมากในการป้องกัน ASF คนงานต้องทำการพ่นยาฆ่าเชื้อ อาบน้ำและเปลี่ยนชุดก่อนเข้าทำงานในโรงเรือน ซึ่งสิ่งสำคัญอีกอย่างคือ การเข้าโรงเรือนของคนงานจะต้องถูกจํากัดให้น้อยที่สุดและตรวจสอบได้ ระบบตรวจจับคนงานเข้าโรงเรือน พร้อมพ่นยาฆ่าเชื้อคนงานก่อนเข้าโรงเรือน ระบบนี้จะมีการเตือนทาง Line ให้ผู้จัดการทราบ เมื่อมีคนงานเข้าโรงเรือน พร้อมเก็บข้อมูลบน Cloud เพื่อตรวจสอบย้อนหลังได้ด้วย

ความโดดเด่นของ อีซี่ เทค ฟาร์ม อยู่ที่การเลี้ยงหมูแบบครบวงจร กำหนดแผนดำเนินงานอย่างครบวงจรตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการตลาด เสริมความแข็งแกร่งในการเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงด้วยการใช้โรงเรือนอัจฉริยะในรูปแบบของโรงเรือนเปิดที่เกิดขึ้น จากการคิดค้นพัฒนาของ ดร. อภิชาติ ส่งผลให้การเลี้ยงสามารถก้าวไปสู่ความสำเร็จ สร้างรายรายจากการเลี้ยงหมูขุนใน 1 รอบ หรือในระยะเวลา 5 เดือน ให้มีกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วประมาณ 300,000-500,000 บาท

ทั้งนี้โครงการ New gen hug บ้านเกิด ในปี 2563 อันเป็นโครงการที่ค้นหาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้สามารถพึ่งตนเองได้ พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ชุมชน ภายใต้การสนับสนุนของ ธ.ก.ส. ดร.อภิชาติ ได้นำรูปแบบการเลี้ยงหมูขุนส่งเข้าร่วมการประกวด ภายใต้ชื่อ ทีมเรื่องหมูหมูและได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับรางวัล ชมเชย BAAC The Idol ประเภททีมด้านเกษตรเทคโนโลยี

โรงเรือนเลี้ยงหมูขุน จำนวน 200 ตัว ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย


ข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามที่ :
อีซี่ เทค ฟาร์ม โทร. 08-1266-7120

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.kasetkaoklai.com/home/2022/07/%e0%b9%80%e0%b8%a5%e0%b8%b5%e0%b9%89%e0%b8%a2%e0%b8%87%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%b9%e0%b8%82%e0%b8%b8%e0%b8%99%e0%b9%81%e0%b8%9a%e0%b8%9a-smart-farm-%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%ad%e0%b8%94-asf-%e0%b8%81/