ค้นหา

เครื่องย่อยระบบถังคู่ (BioComposter)

ดร.สัญชัย คูบูรณ์ นักวิจัยจากทีมวิจัยตัวเร่งปฏิกิริยา กลุ่มวิจัยการเร่งปฏิกิริยาระดับนาโน การดูดซับและการคำนวณ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
เข้าชม 11 ครั้ง

นักวิจัย/เจ้าของนวัตกรรม/เจ้าของข้อมูล :
ดร.สัญชัย คูบูรณ์ นักวิจัยจากทีมวิจัยตัวเร่งปฏิกิริยา กลุ่มวิจัยการเร่งปฏิกิริยาระดับนาโน การดูดซับและการคำนวณ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น : เครื่อง BioComposter ระบบถังคู่ เป็น 1 ใน 19 โครงการนำร่องของ สวทช. และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของสระบุรี ที่ สวทช. ร่วมเป็นหนึ่งในคณะทำงานขับเคลื่อนด้านการเปลี่ยนสู่พลังงานสะอาด ร่วมกับพันธมิตรเครือข่ายพลังงานขับเคลื่อนให้เกิด ‘สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์’ จังหวัดต้นแบบที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในระยะเวลา 4 ปี โดยการเปลี่ยนขยะเศษอาหารและชีวมวลเหลือทิ้งทางการเกษตรในพื้นที่ให้เป็นปุ๋ยหมักชีวภาพ เพื่อใช้งานในพื้นที่การเกษตรของโรงเรียน รวมถึงกลุ่มคนที่จะเป็นกระบอกเสียง ส่งต่อความรู้และการใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อลดขยะอินทรีย์ในชุมชนที่กว้างขึ้น หากประสบความสำเร็จจะต่อยอดพื้นที่ใช้ประโยชน์สู่โรงเรียนและสถานที่อื่นๆ เป็นการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ตอบโจทย์สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ที่ร่วมกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนให้เกิดเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของประเทศไทย ปี 2567 ภายใต้แนวคิด “ร่วม เร่ง เปลี่ยน” สู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ความสำคัญของปัญหา :  ประเทศไทยซึ่งมีปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นทุกปี ในจำนวนนี้มีขยะอาหารมากถึง 50% การนำขยะอาหารไปฝังกลบ เป็นวิธีการกำจัดขยะอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงมากที่สุด เพราะจะเป็นการเพิ่มภาวะเรือนกระจกต้นตอของภาวะโลกร้อน รวมถึงขยะชีวมวลเหลือทิ้งจากการเกษตร การย่อยสลายจะคายก๊าซมีเทนออกมาจากขยะอินทรีย์ นอกจากนี้ขยะอาหารยังมีปัญหาเรื่องของกลิ่นรบกวนและเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคมากมาย และถ้าหากจัดการล้มเหลวก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

จุดเด่นนวัตกรรม : เครื่อง BioComposter ระบบถังคู่ ใช้สำหรับการทำปุ๋ยหมักชีวภาพระดับครัวเรือน ตอบโจทย์สำหรับขยะอินทรีย์ ทั้งเศษอาหารจากครัวเรือน รวมถึงชีวมวลเหลือทิ้งทางการเกษตร โดยทีมวิจัยนาโนเทค สวทช. ออกแบบตัวเครื่องระบบถังคู่ที่ถังหลัก (Primary Tank) ทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้เหมาะกับการทำงานของจุลินทรีย์ ในขณะที่ถังรอง (Secondary Tank) มีหน้าที่ลดความชื้นของปุ๋ยหมักชีวภาพให้เหมาะสำหรับการนำไปใช้งาน นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับทีมวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ในการพัฒนาหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่มีความจำเพาะในการย่อยสลายขยะอินทรีย์ในประเทศไทย โดยช่วยให้ปุ๋ยหมักชีวภาพที่เป็นผลผลิตจากกระบวนการดังกล่าวนี้ มีธาตุอาหารที่สำคัญเพิ่มขึ้นและสามารถยับยั้งจุลินทรีย์ก่อโรคได้อีกด้วย

การนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ ไม่เพียงช่วยลดมลพิษทางอากาศ โดยเป็นทางเลือกที่มีศักยภาพในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซมีเทนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งนี้ยังช่วยลดต้นตอของฝุ่น PM2.5 ที่มาจากการเผาชีวมวลและการจัดการขยะอินทรีย์แบบเดิม แต่ยังสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนในด้านการจัดการขยะอินทรีย์และชีวมวลเหลือทิ้งจากการเกษตร ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายเมืองคาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งนาโนเทคและไบโอเทค สวทช. ยังคงเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน เพื่อสร้างความยั่งยืนและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับคนไทยต่อไป

ข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามที่ : ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_301037