ค้นหา

กรมเจรจาฯ หนุนเกษตรกรเบตงใช้ประโยชน์ FTA ส่งออกทุเรียน

ผู้จัดการออนไลน์
เข้าชม 316 ครั้ง

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศหนุนผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรในพื้นที่เบตง จ.ยะลา ใช้ประโยชน์จาก FTA เพิ่มโอกาสการส่งออกทุเรียนไปขายตลาดต่างประเทศ เผยล่าสุดมี 17 ประเทศ ที่ไม่เก็บภาษีนำเข้าจากไทยแล้ว เหลือแค่เกาหลีใต้ประเทศเดียวที่ยังเก็บ แต่จะลดภายใต้ RCEP เหลือ 0% ในปี 74

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า วันที่ 1 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมากรมฯ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนสวนทุเรียนศักดิ์ศรี อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เพื่อพบหารือกับผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน กรุยทางให้ผลผลิตทุเรียนภาคใต้ที่เริ่มทยอยออกสู่ตลาดในเดือน ก.ค.นี้ ได้ใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยทำกับคู่ค้า 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ชิลี และเปรู ที่ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าทุเรียนจากไทยแล้ว ใช้ประโยชน์จาก FTA ในการส่งออกทุเรียนไปยังตลาดที่ไทยมี FTA ได้ถึง 17 ประเทศ โดยเหลือเพียงเกาหลีใต้ที่ยังคงเก็บภาษีนำเข้าที่ร้อยละ 36 แต่จะทยอยลดเหลือร้อยละ 0 ในปี 2574 ภายใต้ความตกลง RCEP

ทั้งนี้ วิสาหกิจชุมชนสวนศักดิ์ศรีทุเรียนเบตงจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2564 มีสมาชิก 7 คน ปลูกทุเรียนบนพื้นที่ 25 ไร่ มากกว่า 17 ปี รวม 400 กว่าต้น ผลิตทุเรียน 3 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์มูซังคิง พันธุ์โอวฉีหรือหนามดำ และพันธุ์ยาวลิ้นจี่ มีเอกลักษณ์แตกต่างจากพื้นที่อื่น คือ มีสีเหลืองแห้ง กลิ่นหอมเฉพาะ และรสหวานจัด เป็นสวนเกษตรอินทรีย์ผลิตทุเรียนปลอดสารพิษและได้รับมาตรฐานรับรอง GAP ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพและราคาของทุเรียนให้เพิ่มสูงขึ้น โดยทุเรียนสดเน้นการทำตลาดออนไลน์ และบางส่วนจำหน่ายใน Tops Supermarket และจำหน่ายทุเรียนแช่แข็งให้แก่นักท่องเที่ยว รวมทั้งจำหน่ายต้นกล้าทุเรียน ราคาต้นละ 100 บาท ส่งจำหน่ายทั่วประเทศได้ปีละ 60,000-80,000 ต้น ซึ่งล่าสุดมีแผนเตรียมขยายการผลิตเพื่อการส่งออกในอนาคต

นางอรมนกล่าวว่า กรมฯ ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพทางการค้าของผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน เกษตรกร ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยตั้งแต่ปี 2561 ได้ดำเนินโครงการ “สร้างเครือข่ายเชื่อมโยง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่ตลาดการค้าเสรีอาเซียน” มาอย่างต่อเนื่องทุกปี ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา ซึ่งเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สภาเกษตรกรแห่งชาติ และสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด ในรูปแบบของการลงพื้นที่ ควบคู่กับการจัดสัมมนา เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จาก FTA ให้แก่เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ ซึ่งพบว่ามีสินค้าที่มีศักยภาพและความพร้อมส่งออก โดยเฉพาะผลไม้ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ส้ม ลองกอง และกล้วยหิน

ปัจจุบันไทยส่งออกทุเรียนสดและทุเรียนแช่แข็งเป็นอันดับที่ 1 ของโลก ในปี 2564 มูลค่ารวม 3,788 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นการส่งออกทุเรียนสด มูลค่า 3,490 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 68% และส่งออกทุเรียนแช่เย็น แช่แข็ง มูลค่า 299 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 42% ตลาดส่งออกหลัก คือ จีน มูลค่าส่งออกสูงถึง 3,400 ล้านเหรียญสหรัฐ (90% ของการส่งออกทุเรียนของไทย) รองลงมาคือฮ่องกง มูลค่า 197 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (5% ของการส่งออกทุเรียนไทย) และเวียดนาม 119 ล้านเหรียญสหรัฐ (3% ของการส่งออกทุเรียนไทย)

สำหรับในช่วง 4 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-เม.ย.) ไทยส่งออกทุเรียนไปตลาดโลก มูลค่า 721 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นทุเรียนสด มูลค่า 676 ล้านเหรียญสหรัฐ (96% ของการส่งออกทุเรียนทั้งหมดของไทย) และส่งออกทุเรียนแช่เย็นแช่แข็ง มูลค่า 45 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ จีน ฮ่องกง และจีนไทเป โดยส่งออกไปประเทศคู่ค้า FTA มูลค่ารวม 712 ล้านเหรียญสหรัฐ (สัดส่วน 99% ของการส่งออกทั้งหมด)

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://mgronline.com/business/detail/9650000063209