นางมาลิณี พานิชกรณ์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรสทิงพระ จำกัด จ.สงขลา เผยว่า โครงการแก้หนี้แก้จน เป็นหนึ่งในโครงการหลักของกรมส่งเสริมสหกรณ์ มุ่งหวังปลดหนี้ให้กับสมาชิกที่มากู้เงิน โดยสหกรณ์ส่งเสริมการปลูกพืชระยะสั้นแก่สมาชิก เพื่อจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้นและตลอดทั้งปี เนื่องจากการทำนาและตาลโตนดเป็นอาชีพหลักของสมาชิกที่นี่ทำได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น ขณะที่ปลูกพืชผักระยะสั้น เช่น พริก มะเขือ แตงกวา ฯลฯ ปลูกได้ปีละ 2-3 รอบ โดยอาศัยช่วงหลังนาในการเพาะปลูกทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็แนะนำให้ปลูกพืชอื่น เช่น มะพร้าว ปาล์ม แซมร่วมกับพืชอื่น เพราะถ้าปลูกมะพร้าวหรือปาล์มอย่างเดียวต้องรอถึง 4-5 ปี กว่าจะได้ผลผลิต
“สหกรณ์จึงจะเข้าไปส่งเสริมแนะนำดูแลในทุกกระบวนการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เพราะบางครั้งสมาชิกบางรายไม่มีประสบการณ์ เราต้องไปแนะนำจากที่เขาเคยใช้ความรู้แบบเดิมๆตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แล้ว ต้องใช้นวัตกรรมเข้ามาเปลี่ยนแปลงในเรื่องการทำเกษตร สหกรณ์จะดูแลทั้งหมด คนไหนทุนไม่พร้อม แต่อยากจะทำเพื่อมีรายได้แก้ปัญหาหนี้ตัวเอง สหกรณ์สนับสนุนในเรื่องของปุ๋ย ต้นพันธุ์ รวมถึงการตรวจเยี่ยม แนะนำส่งเสริมอาชีพอื่น หากคนไหนทุนน้อยหรือไม่มีทุน แต่มีความตั้งใจอยากจะทำ ทางสหกรณ์ก็จะนำกำไรบางส่วนให้สมาชิกกู้ปลอดดอก เพื่อนำไปเป็นทุนตั้งต้นในการประกอบอาชีพ”
ผู้จัดการ สกก.สทิงพระ จำกัด เผยอีกว่า สมาชิกส่วนใหญ่จะกู้เฉลี่ยรายละ 1-3 หมื่น สหกรณ์มีการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เงินที่กู้ไปนั้นใช้ตามวัตถุประสงค์ มีการร่วมกันวางแผนการปลูกว่าช่วงไหนจะปลูกอะไร เพื่อไม่ให้ผลผลิตออกมาล้นตลาด ตามสโลแกน “สมาชิกผลผลิต สหกรณ์ตลาด” ผลผลิตตัวไหนกำลังออก สหกรณ์ก็จะแจ้งให้พ่อค้ามารับซื้อถึงแปลงทันที พร้อมกับดูแลกลไกเรื่องราคา เพื่อไม่ให้พ่อค้ามากดราคา โดยต้องจ่ายเงินผ่านสหกรณ์ พร้อมกับประสานขายให้กับโรงพยาบาลนำไปปรุงอาหารให้กับผู้ป่วย
ปัจจุบันสหกรณ์การเกษตร สทิงพระ จำกัด มีสมาชิกทั้งหมด 2,184 ราย เมื่อปี 2552 สหกรณ์มีหนี้ค้างจากสมาชิก แบ่งเป็นหนี้ ต้นกว่า 50 ล้านบาท และดอกเบี้ย คงค้างกว่า 10 ล้านบาท แต่วันนี้ปิดบัญชี ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา สหกรณ์มีหนี้ทั้งหมด 126 ล้านบาท ขณะที่สมาชิกมีดอกเบี้ยคงค้างแค่ 8 แสนกว่าบาทเท่านั้น มีสมาชิกผิดสัญญาแค่จำนวน 3.5 ล้านบาท นอกนั้นเป็นหนี้ปกติทั้งหมด
และด้วยผลเป็นที่ประจักษ์ ให้สมาชิกมีการขยายพื้นที่ปลูกพืชอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผลผลิตก็เป็นที่ต้องการของตลาด กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงยกให้สหกรณ์แห่งนี้เป็นสหกรณ์ต้นแบบแก้หนี้แก้จน พร้อมกับสนับสนุนอาคารรวบรวมและแปรรูปผลผลิตจำนวน 1 หลังมูลค่า 4 ล้านบาท และทางสหกรณ์สมทบอีก 10% รวมเป็น 4.4 ล้านบาท เพื่อที่จะขยายโอกาสให้กับสหกรณ์การเกษตรสทิงพระ พร้อมกับขยายผลสู่สหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรอื่นต่อไป.