ค้นหา

เกษตรไทยหลังสู้ฟ้า รัสเซียยูเครนยืดเยื้อ

ไทยรัฐออนไลน์
เข้าชม 299 ครั้ง

ดัชนีราคา “ไข่” ตามประสาชาวบ้านทั่วไปสะท้อนได้ตรงหัวใจถึงภาวะเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพง เพราะถือเป็นอาหารมื้อประหยัดติดก้นครัวแทบจะทุกหลังคาเรือน ไม่แพ้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

ถ้าไข่ยิ่งแพง…ยิ่งขึ้น บรรดาอาหารการกินต่างๆก็มักจะขึ้นตามเป็นเหมือนเงาตามตัว ยิ่งบวกกับผลกระทบลากยาวยืดเยื้อจากสงครามความขัดแย้ง “รัสเซีย-ยูเครน” แล้วก็ยิ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

ไข่” เป็นหนึ่งในสินค้าเกษตร ในแง่การผลิตช่วงเวลาที่ผ่านมา “ไข่ไก่”…ถือได้ว่าเกษตรกรมีการจัดการฟาร์มที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผลผลิตไข่ไก่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) บอกว่า ไข่ไก่อยู่ในสาขาปศุสัตว์ ซึ่งในภาพรวมทั้งหมดแล้วมีอัตราหดตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.2 โดย “ไก่เนื้อ” มีการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น

ในภาพใหญ่เนื่องจากเกษตรกรยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ซึ่งระบาดตั้งแต่ปีที่ผ่านมาประกอบกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้เกษตรกรลดปริมาณการเลี้ยงสุกรลง

อย่างไรก็ตาม ความต้องการบริโภคสินค้าปศุสัตว์ที่มีอย่างต่อเนื่อง และการจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐานอย่างเข้มงวด ทำให้ผลผลิตหลายชนิดเพิ่มขึ้น

นับรวมไปถึง “น้ำนมดิบ” เนื่องจากเกษตรกรดูแลเอาใจใส่สุขภาพของแม่โคเป็นอย่างดีและแม่โคมีอัตราการให้น้ำนมเพิ่มขึ้น รวมถึงมีการใช้เทคโนโลยีช่วยในการจัดการฟาร์มและควบคุมโรคระบาด

อีกสาขาที่หดตัวคือ “สาขาประมง” หดตัวร้อยละ 2.7

ดร.ทัศนีย์ สะท้อนว่า สัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือลดลง เนื่องจากมีมรสุมเข้ามาอย่างต่อเนื่องชาวประมงจึงจับสัตว์น้ำได้ลดลง ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ชาวประมงลดการนำเรือออกไปจับสัตว์น้ำ ขณะที่กุ้งทะเลเพาะเลี้ยงมีปริมาณผลผลิตลดลง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาพบการระบาดของโรคขี้ขาว ไวรัสตัวแดงดวงขาว ไวรัสหัวเหลืองในกุ้งขาวแวนนาไม เกษตรกรจึงลดเวลาในการเลี้ยง ทำให้ได้กุ้งที่มีขนาดเล็กลง

อย่างไรก็ตาม “ปลานิล” และ “ปลาดุก” มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเลี้ยงจากปริมาณน้ำฝนที่มีมากกว่าปีที่ผ่านมา และเกษตรกรมีการอนุบาลลูกปลาให้ได้ขนาดและแข็งแรงก่อนปล่อยลงบ่อเลี้ยง ทำให้มีอัตราการรอดสูงขึ้น

ตอกย้ำภาพรวมผลการวิเคราะห์ ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 2 ของปี 2565 (เดือนเมษายน-มิถุนายน) เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 พบว่าขยายตัวร้อยละ 5.7

ซึ่งเป็นการเติบโตได้ดีต่อเนื่องจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวร้อยละ 4.1 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยมากขึ้น ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติมีเพียงพอ ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้ “เกษตรกร” ขยายการเพาะปลูกมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสริมจากการดำเนินนโยบายและมาตรการด้านการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต การควบคุมคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรให้ตรงกับความต้องการของตลาด การขยายช่องทางการตลาด

รวมถึงการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยชีวภาพและปุ๋ยอินทรีย์ การใช้ปุ๋ยเคมีอย่างถูกวิธี เพื่อลดภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทำให้เกษตรกรสามารถทำการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง โดยสาขาพืชมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก

เนื่องจากปริมาณน้ำที่มีเพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตของพืช และสภาพอากาศที่เหมาะสมต่อการออกดอกติดผล ทำให้ผลผลิตพืชสำคัญ ทั้ง…ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะเพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะ “ข้าวนาปรัง” และ “ผลไม้ภาคตะวันออก” ซึ่งเป็นผลผลิตหลักในไตรมาสนี้ ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) บอกว่า เพิ่มขึ้นอย่างมาก

สาขาพืช” ในไตรมาส 2 ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 9.3 พืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่…“ข้าวนาปรัง” เนื่องจากปริมาณน้ำที่มีเพียงพอ เกษตรกรจึงขยายการเพาะปลูกในพื้นที่นาปรังเดิมที่เคยปล่อยว่าง…ส่วน “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยและปริมาณน้ำฝนเหมาะสม…

ประกอบกับราคาที่อยู่ในเกณฑ์ดีจากความต้องการของตลาดที่มีอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์…เกษตรกรก็ยิ่งเพิ่มขยายการเพาะปลูก

มาถึง “อ้อยโรงงาน” เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ดีเช่นกัน โรงงานน้ำตาลมีการประกันราคารับซื้อผลผลิตอ้อยสดคุณภาพดี บวกกับภาครัฐมีมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ส่งเสริมให้เกษตรกรตัดอ้อยสด และมีการรับซื้อใบอ้อยเพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้า

ทำให้เกษตรกรเอาใจใส่ดูแลผลผลิตมีคุณภาพ ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น

ถัดมา “ลำไย”…แม้ว่าช่วงนี้จะมีข่าวราคาตกต่ำ ไม่คุ้มค่าเก็บขาย แต่จากการสำรวจก็มีเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้นจากต้นลำไยที่ปลูกในปี 2562 ที่เริ่มให้ผลผลิตในช่วงปี 2565 ประกอบกับสภาพอากาศเอื้ออำนวย…มีปริมาณน้ำเพียงพอในช่วงออกดอกและช่วงติดผล จึงเป็นหนึ่งในพืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

ส่วน “ทุเรียน” ราชาผลไม้เนื่องจากราคาในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี รวมถึงการขยายพื้นที่ปลูกใหม่ปี 2560 ของเกษตรกรในจังหวัดจันทบุรี ตราด ระยอง ปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกยางพารา ลำไย มังคุด เงาะ ลองกอง และพื้นที่ว่างเปล่ามาปลูกทุเรียน ซึ่งเริ่มให้ผลผลิตในปี 2565 เป็นปีแรก…ผลผลิตก็เพิ่มขึ้นออกมาสู่ตลาดเช่นกัน

ด้านราชินีผลไม้ “มังคุด” เนื่องจากในช่วงเดือนธันวาคม 2564 ถึงเดือนมกราคม 2565 มีอากาศหนาวเย็นเอื้ออำนวยต่อการออกดอกและติดผล ประกอบกับในปีที่ผ่านมาต้นมังคุดมีการพักสะสมอาหาร ทำให้ในปีนี้มีการออกดอกติดผลได้มากและมีผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น

สุดท้าย “เงาะ” เนื่องจากสภาพอากาศและฝนที่ตกต่อเนื่อง ทำให้ต้นเงาะได้รับน้ำสมบูรณ์ มีการออกดอกและติดผลได้ดี ทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น เป็นอีกหนึ่งผลไม้ที่สร้างรายได้ดีให้กับเกษตรกรชาวสวน

เหล่านี้คือเหตุปัจจัยตามจังหวะเวลา…สะท้อนการผลิตภาคการเกษตรที่มีราคาผลผลิตผันผวนตามปัจจัยต่างๆ ทั้งปริมาณสินค้าในตลาด ความต้องการ และปัจจัยอื่นๆทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้

กระนั้นแล้วคาดการณ์ว่า…แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.4-3.4 เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยทุกสาขาการผลิตมีแนวโน้มขยายตัว

หลังการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจการท่องเที่ยว การขนส่ง มีความคล่องตัวมากขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ภาวะฝนทิ้งช่วงในบางพื้นที่ และพายุฝนรุนแรงมากขึ้นในช่วงฤดูฝน

ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาฯ สศก. ทิ้งท้ายว่า ความท้าทายสำคัญคือ “ต้นทุนการผลิต” ที่สูงขึ้นจากราคาปัจจัยการผลิตที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งราคาน้ำมัน ปุ๋ยเคมี สารกำจัดศัตรูพืช และอาหารสัตว์

รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ ทำให้หลายประเทศประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว

“เกษตรกรไทย” จะต้องผ่านไปให้ได้ ทำการเกษตรยุคใหม่ต้องใช้ข้อมูลให้เป็น.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/news/local/2466327