ค้นหา

ถ้าไม่ผลักดันผลผลิตกุ้งไทยจริงจัง…ก็ยังไม่ควรนำเข้ากุ้ง

เข้าชม 323 ครั้ง

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เคยกล่าวไว้เมื่อเดือนมีนาคม 2565 หลังเข้ารับตำแหน่งว่า กุ้งทะเลเป็นสินค้าสัตว์น้ำที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมนี้สามารถนำรายได้เข้าสู่ประเทศปีละกว่าแสนล้านบาท โดยเฉพาะในปี 2553 มีปริมาณและมูลค่าการส่งออกมากที่สุด คือ 437,270 ตัน มูลค่าสูงถึง 101,116 ล้านบาท แต่ในปี 2564 มีปริมาณการส่งออกลดลงเหลือเพียง 201,592 ตัน คิดเป็นมูลค่า 55,893 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2553 ปริมาณลดลง 53.90% และมูลค่าลดลง 44.72% เนื่องจากในช่วงปลายปี 2554 ประเทศไทยประสบปัญหาการระบาดของโรคตายด่วน (AHPND/EMS) สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวงต่อวงการอุตสาหกรรมกุ้งของไทยและผลผลิตภายในประเทศยังไม่สามารถเพิ่มขึ้นมาใกล้เคียงกับปี 2553  

จากสภาวการณ์ดังกล่าว นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมประมง เร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลให้มีผลผลิต 400,000 ตันภายในปี 2566 เพื่อให้ประเทศไทยกลับมาเป็นผู้นำการผลิตในตลาดโลกได้อีกครั้ง 

จากเหตุการณ์ครั้งนั้นจนถึงวันนี้ กรมประมงก็ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการนำพาเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งของไทยให้ก้าวไปสู่เป้าหมายผลผลิต 4 แสนตัน ทั้งๆที่ เกษตรกรไทยได้ร่วมกันระดมสมองเสนอแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งไทยอย่างยั่งยืนไปแล้ว ได้แก่  1) การกำหนดเป้าหมายการผลิตกุ้งในประเทศที่ชัดเจน 2) ต้องแก้ไขปัญหาโรคระบาดให้เบ็ดเสร็จ  3) ต้องมีรูปแบบแนวทางการเลี้ยงที่เหมาะสมกับเกษตรกรทุกกลุ่ม ทุกขนาด 4) ส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงสินเชื่อจากแหล่งเงินทุน โดยสนับสนุนดอกเบี้ยพิเศษเพื่อเสริมสภาพคล่อง ปรับโครงสร้างฟาร์ม และโมเดลการเลี้ยงที่ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่ตลาดโลกต้องการ 5)สร้างช่องทางการขายและความได้เปรียบในการแข่งขัน รวมถึงการเจรจา FTA  6) สร้างระบบมาตรฐานการผลิตตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรม และ 7) นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 

แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฎคือ กรมประมงทำเพียงประกาศเป้าหมายเพิ่มผลผลิตกุ้งไทยให้ได้ 4 แสนตันในปี 2566 โดยไม่มีทอนเป้าหมายเป็นรายเดือน หรือรายไตรมาส ไม่มีการวางงบประมาณเพื่อศึกษาวิจัยแนวทางป้องกันโรค EMS ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่สุดของการเลี้บงกุ้งในปัจจุบัน ไม่มีแนวทางหรือมาตรการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมใดๆ ออกมาสนับสนุนอย่างชัดเจนเลย 

การที่กรมประมงประกาศนำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์และอินเดียนับหมื่นตัน ในขณะที่ละเลยการส่งเสริมเกษตรกรไทยอย่างจริงจัง จึงไม่เป็นธรรมกับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งของไทยด้วยประการทั้งปวง เสมือนหนึ่งมองข้ามความสามารถที่เกษตรกรไทยจะทำได้ และฆ่าตัดตอนคนเลี้ยงกุ้งง่ายๆ ด้วยการเปิดนำเข้ากุ้งจากประเทศคู่แข่งเสียเลย  ทั้งๆที่ “กุ้งไทยไม่ได้ขาดแคลน”ถึงขนาดจำเป็นต้องอาศัยกุ้งนอก เพียงแต่ช่วงนี้มีราคาสูงขึ้นจากปริมาณที่น้อยกว่าความต้องการรวมถึงการเปิดประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา จึงทำให้ราคากุ้งสูงขึ้นซึ่งเป็นไปตามปกติของกลไกตลาดเท่านั้น อาจกล่าวได้ว่า การตัดสินใจของกรมประมงในครั้งนี้ตั้งอยู่บนความต้องการของ “ห้องเย็น” ที่ประสงค์จะใช้วัตถุดิบราคาถูกลง โดยมองข้ามผลกระทบที่จะตามมาถึงเกษตรกรและอุตสาหกรรมกุ้งของไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 

วิธีการนำเข้ายังเป็นการนำเข้าภายใต้หลักการ “คลังสินค้าทัณฑ์บน” หรือนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตและส่งออก 100% ซึ่งดูเผินๆ อาจเหมือนการป้องกันไม่ให้กุ้งเหล่านั้นเล็ดรอดเข้ามาปะปนกับกุ้งในประเทศ  แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ทำลายภาพลักษณ์คุณภาพกุ้งไทยให้เสียหาย  เนื่องจากที่ผ่านมา กุ้งสดและกุ้งแปรรูป ของไทยใช้วัตถุดิบ Local content เกือบ 100%  มีความปลอดภัยสูง ปราศจากสารตกค้าง และตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงต้นทาง ที่ประเทศคู่ค้าเชื่อมั่นมาโดยตลอด การที่ประเทศไทยประกาศว่ามีการใช้กุ้งต่างชาติเป็นวัตถุดิบแทนเช่นนี้ จึงขัดกับภาพลักษณ์การผลิตสินค้ากุ้งของไทยที่โดดเด่นในการใช้วัตถุดิบภายในประเทศทั้งหมดโดยสิ้นเชิง 

ยังไม่นับรวมประเด็นเรื่องของการจัดเตรียมสินเชื่อเพื่อเกษตรกร ที่เคยปรากฏข่าวว่า  คณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คบท.) อนุมัติโครงการลดต้นทุนการผลิตกุ้งทะเลฯ โดย ธ.ก.ส. พร้อมปล่อยสินเชื่อวงเงินกว่า 3 พันล้านบาท โดยเปิดรับสมัคร 15 กรกฎาคม-30 ตุลาคม 2564 นั้น  ฝากผู้รู้ช่วยตรวจสอบว่ามีเกษตรกรกี่รายที่ได้รับการอนุมัติให้กู้ เพราะธนาคารก็มีขั้นตอนและเงื่อนไขของเขา เมื่อรัฐไม่มีแนวทางที่ชัดเจนใดๆ เพื่อสนับสนุนการเลี้ยงกุ้ง ก็ไม่มีธนาคารใดกล้าปล่อยกู้เช่นกัน

ข้อมูลทั้งหมดนี้คงพอสะท้อนให้เห็นว่า กรมประมงมิได้มีความพยายามอย่างถึงที่สุด ที่จะผลักดันส่งเสริมเกษตรกรไทย  ดังเช่นที่ได้ยินเสียงจากเกษตรกรที่ตะโกนดังๆ ออกมาว่า “ถ้ากรมประมงส่งเสริมแล้ว ผลักดันแล้วอย่างเต็มที่ แต่เกษตรกรไทยไร้ความสามารถที่จะเลี้ยงกุ้งให้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ เมื่อนั้นกรมค่อยนำเข้ากุ้งต่างชาติ ก็เชื่อว่าจะไม่มีเกษตรกรไทยหน้าไหนกล้าคัดค้านเลย”

โดย : อรพิม เปี่ยมชลธาร 

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://siamrath.co.th/n/371315