ค้นหา

ศดปช.ท่าช้างสู้ปุ๋ยแพง ผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีใช้เอง

ไทยรัฐออนไลน์
เข้าชม 337 ครั้ง

กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ย (One stop Service) ที่เน้นให้มีการถ่ายทอดความรู้เรื่องการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินให้กับเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตในเรื่องของปุ๋ย เพื่อให้เกิดการใช้ปุ๋ยได้เหมาะสมกับสภาพของดิน มีการใช้ปุ๋ยอย่างเหมาะสม ตามหลักการ 4R ประกอบด้วย การใช้ปุ๋ยถูกชนิด ถูกสูตร ถูกอัตรา ถูกเวลา และถูกตำแหน่งหรือถูกวิธี เปรียบเสมือนกับการตัดเสื้อตัดให้พอดี โดยในการดำเนินการจะผ่านศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน หรือ ศดปช. ขึ้นในทุกอำเภอ ซึ่งจากผลการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งผลดีต่อเกษตรกรอย่างเห็นได้ชัด ข้อมูลการสำรวจเราพบว่า สามารถทำให้เกษตรกรลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีจากเดิมลงได้ถึงร้อยละ 50 และช่วยลดต้นทุนในการปลูกพืชทุกชนิดได้ถึงร้อยละ 36”

นางอัญชลี สุวจิตตานนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยถึงความสำเร็จของ ศดปช.ที่สามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องปุ๋ยเคมีมีราคาแพงในขณะนี้ได้เป็นอย่างดี พร้อมยกตัวอย่างผลงานของ ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนท่าช้าง ม.10 ต.ท่าช้าง อ.บางกล่ำ จ.สงขลา ที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้ให้การสนับสนุนเครื่องผสมแม่ปุ๋ย จนสามารถพัฒนาตัวเองไปถึงขั้นผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีจำหน่ายให้กับเกษตรกรได้ ช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีในสวนยางพาราได้ถึงไร่ละ 400 บาท แถมยังช่วยให้เกษตรกรที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์เคมีของ ศดปช.ชุมชนท่าช้าง มีผลผลิตน้ำยางที่มีคุณภาพขายได้ราคามากกว่าใช้ปุ๋ยเคมี

“ศูนย์จัดการดินปุ๋ยของเรา ก่อตั้งมาเมื่อปี 2557 ตามนโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตรจัดตั้ง ศดปช.อำเภอละ 1 ศูนย์ ปัจจุบันเรามีสมาชิก 34 ราย เป็นเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในพื้นที่รวม 241 ไร่ การดำเนินงานเริ่มแรกของเรา เป็นแค่เพียงนำแม่ปุ๋ยสูตร 46-0-0, 18-46-0 และ 0-0-60 มาผสมกันให้ตรงกับสูตรที่ใช้กัน เพื่อสมาชิกจะได้ใช้ปุ๋ยในราคาที่ถูกกว่าซื้อปุ๋ยสูตรผสมสำเร็จที่ขายกันตามท้องตลาดทั่วไป”

นายวิจารณ์ ขวัญช่วย ประธาน ศดปช.ตำบลท่าช้าง เล่าถึงที่มา…หลังจากนั้นมีการพัฒนาตัวเองขึ้นมาอีกระดับ มาเป็นการผสมปุ๋ยสั่งตัด ด้วยการให้เกษตรกรนำตัวอย่างดินในสวนของตัวเอง มาทำการวิเคราะห์หาธาตุอาหารว่า สวนยางแปลงนั้นมีธาตุอาหาร N-P-K แต่ละตัวมีปริมาณมากน้อยแค่ไหน ขาดธาตุอาหารตัวไหนเท่าไร จากนั้นจะทำการผสมปุ๋ยสั่งตัดให้ตรงกับความต้องการของต้นยางพารา นอกจากนั้น ศดปช.ท่าช้าง ยังมีการผลิตและจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพให้กับสมาชิกและประชาชนทั่วไปอีกด้วย

“มาระยะหลังปุ๋ยเคมีแพงมาก ทางศูนย์ฯเลยหันมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีจำหน่ายให้กับสมาชิกด้วย และเมื่อเกษตรกรนำไปใช้ปรากฏว่าได้ผลตอบรับที่ดี นอกจากจะทำให้ชาวสวนยางที่เป็นสมาชิกมีต้นทุนค่าปุ๋ยที่ต่ำลง จากที่ใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดียวมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ไร่ละ 1,500 บาท แต่พอใช้ปุ๋ยอินทรีย์เคมีของเรามีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ไร่ละ 1,100 บาท และยังทำให้เกษตรกรได้น้ำยางที่มีคุณภาพมากขึ้น ถ้าใช้ปุ๋ยอินทรีย์เคมีสูตรของเราติดต่อกัน 3–4 ปี น้ำยางจะมีค่า DRC หรือค่าเปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้งเพิ่มขึ้น 3–5% จากเดิมที่ได้น้ำยางมีค่า DRC อยู่ที่ 30% จะเพิ่มขึ้นมาเป็น 33–35% ช่วยพี่น้องชาวสวนยางมีรายได้เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะปุ๋ยอินทรีย์เคมีของเราไม่ได้มีแค่ธาตุอาหารหลัก N–P–K เท่านั้น ยังมีธาตุอาหารรองจากปุ๋ยอินทรีย์มาเติมเต็มให้กับต้นไม้ แถมปุ๋ยอินทรีย์ยังมีคุณสมบัติช่วยยึดเกาะปุ๋ยเคมีให้อยู่กับที่ ไม่ให้ไหลหายไปกับน้ำเหมือนใส่ปุ๋ยเคมีอย่างเดียว”.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/news/local/south/2472596