การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 24 – 26 ส.ค. ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านบริเวณภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร สำหรับในช่วงวันที่ 27 – 30 ส.ค. ร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณประเทศไทยตอนบน มีกำลังอ่อนลง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทย มีฝนลดลง อนึ่ง พายุโซนร้อน “หมาอ๊อน” (MA-ON) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนอยู่ห่างประมาณ 430 กิโลเมตร ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ของฮ่องกง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศจีนตอนใต้ในวันพรุ่งนี้ (25 ส.ค. 65) และจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำตามลำดับ โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย
คำเตือน ในช่วงวันที่ 24 – 26 ส.ค. บริเวณประเทศไทยตอนบนและภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะมีฝนตกหนักซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่ม เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์
ในช่วงวันที่ 25 – 26 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 27 – 30 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 21-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 65-85 % ความยาวนานแสงแดด 2-5 ชม.
- ระยะนี้จะมีฝนกับฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และ น้ำล้นตลิ่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ส่วนชาวนาควรระวังและป้องกันการระบาดของหอยเชอรี่ที่ลอยมากับน้ำ โดยใช้ตาข่ายดักบริเวณทางน้ำไหลเข้านาแล้วจับหอยดังกล่าวไปทำลายเพื่อป้องกันหอยเข้าในแปลงนา แพร่พันธุ์ และกัดกินต้นข้าวในระยะต่อไป สำหรับผู้ที่ปลูกไม้ผลควรดูแลสวนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นสะสมภายในสวน ป้องกันและลดความรุนแรงของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์
ในช่วงวันที่ 24 – 26 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 27 – 30 ส.ค.มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 65-85 % ความยาวนานแสงแดด 2-5 ชม.
- ระยะนี้มีฝนกับฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับชาวนาควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคไหม้ในข้าวนาปี ซึ่งเกิดขึ้นได้กับข้าวทุกระยะการเจริญเติบโต ทำให้ต้นข้าวเสียหาย ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะสัตว์เท้ากีบ เช่น โคและกระบือ เป็นต้น อาจป่วยเป็นโรคปากและเท้าเปื่อยได้
ภาคกลาง
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์
ในช่วงวันที่ 25 – 26 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 27 – 30 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 21-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 60-80 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.
- ระยะนี้จะมีฝนกับฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับในช่วงฤดูฝนแมลงและศัตรูสัตว์ต่างๆ เช่น ยุง เหลือบ ริ้น ไร เป็นต้น จะเจริญเติบโตได้ดี เกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูสัตว์ดังกล่าวมารบกวนสัตว์เลี้ยงทำให้สัตว์เลี้ยงชะงักการเจริญเติบโต และศัตรูสัตว์บางชนิดอาจเป็นพาหะนำโรคมาสู่สัตว์เลี้ยงได้ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรถมขอบบ่อให้สูงขึ้น และจัดเตรียมวัสดุสำหรับกั้นขอบบ่อและอุปกรณ์สำหรับสูบน้ำเอาไว้ให้พร้อมใช้งาน เพื่อไว้ใช้ในช่วงที่มีฝนตกหนักจนเกิดสภาวะน้ำท่วมพื้นที่เลี้ยงสัตว์น้ำ
ภาคตะวันออก
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์
ในช่วงวันที่ 24 – 27 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 28 – 30 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-90 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.
- ระยะนี้จะมีฝนกับฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และ น้ำล้นตลิ่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก เพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง เมื่อมีฝนตกหนัก ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราใน พืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น ทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ โดยหมั่นสำรวจแปลงปลูกพืช หากพบต้นที่เป็นโรคควรรีบจัดการก่อนระบาดไปสู่ต้นอื่นๆ
ภาคใต้
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์
ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 24 – 26 ส.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 27 – 30 ส.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 60-80 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.
ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 24 – 27 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดกระบี่ลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 28 – 30 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-90 % ความยาวนานแสงแดด 2-4 ชม.
- ระยะนี้เป็นช่วงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ภาคใต้ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นด้านรับลมมรสุมดังกล่าวจะมีปริมาณและการกระจายของฝนมากกว่าทางฝั่งตะวันออก กับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และควรอพยพสัตว์เลี้ยงไปไว้ในที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง หากเกิดสภาวะน้ำท่วมพื้นที่เลี้ยงสัตว์ สำหรับพื้นที่ซึ่งฝนตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่น ใบอ่อนและยอดอ่อน เป็นต้น ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา
ระหว่างวันที่ 17 – 23 สิงหาคม 2565 มีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดแพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เลย สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร ตราด ระนอง พังงา และตรัง ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู นครพนม ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ นครสวรรค์ ลพบุรี กรุงเทพมหานคร สมุทรสงคราม จันทบุรี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ภูเก็ต กระบี่ และสตูล
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา