ค้นหา

วช.หนุนนวัตกรรมกากน้ำตาล สู่อุตสาหกรรมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

แนวหน้าออนไลน์
เข้าชม 470 ครั้ง

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า ได้พัฒนาต่อยอดงานวิจัยในมิติต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์โดยฝีมือคนไทย นำวัตถุดิบจากโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูป ต่อยอดเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น นวัตกรรมการใช้ประโยชน์จากกากน้ำตาลที่เป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมน้ำตาลของประเทศไทยเพื่อการผลิตบิวทิลแลคเตทและกรดแลคติกระดับโรงงานต้นแบบ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งมี รศ.ดร.อภิชาติ บุญทาวัน เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ได้รับการสนับสนุนจาก วช. เป็นงานวิจัยที่ได้พัฒนากระบวนการหมักกรดแลคติกจากกากน้ำตาลอ้อยในถังปฏิกรณ์ชีวภาพ 500 ลิตรและทำบริสุทธิ์ด้วยปฏิกิริยาเอสเทอริฟิเคชั่นควบคู่กับการกลั่นหรือที่เรียกว่าการกลั่นแบบมีปฏิกิริยาที่มีการใช้บิวทานอลและตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธุ์ชนิดแอมเบอร์ลิสต์-15 พบว่าสามารถเพิ่มค่าผลผลิตของบิวทิลแลคเตทได้มากกว่าร้อยละ 99 ส่วนการสังเคราะห์บิวทิลแลคเตทแบบต่อเนื่องด้วยระบบการกลั่นแบบมีปฏิกิริยาในระดับโรงงานต้นแบบนั้น สภาวะที่เหมาะสมคือสัดส่วนโดยโมลของกรดแลคติกต่อบิวทานอลที่ 1:3 ทำให้ได้บิวทิลแลคเตทตามเป้าหมาย

นอกจากนี้ ผลงานวิจัยยังสามารถคัดแยกเชื้อแบคทีเรียที่มีความสามารถในการสร้างกรดแลคติกขึ้นมาโดยให้ผลผลิตที่สูงจากการใช้วัตถุดิบกากน้ำตาล โดยพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูง พร้อมทั้งการแยกและการทำบริสุทธิ์ทำผลิตภัณฑ์ในระบบ แต่เนื่องจากกรดแลคติกที่ได้จากกระบวนการหมักจะมีสิ่งเจือปนหลายชนิด จากการศึกษาพบว่าเทคโนโลยีเมมเบรนและเทคนิคการกลั่นระยะทางสั้นสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ดี จึงมีการพัฒนาประสิทธิภาพการทำบริสุทธิ์กรดแลคติก เพื่อให้สามารถสร้างผลผลิตที่เป็นกรดแลคติกที่เป็นกรดอินทรีย์ที่มีประโยชน์ ทำให้สามารถที่จะพัฒนาสู่การผลิตนำร่องหรือ pilot plantscale ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ อุปกรณ์และเครื่องมือภายในประเทศ ที่มีการศึกษาวิจัยให้เกิดองค์ความรู้ที่พร้อมถ่ายทอดให้เกิดการใช้งานจริงในโรงงานอุตสาหกรรม

ขณะเดียวกัน ยังสามารถนำกรดแลคติกที่ผลิตได้นำไปทำปฏิกิริยาเอสเทอริฟิเคชั่น (Esterification) กับบิวทานอล ทำให้เกิดเป็นบิวทิลแลคเตท ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เป็นที่ต้องการของตลาดโลก อีกทั้งยังมีการพัฒนาปฏิกิริยาเอสเทอริฟิเคชั่นในการกลั่นด้วยตัวเร่งที่มีประสิทธิภาพ สามารถทำปฏิกิริยาที่ดีภายใต้สภาวะความดันบรรยากาศและอุณหภูมิไม่สูงมาก ได้ผลสูงเทียบเท่ากับตัวเร่งปฏิกิริยาที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ในปัจจุบันและสามารถขยายองค์ความรู้ไปสู่กระบวนการผลิตขนาดใหญ่ในอนาคต

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.naewna.com/local/676300