อาชีพเกษตรกรรมและประมงพื้นบ้าน ถือเป็นอาชีพใหม่ที่เลี้ยงปากเลี้ยงท้องชาวบ้านรอบอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (เขื่อนห้วยโสมง)ผลผลิตมากมาย เป็นผลพลอยได้ของระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ แต่ในวันนี้ผลผลิตที่ได้มาแล้วขายไป กำลังจะเพิ่มมูลค่าด้วยการสนับสนุนจาก กรมชลประทาน ในโครงการส่งเสริมและเพิ่มมูลค่าผลผลิตจากท้องถิ่นให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ RID GOODS ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานฤบดินทรจินดา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
จากปลาเขื่อนที่จับมาได้ กลายเป็นเมนูสุดเก๋ และจากพืชผลการเกษตรแสนธรรมดาจะกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใครก็อยากลิ้มลอง เพราะปีนี้ได้เชฟแถวหน้าของประเทศไทยอาจารย์ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ มาสร้างสรรค์เมนูและใส่ไอเดียในการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผลผลิตท้องถิ่นให้มีมูลค่า ดูดี รสชาติอร่อย และไม่ซ้ำใคร
นายมหิทธิ์ วงศ์ษา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวถึงโครงการส่งเสริมและเพิ่มมูลค่าผลผลิตจากท้องถิ่นให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ RID GOODS ว่าเหตุผลที่เลือกพื้นที่อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพราะที่นี่มีปลาชุกชุม จนชาวบ้านมีอาชีพประมงพื้นบ้านแต่ยังค้าขายแค่ปลาสดกับแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ง่ายๆ อย่างปลาร้า ถ้าหากได้รับการส่งเสริมเรื่องการแปรรูปอย่างจริงจัง น่าจะเป็นโอกาสที่ดีของชาวบ้าน
“นอกเหนือจากชาวบ้านขายปลาสดแล้วถ้าเขาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ดีๆ ได้ก็จะเพิ่มรายได้ให้พวกเขา ซึ่งการที่มีปลาเยอะเพราะแต่เดิมที่นี่เป็นลำน้ำไม่กว้างนัก พอหน้าแล้งน้ำก็แห้ง ฤดูฝนน้ำก็เยอะเกินไป ชาวบ้านจับปลาได้ยากลำบาก พอมีอ่างเก็บน้ำฯ ที่ระดับเก็บกักประมาณ 16,000 ไร่ ก็ถือว่าใหญ่หลังจากเก็บกักน้ำแล้วเราพบว่ามีพันธุ์ปลาเยอะมากในอ่าง เนื่องจากเรามีแผนป้องกันและแก้ไขผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม อย่างหนึ่งคือเราอพยพพันธุ์ปลา โดยให้กรมประมงไปจับปลาท้ายเขื่อนไปไว้ในอ่างเก็บน้ำ ทำอย่างนี้อยู่ 3-4 ปี พบว่าจำนวนพันธุ์ปลาและปริมาณปลาค่อนข้างเยอะ
หลังจากนั้นเราได้ปล่อยพันธุ์ปลาทุกปี นอกจากนั้นยังมีปล่อยพันธุ์กุ้งก้ามกรามด้วย ดังนั้นเรามีทรัพยากรสัตว์น้ำค่อนข้างเยอะ การที่เรามี โครงการ RID GOODS ขึ้นมาก็จะสร้างมูลค่าของทรัพยากรที่อยู่ในพื้นที่ได้มากขึ้น ทำให้เกษตรกรหรือชาวบ้านโดยรอบมีรายได้เพิ่มขึ้นจากที่เราพัฒนาผลิตภัณฑ์อะไรใหม่ๆ ขึ้นมา พอเขามีรายได้มากขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ก็จะดีขึ้น จริงๆ หลังจากมีอ่างเก็บน้ำฯ เราพบว่าชาวบ้านรอบๆ มีอาชีพมั่นคงมากขึ้น เรื่องแรกคือเรื่องประมง อย่างที่สองคือทำเกษตร เพราะมีการส่งน้ำไปก็ทำเกษตรมากขึ้น”
ด้าน นายวิเชียร เหลืองอ่อนผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานฤบดินทรจินดาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้ข้อมูลว่าอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ มีคุณประโยชน์หลักๆ 6 ประการ ได้แก่ เป็นแหล่งน้ำสำหรับพื้นที่ชลประทาน 111,300 ไร่, บรรเทาอุทกภัย, เพื่อการอุปโภค-บริโภค, การรักษาระบบนิเวศ, การสร้างความชุ่มชื้นให้ผืนป่าและป้องกันการบุกรุกป่า และเป็นแหล่งประมงน้ำจืด แต่เดิมการส่งเสริมอาชีพชาวบ้านนั้นทางกรมชลประทานได้ร่วมมือกับหน่วยงานรัฐต่างๆ ดำเนินการอยู่แล้ว แต่โครงการส่งเสริมและเพิ่มมูลค่าผลผลิตจากท้องถิ่นให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ RID GOODS ครั้งนี้จะเป็นการต่อยอดที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
“ตอนนี้ปลาในอ่างเก็บน้ำค่อนข้างเยอะ และชาวบ้านก็จับมาขาย มีกลุ่มที่แปรรูปปลาเหล่านี้ที่ทำเป็นปลาเค็ม ปลาร้า ปลาส้ม ฯลฯ สร้างมูลค่าของปลาสดในอ่างได้ โครงการนี้จะได้เป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ปลาคุณภาพจากอ่างฯ ออกไปได้อีก เมื่อปลาของอ่างเป็นที่นิยมก็จะเกิดร้านอาหาร เกิดแปรรูปมากขึ้น ชาวบ้านจะได้ประโยชน์ มีรายได้เพิ่มขึ้น ต่อไปอ่างเก็บน้ำฯจะกลายเป็นแหล่งชิมแหล่งช้อป ก็จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาซื้อและบริโภคอาหารตามร้านอาหารที่จะเกิดขึ้น”
แต่เดิมชาวบ้านในพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำฯ จะรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มสตรีฯ เพื่อรับการสนับสนุนส่งเสริมอาชีพต่างๆ พอหลังจากมีอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สุริยะอุทระภาศ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 บ้านวังอ้ายป่องบอกว่า ชาวบ้านได้รับการสนับสนุนในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ปลาน้ำจืด ทั้งวิทยากร งบประมาณจัดซื้อต่างๆ และการสนับสนุนเกษตรกรรมโดยเน้นที่การให้ความรู้
“พอมาถึงโครงการ RID GOODS ผมมองว่าเป็นการเสริมสร้างความรู้ให้ชาวบ้าน เพราะเรามีผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว มีวัตถุดิบอยู่แล้ว แต่เราไม่มีมุมมอง และยังไม่มีแนวคิดที่จะแปรรูปในลักษณะใหม่ ผมมองว่าการแปรรูปหรือทำแพ็กเกจต่างๆ มันเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่เราจะนำไปต่อยอด เอาไปสู้กับพื้นที่อื่นๆ ได้ ที่เราจะไปมีผลิตภัณฑ์แนวใหม่ขึ้นมาให้กับผู้บริโภค”
สำหรับการสร้างสรรค์ไอเดียใส่ในเมนูสุดพิเศษและการแปรรูปที่ไม่ซ้ำใครจากวัตถุดิบท้องถิ่นนี้ อาจารย์ยิ่งศักดิ์ รับหน้าที่ครีเอทจนได้เป็น 3 เมนูทั้งจากปลาสร้อยขาว ซึ่งมีมากในอ่างเก็บน้ำห้วยโสมง เป็นเมนูปลาสร้อยขาวดองซีอิ๊วในน้ำมันพืช และกะหรี่ปั๊บมัสมั่นปลาสร้อยขาว นอกจากนี้ ยังมีเมนูจากกล้วยน้ำว้า คือ เค้กกล้วยน้ำว้า
อาจารย์ยิ่งศักดิ์ เผยแนวคิดของเมนูทั้งสามว่า เกิดจากวัตถุดิบทั้งปลาสร้อยขาวและกล้วยน้ำว้ามีมากในพื้นที่ จึงต้องการให้เกิดเป็นเมนูแปลกใหม่ที่ทำได้ไม่ยากแต่ไม่เหมือนที่อื่น
เมนูกะหรี่ปั๊บมัสมั่นปลาสร้อยขาว
“ที่เลือกปลาสร้อยขาวมาเป็นวัตถุดิบเพราะเป็นปลาที่มีตามธรรมชาติ เป็นปลาที่บ่งบอกถึงความสมบูรณ์ของท้องถิ่น อะไรก็ตามที่เป็นธรรมชาติสร้างสรรค์มันคือบริสุทธิ์ Non GMO, No Servative, Chemical Freeมันครบ เพราะฉะนั้นเราเลยรู้สึกว่านี่คือออแกนิกส์ชาวบ้านที่นี่ก็จับกินได้ทั้งปี เลยคิดว่าควรจะเพิ่มมูลค่าจากที่เป็นสัตว์ธรรมชาติ อาจารย์ก็มาดู เอาไปตากแห้งก็เป็นปลาแห้ง เอาไปรมควันก็ไปเป็นปลากรอบ แต่ชาวบ้านก็ทำกันเยอะแยะ อาจารย์คิดว่ามันไม่ได้เพิ่มความแปลกใหม่ หรือความพร้อมที่จะเอาขึ้นห้าง หรือคนซื้อไปเป็นของฝาก หรือเป็นแนวทางพัฒนาไปต่างประเทศ”
นอกจากนี้ อาจารย์ยิ่งศักดิ์ยังเอาเนื้อปลาสร้อยขาวขูดละเอียดมาปรุงกับน้ำพริกแกงมัสมั่นแล้วใส่กล้วยดิบแทนมันฝรั่งเนื่องจากกล้วยน้ำว้ามีมากในพื้นที่ แล้วทำเป็นไส้กะหรี่ปั๊บ พัฒนาเป็นของดีของฝากของปราจีนบุรีได้ โดยไม่ซ้ำกับสระบุรี ซึ่งการต่อยอดครั้งนี้ อาจารย์ยิ่งศักดิ์ไม่มองแค่ตลาดในประเทศ แต่มองไปถึงการส่งออกเมืองนอกด้วย
“กล้วยเป็นอีกอย่างที่มีเยอะมาก และเป็นผลไม้ที่พอถึงเวลาราคาตกก็ตกต่ำมากแทบจะฟันทิ้ง อาจารย์เลยพยายามแปรรูปพอคิดถึงขนมสักอย่างก็ไม่อยากให้ต้องใช้อุปกรณ์เยอะ เพราะมันคือการลงทุน อาจารย์เลยเอากล้วยน้ำว้ามาทำเป็นเค้กกล้วยน้ำว้าแต่ไม่อบนะ ทำด้วยการนึ่ง แล้วเอากล้วยดิบมาฝานแต่งให้สวยงาม ขายเป็นของฝากเหมือนสาลี่สุพรรณ”
จากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำ ได้รับการดูแลและสนับสนุนส่งเสริมจนเกิดเป็นอาชีพใหม่ๆทั้งเกษตรกรรมและประมงพื้นบ้าน ทุกวันนี้อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้กลายเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนรอบอ่างให้อยู่ดีกินดีมีอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืน