ค้นหา

กวก.นครสวรรค์ 1 อ้อยโรงงานพันธุ์ใหม่

ไทยรัฐออนไลน์
เข้าชม 358 ครั้ง

อ้อยเป็นพืชอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจุบันอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายนับเป็นสินค้าภาคเกษตรที่มีมูลค่าโดยรวมกว่า 2 แสนล้านบาท ผลผลิตน้ำตาลมากกว่า 2 ใน 3 ส่งออกทำรายได้ให้กับประเทศปีละหลายล้านบาท ที่สำคัญอ้อยเป็นพืชที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนนอกจากการแปรรูปเป็นน้ำตาลทรายแล้วยังสามารถใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องหลายชนิด รวมทั้งนำไปต่อยอดสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง

“การยกระดับผลผลิตและปริมาณอ้อยให้เพียงพอต่อความ ต้องการของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ปัจจัยที่มีความสำคัญที่สุดคือ พันธุ์อ้อย แต่การปรับปรุงพันธุ์อ้อยต้องใช้ระยะเวลานาน 10-12 ปีถึงจะได้พันธุ์ดี และพันธุ์อ้อยที่เกษตรกรปลูกในปัจจุบัน ได้แก่ พันธุ์ขอนแก่น 3 และ LK92-110 เป็นพันธุ์ที่ใช้มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ทำให้พบการระบาดของโรคมากขึ้น ที่สำคัญการใช้พันธุ์อ้อยพันธุ์ใดพันธุ์หนึ่งในสัดส่วนที่มากเกินไป จะก่อให้เกิดความเสี่ยง เนื่องจากศัตรูพืชมีการปรับตัวจนสามารถเข้าทำลายอ้อยพันธุ์นั้นได้ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้พันธุ์อ้อยที่เคยให้ผลผลิตสูงมีผลผลิตลดลง”

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยว่า หลังจาก ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน ใช้เวลาการปรับปรุงพันธุ์อ้อยมานาน 12 ปี ตั้งแต่ปี 2553 ล่าสุดได้อ้อยโรงงานพันธุ์ใหม่ “กวก.นครสวรรค์ 1” เป็นพันธุ์ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์แม่ Q76 และพันธุ์พ่อ CP63-588

ลักษณะเด่นของอ้อยโรงงานพันธุ์ใหม่ มีความหวานสูงถึง 15.77 ซีซีเอสสูงกว่าพันธุ์ LK92-11 และพันธุ์ขอนแก่น 3 ให้ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 2.82 ตันซีซีเอส/ไร่ สูงกว่าพันธุ์ LK92-11 ให้ผลผลิตอ้อยไร่ละ 18.02 ตัน ทรงกอตั้งตรงสะดวกต่อการเก็บ เกี่ยวด้วยแรงงานคนหรือใช้เครื่องจักร

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเผยอีกว่า อ้อยพันธุ์ “กวก.นครสวรรค์ 1” เป็นทางเลือกให้กับชาวไร่อ้อยอีกพันธุ์หนึ่ง โดย เฉพาะในพื้นที่ปลูกอ้อยที่เป็นดินร่วน ร่วนเหนียวและดินเหนียว เขตน้ำฝน ได้แก่ จังหวัดนคร สวรรค์ ชัยนาท สุพรรณบุรี และนครราชสีมา

นอกจากนั้น อ้อยโรงงานพันธุ์ยังจะช่วยยกระดับผลผลิตและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร เพราะค่าความหวานที่สูงถึง 15.77 ซีซีเอส จะทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับผลตอบแทนจากค่าความหวานที่เพิ่มขึ้น โดยค่าความหวานมาตรฐาน 10 ซีซีเอส และ 1 ซีซีเอสที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ได้ราคาเพิ่มอีก 6% ของราคาต่อตันอ้อยเกษตรกรที่สนใจอ้อยพันธุ์ กวก. นครสวรรค์ 1 สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ โทร. 0-5624-1019.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/news/local/2490960