ค้นหา

ปศุสัตว์หนุนใช้วัตถุดิบ อาหารสัตว์ผลิตภายในประเทศ

แนวหน้าออนไลน์
เข้าชม 438 ครั้ง

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตสงครามรัสเซียกับยูเครน ว่ามีแผนส่งเสริมให้เกษตรกรและผู้ประกอบการ หันมาใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ภายในประเทศ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีการสนับสนุนสูตรการผลิตอาหารสัตว์ที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ อย่างข้าวและมันสำปะหลัง ทดแทนการนำเข้าข้าวโพดและข้าวสาลี จากประเทศรัสเซียและยูเครน พร้อมกับเผยแพร่สูตรอาหารสัตว์ 90 สูตรที่มีความเหมาะสมกับแต่ละจังหวัด ที่สามารถหาวัตถุดิบแหล่งพลังงานในท้องถิ่นได้ เช่น การใช้ข้าวกะเทาะเปลือก หรือมันสำปะหลังในสูตรอาหารเพื่อทดแทนข้าวโพดและข้าวสาลี ในสูตรอาหารสุกรได้ 100% และสูตรอาหารไก่ได้ 35% เป็นต้น โดยเกษตรกรสามารถเรียนรู้สูตรอาหารสัตว์นี้ ผ่านสื่อออนไลน์ของกรมปศุสัตว์

นอกจากนี้ ยังมีการจัดหน่วยบริการจัดการอาหารสัตว์เคลื่อนที่ “Feeding Management Mobile Unit (FMMU)” ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ให้บริการที่ฟาร์มเกษตรกร โดยให้คำแนะนำการจัดการด้านอาหารสัตว์ ปรับสูตรอาหารสัตว์รายฟาร์มตามชนิดและวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เพื่อการจัดการอาหารสัตว์ที่มีความแม่นยำ (precision feeding) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนได้ประมาณ 1-2 บาท/กิโลกรัม โดยขอรับบริการได้ที่สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ และศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ทั้ง 33 แห่ง ทั่วประเทศ รวมถึงได้เปิดศูนย์บริการเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ด้านปศุสัตว์ (Motor Pool) ถือเป็นนวัตกรรมการบริการเครื่องจักรกลอาหารสัตว์ที่ให้การสนับสนุนเครื่องจักรกลแก่กลุ่มเกษตรกรเพื่อยืมใช้สำหรับการผลิตเสบียงสัตว์ ช่วยลดภาระการลงทุนซื้อเครื่องจักรกล ลดภาระงบประมาณของรัฐบาลในระยะยาว เพิ่มการนำวัสดุเหลือใช้ในแปลงนามาเป็นอาหารสัตว์ และช่วยเพิ่มการสำรองเสบียงสัตว์เพื่อความมั่นคงทางด้านอาหารสัตว์ (Feed security)

ในส่วนของการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรด้านพืชอาหารสัตว์ มีโครงการ “พัฒนาอาชีพผลิตพืชอาหารสัตว์” ให้เกษตรกร โดยการผลิตพืชอาหารสัตว์จำหน่ายในรูปแบบหญ้าสด หญ้าหมัก หญ้าแห้ง และเมล็ดพันธุ์ สร้างรายได้
ที่มั่นคง ปัจจุบันมีกลุ่มเกษตรกรผลิตเพื่อจำหน่าย 133 กลุ่ม 2,100 ราย พื้นที่ 23,000 ไร่รายได้ 380,000 บาท/ราย/ปี ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้สำรองเสบียงสัตว์ ตามโครงการ “หญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน” เพื่อผลิตเสบียงสัตว์ ได้แก่ หญ้าแห้ง หญ้าหมัก และอาหารทีเอ็มอาร์ 6,720,000 กิโลกรัม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ที่ประสบภัยพิบัติ โดยสนับสนุนเกษตรกร 23,000 รายต่อปี

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.naewna.com/local/678356