“การลักลอบนำสินค้าเนื้อและชิ้นส่วนหมูเข้าประเทศ ทำให้เกิดความกังวลและความเสี่ยงต่อการนำเชื้อไวรัส พาหะต่างๆที่ก่อให้เกิดโรคระบาดร้ายแรง โดยเฉพาะโรคอหิวาต์หมูหรือ ASF เข้าสู่ประเทศ เสี่ยงทั้งโรคระบาดและสารเร่งเนื้อแดง สร้างผลกระทบต่อเกษตรกร ตลอดจนผู้บริโภค ทางกระทรวงฯไม่ได้นิ่งนอนใจ มอบหมายให้กรมปศุสัตว์ชี้แจงให้ข้อมูลในรายละเอียด ทางกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินงานอย่างเข้มงวดมาโดยตลอด โดยมีการจัดทีมตรวจค้นห้องเย็นหรือสถานที่พักซากสัตว์ทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง”
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยืนยันถึงมาตรการป้องกันนำเข้าหมูอย่างผิดกฎหมายที่ดำเนินการมาโดยตลอด
พร้อมกันนี้ได้ขอความร่วมมือไปยังกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมศุลกากร จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษปราบปรามผู้กระทำความผิดตามกฎหมายที่กรมปศุสัตว์รับผิดชอบ ซึ่งกรมปศุสัตว์ โดยกองสารวัตรและกักกัน ได้เข้มงวดในการปฏิบัติงานตรวจสอบการนำเข้า ส่งออก และนำผ่านราชอาณาจักร โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนติดต่อกับเมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย มีเจ้าหน้าที่ชุดสุนัขดมกลิ่นปฏิบัติงานในพื้นที่สนามบิน เพื่อตรวจค้นหาซากสุกร หากพบผู้กระทำผิด ต้องดำเนินการตามกฎหมายโดยเด็ดขาดและถึงที่สุด ไม่ละเว้นให้กับผู้ใดทั้งสิ้น
นอกจากนี้ ได้กำหนดให้มีการทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ สำหรับซากสัตว์ที่มีการนำเข้าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าปศุสัตว์ปลอดภัยจึงขอให้ผู้บริโภคสังเกตตราสัญลักษณ์ ‘ปศุสัตว์ OK’ ที่สามารถเชื่อมั่นถึงความสะอาด สุขอนามัย เนื้อสัตว์ปลอดโรคระบาด และไร้สารตกค้าง ได้คุณภาพมาตรฐานอย่างแน่นอน ส่วนการส่งเสริมและฟื้นฟูการเลี้ยงหมูในประเทศให้เพียงพอต่อการบริโภค ได้ให้กรมปศุสัตว์ เร่งขับเคลื่อนโครงการ Sandbox ปศุสัตว์ ตามนโยบายของรัฐบาล นำร่อง “Pig Sandbox” พื้นที่ควบคุมพิเศษ จ.ราชบุรี และพื้นที่ปศุสัตว์เขต 5 (ภาคเหนือตอนบน)
พร้อมนี้ กระทรวงฯได้กำหนดมาตรการเพื่อเตรียมความพร้อมในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค ASF ในสุกร โดยได้วางนโยบายและมาตรการต่างๆอย่างครอบคลุม เข้มข้นและต่อเนื่อง ซึ่งนับจากที่ประเทศไทยยืนยันพบการระบาดของโรค ASF เมื่อ 11 ม.ค.2565… นับแต่นั้นมา กรมปศุสัตว์ได้เร่งตรวจสอบและรายงานสถานการณ์ทุกวัน พบการเกิดโรค ASF เป็นจุดเล็กๆใน 31 จังหวัด
แต่ปัจจุบันสามารถควบคุมโรคได้แล้ว จึงถือได้ว่า สามารถควบคุมโรคได้อยู่ในวงจำกัดและมีประสิทธิภาพเป็นอย่างดี ดังนั้น จึงขอให้มั่นใจได้ว่า ประเทศไทย มีมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น จนได้้รับการยอมรับจากทั่วโลก ว่าเป็นประเทศที่ป้องกันควบคุมโรคดีที่สุดในเอเชีย
ด้าน นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ อธิบายเพิ่มเติม…ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ ได้ปฏิบัติงานตรวจยึดซากสุกรตามพื้นที่แนวตะเข็บชายแดนมาอย่างต่อเนื่อง โดยผลการตรวจยึดซากสุกร 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562-2565) ตรวจสอบการลักลอบนำเข้าซากสัตว์ 3,516 ครั้ง แจ้งความดำเนินคดี 20 คดี (ร่วมกับศุลกากร 3 คดี) ยึดและดำเนินการทำลายซากสุกร 339,192 กิโลกรัม มูลค่าของกลางกว่า 79 ล้านบาท
สำหรับในปี 2565 ผลการปฏิบัติงานช่วง ม.ค.-ก.ค. ได้ตรวจสอบการลักลอบนำเข้า 2,425 ครั้ง แจ้งความดำเนินคดี 13 คดี (ร่วมกับศุลกากร 3 คดี) ยึดและดำเนินการทำลายซากสุกร 325,027 กก. มูลค่าของกลางกว่า 65 ล้านบาท
ส่วนมาตรการเพื่อเตรียมความพร้อมในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค ASF ในสุกร กรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินการตามมาตรการที่ได้รับการสั่งการ ส่วนของ โครงการแซนด์บ็อกซ์ ได้กำหนดพื้นที่นำร่อง จ.ราชบุรี เป็นโครงการต้นแบบการเลี้ยงสุกร เพื่อส่งเสริม ฟื้นฟูการผลิตสุกร การควบคุมป้องกันการเกิดโรค ASF และโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) ยกระดับการจัดการฟาร์ม ภายใต้มาตรการ 3S คือ SCAN พื้นที่ SCREEN ความเหมาะสม และ SUPPORT การเลี้ยงดู การตลาดและแหล่งทุน ทั้งนี้ ประชาชนที่ต้องการแจ้งเบาะแส หรือสอบถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่หรือ สายด่วนกรมปศุสัตว์ 06-3225-6888 และ www.dld.go.th หรือแอปพลิเคชัน DLD 4.0.