ค้นหา

ปั้น “สตาร์ทอัพเกษตรกร” หวังดูดเม็ดเงินลงทุนทั่วโลก 3.7 แสนล้านบาท เข้าไทย

ฐานเศรษฐกิจ
เข้าชม 359 ครั้ง

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ผนึกกำลัง 9 พันธมิตร ประกาศผู้ชนะ “ทีม ส่งสด” คว้ารางวัลสตาร์ทอัพเกษตร ในโครงการ AgTech Connext 2022 บิ๊ก ผอ. หวังดูดเม็ดเงินลงทุนเข้าไทย จากตลาดลงทุนทั่วโลก 3.7 แสนล้านบาท ชี้สตาร์ทอัพเทคโนโลยีการเกษตร สาขาที่มีโอกาสเติบโตสูง

ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA  เผยว่า “สตาร์ทอัพเทคโนโลยีการเกษตร (AgTech startup) เป็นหนึ่งในสาขาที่มีโอกาสเติบโตสูง เนื่องจากเป็นตลาดสากลที่มีขนาดใหญ่ โดยในปี 2564 มีมูลค่าการลงทุนทั่วโลก 3.7 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มการเติบโตสูงขึ้นจากความต้องการความมั่นคงทางอาหาร สำหรับประเทศไทยพบว่าปี 2565 สตาร์ทอัพเทคโนโลยีการเกษตรมีเงินลงทุนรวมประมาณ 1,200 ล้านบาท

“ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าการลงทุนทั่วโลก คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.32 เท่านั้น จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายและมีความเป็นไปได้สูงที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการเร่งสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการเติบโตของสตาร์ทอัพเทคโนโลยีการเกษตรไทย เพื่อดึงดูดการลงทุนในภาคส่วนนี้มากขึ้น”

ดร. พันธุ์อาจ กล่าวว่า NIA ในฐานะหน่วยงานอำนวยความสะดวกทางนวัตกรรม (Focal facilitator) จึงมุ่งพัฒนาและเร่งสร้างสตาร์ทอัพเทคโนโลยีการเกษตรและระบบนิเวศที่เหมาะสม โดยอาศัยความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตร เพื่อให้สตาร์ทอัพเทคโนโลยีการเกษตรไทยได้มีโอกาสทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนของระบบ สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

เช่น โครงการ “AgTech Connext” ที่เชื่อมสตาร์ทอัพเทคโนโลยีการเกษตรสู่การขยายตลาดไปยังเกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจการเกษตร ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรจากสตาร์ทอัพถ่ายทอดสู่กลุ่มเกษตรกร เพื่อทดสอบการใช้งานจริงร่วมกัน และสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรเข้าถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของสตาร์ทอัพ โดยตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจที่สำคัญของสตาร์ทอัพเทคโนโลยีการเกษตรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“จากผลการดำเนินงานโครงการนี้พบว่า ตลอดระยะเวลาสามเดือนสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการต่างมีกลยุทธ์ในการแก้ไขและปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไม่ว่าจะเป็นด้านเทคนิคหรือกลยุทธ์การตลาดจนสามารถขยายเครือข่ายผู้ใช้บริการจากสตาร์ทอัพเพิ่มขึ้นถึง 25 เท่า สร้างเป็นรายได้ 15 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นความพิเศษของสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในการเติบโต และเป็นอีกหนึ่งผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากการสนับสนุนของเครือข่ายพันธมิตรทุกท่าน” 

ด้าน ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม NIA กล่าวว่า “โครงการ AgTech Connext เป็นเสมือนสะพานเชื่อมให้สตาร์ทอัพได้มีโอกาสขยายเครือข่ายกับผู้ใช้งานจริง และสนับสนุนการปรับเปลี่ยนเชิงกลยุทธ์เพื่อให้สตาร์ทอัพเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งกิจกรรมวันนี้ สตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 12 ราย ได้นำเสนอผลงานที่ใช้งานจริงร่วมกับเกษตรกรและผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจเกษตร เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตและขยายธุรกิจทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มอาเซียน ดังนี้

– การแก้ไขปัญหากลุ่มปศุสัตว์โคเนื้อ โคนม ในส่วนของผสมเทียมจากน้ำเชื้อแช่แข็งเพื่อให้ได้โคติดลูกและได้ลูกโคเพศเมียตามที่ต้องการร้อยละ 70 จากการพัฒนาของ 1) สยามโนวาส ที่ต่อยอดมาจากผลงานวิจัยมามากกว่า 10 ปี เมื่อได้ลูกโคที่ดี 2) เซียนวัว ช่วยบริหารจัดการข้อมูลโคเนื้อโคนมด้วยแพลตฟอร์มที่ทำให้รู้จักโคทุกตัว สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ไม่ต้องใช้กระดาษจด และเป็นพื้นที่ตลาดการซื้อขายออนไลน์

– การแก้ไขปัญหาสำหรับพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว และ อ้อย บนพื้นฐานของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ 3) อีซี่ไรซ์ สร้างเครื่องตรวจสอบคุณภาพข้าวด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ที่จะประกันการปลอมปนและตรวจสอบคุณภาพข้าวได้อย่างรวดเร็วขึ้น เป็นธุรกิจพร้อมขยายผลสู่กลุ่มธัญพืช อีกปัญหาการประเมินราคารับซื้อหน้าโรงงานอ้อย ที่เป็นที่ถกเถียงการแยกเกรดระหว่างโรงงานและชาวไร่ 4) ออนเนียนแชค ระบบประมวลผลภาพและปัญญาประดิษฐ์ที่พิสูจน์กันได้อย่างชัดเจน

– การเพาะเห็ด เป็นแหล่งอาหารที่มีคุณค่าโภชนาสูง มีมูลค่าตลาดในประเทศ 9 พันล้านบาท และตลาดโลกในปี 2021 สูงถึง 1,940 พันล้านบาท 5) โซมัส พัฒนาระบบการเพาะเห็ดให้มีประสิทธิภาพสูงที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า พร้อมรับซื้อผลผลิตเพื่อแปรรูปและสร้างตลาดสำหรับกลุ่มบริโภคไม่ทานเนื้อสัตว์ และ 6) ฟิวเจอร์ฟาร์ม เอไอ ใช้เทคโนโลยี IoT ควบคุมระบบโรงเรือนผลิตเห็ดโคนญี่ปุ่นที่ตลาดมีความต้องการสูง และราคาดี

– การบริหารจัดการฟาร์มให้มีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล 7) เมอร์ลิเนียม ฟาร์ม แก้ไขปัญหาการทำเกษตรอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีผลิตพลังงานในตัวด้วยแสงความเข้มต่ำ มีแดดเพียงน้อยนิดก็ใช้งานได้ สร้างให้เกิดฟาร์มอัจฉริยะไร้สายประหยัดพลังงาน และ 8) ฟาร์มคอนเน็ค เอเชีย ที่ต่อยอดความเชี่ยวชาญการทำฟาร์มเมล่อนเงินล้านที่ปลูกกลางทุ่งนา มีการนำระบบ IoT และเซ็นเซอร์มาออกแบบระบบควบคุมการปลูกพืชด้วยข้อมูล สำหรับใช้ดูแลการให้น้ำให้ปุ๋ยในแปลงกลางแจ้งและโรงเรือนได้อย่างแม่นยำ

– การทำการเกษตรและประมงที่มีการใช้ไฟฟ้าในการควบคุมระบบต่างๆ ทำให้ 9) เอ็นเนอร์ยี่ออฟติงส์ ได้พัฒนาระบบประหยัดพลังงานอัจฉริยะ ที่ติดตั้งแบบทะยอยจ่ายเป็นค่าไฟฟ้าที่ลดลงในแต่ละเดือน คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม

– การสร้างช่องทางตลาดรูปแบบใหม่ๆ ให้กับเกษตรกร โดย 10) ฟาร์มบุ๊คเฟรช มาตอบโจทย์ด้านตลาดนำการผลิตเป็นแพลตฟอร์มที่เข้ามาช่วยเกษตรกรเพื่อจัดการฟาร์มตั้งแต่การผลิตสู่ตลาดล่วงหน้า อีกหนึ่งแนวทางในการหาคนมาจ่ายตลาดแทนอย่าง 11) ส่งสด ให้ได้ของสด ของดี มีคุณภาพครบส่งตรงถึงครัวคุณ ร้านอาหาร และทุกธุรกิจที่ต้องการสินค้าเกษตร และปิดท้ายด้วย 12) วาริชธ์ ที่มีบริการด้านการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรที่มีครบถ้วนทุกมาตรฐานการผลิต ในการสร้างช่องทางตลาดออนไลน์ จนถึงการส่งออกไปต่างประเทศ

นายจิรศักดิ์ สุยาคำ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ธ.ก.ส. กล่าวเพิ่มเติมว่า “ธ.ก.ส. เป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน โดยมีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน เพื่อส่งเสริมอาชีพหรือการดำเนินงานของเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตร ตลอดจนมีเป้าหมายสอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลด้าน BCG (Bio-Circular-Green) Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อบรรลุเป้าการยกระดับภาคการเกษตรดังกล่าวข้างต้น

ดังนั้น ธ.ก.ส. มีกลไกการพัฒนาและร่วมลงทุนไปยังสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมพร้อมใช้ที่สามารถตอบโจทย์ปัญหาของเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงร่วมเป็นเครือข่ายพันธมิตรและสนับสนุนการดำเนินงานในโครงการ AgTech Connext นี้ เพื่อเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างสตาร์ทอัพและเกษตรกรให้มีโอกาสในการทำงานร่วมกัน อีกทั้งสร้างโอกาสให้เกษตรกรเข้าใจและเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมของสตาร์ทอัพในการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสร้างแนวทางตลาดใหม่ๆ ส่งผลให้เกิดการขยายผลการใช้งานและเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

สำหรับการผลการตัดสินในวันนี้ สตาร์ทอัพเกษตรผู้ชนะเลิศที่มีผลงานโดนเด่นในการพลิกโฉมธุรกิจการเกษตร รางวัล The Best Performance AgTech Connext 2022 Award โดยการตัดสินจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมรับเงินรางวัล 50,000 บาท จาก ธ.ก.ส. และทางโครงการจัดให้มีรางวัล The Popular AgTech Connext 2022 Award ตัดสินจากผลการโหวตของผู้เข้าร่วมงาน พร้อมรับเงินรางวัล 10,000 บาท ซึ่งทั้งสองรางวัลได้แก่ ทีม ส่งสด ประกอบด้วย นายอริย ธรรมวัฒนะ CEO & Co-Founder , นายอัคคภพ จันทรศรีวงศ์ CTO & Co-Founder, นางสาวธันยธร จรรยาวรลักษณ์ CMO และ นางสาวสมร ทองสิมา General Manager

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-017 5555 ต่อ 552 (กุลิสรา) มือถือ 084-229 4994 อีเมล [email protected] เว็บไซต์ https://agtechconnext.nia.or.th/ และ  https://web.facebook.com/agtechconnext?_rdc=1&_rdr

อนี่ง สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ผนึกกำลัง 9 เครือข่าย เชื่อมโยงเกษตรกรภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ 1) กรมส่งเสริมการเกษตร 2) กรมการข้าว 3) กรมประมง 4) กรมปศุสัตว์ หน่วยงานสนับสนุนด้านเงินทุน 5) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 6) บริษัท อินโนสเปรซ (ประเทศไทย) จำกัด หน่วยงานเชื่อมต่อกับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร 7) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 8) สภาหอการค้าไทย และหน่วยงานสนับสนุน 9) บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด

ปั้น "สตาร์ทอัพเกษตรกร" หวังดูดเม็ดเงินลงทุนทั่วโลก 3.7 แสนล้านบาท เข้าไทย
แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thansettakij.com/economy/trade/541106