ค้นหา

แนะรัฐกำหนดเขตกักกัน-มาตรการควบคุมวัชพืช‘หญ้าแม่มด’หลังพบระบาดในไร่‘อ้อย-ข้าวโพด’

แนวหน้าออนไลน์
เข้าชม 282 ครั้ง

เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 นางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย และอดีตผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวกับผู้สื่อข่าวขณะลงพื้นที่ให้ความรู้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยและไร่ข้าวโพด ในการกำจัดหญ้าแม่มด ณ ต.นิคมเขาบ่อแก้ว อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ว่า หญ้าแม่มดเป็นวัชพืชที่แย่งอาหารพืชประเภทใบเลี้ยงเดี่ยวใบแคบ เช่น อ้อย ข้าวโพด ในอดีตเคยมีการระบาดที่ จ.อุบลราชธานี ในปี 2517 แต่ได้มีความพยายามกำจัดอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเกษตรกรหันไปปลูกมันสำปะหลังซึ่งไม่ใช่พืชเป้าหมายของหญ้าแม่มด ทำให้วัชพืชชนิดนี้หายสาปสูญไป ไม่มีการรายงานมาตั้งแต่ปี 2527

กระทั่งในปี 2560 มีรายงานพบการระบาดของหญ้าแม่มดในพื้นที่ปลุกอ้อยและข้าวโพด ใน 4 อำเภอของ จ.นครสวรรค์ ประกอบด้วย อ.เมือง อ.พยุหะคีรี อ.ตากฟ้า และ อ.ตาคลี ซึ่งครั้งนี้เป็นหญ้าแม่มดที่มีดอกสีขาวไม่ใช่สีเหลืองอย่างที่เคยพบในปี 2517 ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีการรายงานพบหญ้าแม่มดดอกสีขาวในหลายประเทศของทวีปเอเชีย อาทิ อินเดีย จีน เมียนมา เวียดนาม อินโดนีเซีย

“เรามีสมมติฐานอยู่ 2 อย่าง เดิมมันมีอยู่ในประเทศไทยหรือเปล่าแต่เราไม่เคยไปสำรวจ แล้วเราไม่เคยเห็นความเสียหาย 2.มันติดมากับเมล็ดพันธุ์จากข้าวโพดถุงขาวที่มาจากแถวๆ ชายแดนหรือเปล่า เพราะมีชาวบ้านรายงานว่าตอนที่ข้าวโพดมันแล้งๆ แล้วก็ตายไป เมล็ดพันธุ์มันขาดแคลน เขาก็เลยไปเอาข้าวโพดถุงขาวจากชายแดนมาปลูก เขาก็เริ่มเห็นดอกสีขาวมันมา แล้วหลังจากนั้นเขาก็เปลี่ยนไปปลูกอ้อย มันก็เลยกินอ้อยด้วย แล้วมันก็ไปกินข้าวฟ่างหางหมาด้วย กินข้าวฟ่างด้วย กินหลายอย่างเลย” นางจรรยา ระบุ

นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย กล่าวต่อไปว่า หญ้าแม่มดเป็นวัชพืชกักกันร้ายแรงและนานาชาติต่างเฝ้าระวังไม่ให้หลุดเข้าไปในประเทศของตน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ป้องกันได้ยากเพราะหญ้าแม่มด 1 ฝักมีเมล็ดเฉลี่ยราว 700 เมล็ด และ 1 ต้นมีมากถึง 2 แสนเมล็ด อีกทั้งเมล็ดมีลักษณะเล็กมากเหมือนกับฝุ่นผงสามารถติดไปกับสิ่งของต่างๆ ได้ง่าย

ดังนั้นจึงเรียกร้องให้ภาครัฐของไทยประกาศเขตกักกัน เช่นเดียวกับที่ประเทศออสเตรเลียซึ่งประกาศเขตกักกันหญ้าแม่มดที่รัฐควีนส์แลนด์ เฝ้าระวังการเคลื่อนย้ายพืชเกษตรออกไปยังรัฐอื่นอย่างเข้มงวด โดยหญ้าแม่มดนั้นเมล็ดที่อยู่ในดินจะมีอายุตั้งแต่ 10 – 20 ปี จึงต้องเฝ้าระวังจนกว่าจะหมดอายุของหญ้าแม่มด แต่ก่อนหน้านั้นก็ต้องให้ความรู้กับชาวบ้านด้วย เพราะตนมาทำงานนี้ตั้งแต่ช่วงปี 2560 จนปัจจุบันคือปี 2565 ก็ยังไม่ค่อยรู้จักหญ้าแม่มดกันมากนัก

อนึ่ง เฟซบุ๊กแฟนเพจ “สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย” โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 23 ก.ย.2565 ระบุชนิดหญ้าแม่มด 7 สายพันธุ์ ที่มีรายงานพบในหลายพื้นที่ทั่วโลก ดังนี้ 1.Striga asiatica (L.) O. Ktze ดอกสีเหลือง หรือแดง มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของประเทศทางตะวันออกและตอนใต้ของทวีปอัฟริกา เช่นเอธิโอเปีย ทุกประเทศในทวีปเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย และสหรัฐอเมริกา (ในรัฐ Carolina โดยติดไปกับเมล็ดพันธุ์ข้าวจากจีน)

2.Striga angustifolia (Don.) Saldanha ดอกสีขาว มีรายงานการระบาดในแหล่งปลูกอ้อยในอินเดีย และ ในจังหวัดนครสวรรค์ของประเทศไทย นอกจากนั้น พบการกระจายตัวอยู่ในทวีปอัฟริกา ประเทศจีน โอมาน ภูฏาน บังกลาเทศ ศรีลังกาปากีสถาน เนปาล เมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซีย

3.Striga aspera Willd. ดอกสีชมพูอ่อน พบระบาดในทวีปอัฟริกาตะวันตก ทางตะวันออกของประเทศซูดานจนถึงตอนใต้ของประเทศมาลาวี ทำความเสียหายในข้าวโพดของประเทศไนจีเรีย แคมเมอรูน และ โคท ไอโวรี่ ระบาดในแปลงปลูกข้าวของประเทศโคท ไอโวรี่ และ เซเนกัล (Parker and Riches, 1993) และระบาด 40-59%ของพื้นที่ปลูกข้าวของประเทศไนจีเรีย (Dugie et. al., 2006)

4.Striga densiflora (Benth.) Benth. ดอกสีขาว พบระบาดในแปลงปลูกข้าวสาลีในประเทศอินเดีย (Parker, 2012) 5.Striga forbesii Benth. ดอกสีส้มอ่อน พบระบาดในตอนใต้ของทวีปอัฟริกา และประเทศมาดากัสก้า ทำความเสียหายแก่ข้าวโพดและข้าวฟ่างในประเทศซิมบาบเว และแทนซาเนีย และพบระบาดในแปลงข้าวของประเทศโคท ไอโวรี่ (Parker, 2012)

6.Striga hermonthica (Del.) Benth. ดอกสีชมพูเข้มหรือม่วง พบระบาดรุนแรงในแหล่งปลูกธัญพืชและพืชตระกูลถั่วในทวีปอัฟริกา (Emechebe et. al.,1991) ก่อความเสียหายมากกว่า S. asiatica พื้นที่ระบาดในปัจจุบันประมาณ 300 ล้านไร่ หรือ 1.3 เท่าของประเทศญี่ปุ่น

7.Striga gesneroides ดอกมีสีขาว จนถึงสีม่วงเข้ม เป็นชนิดเดียวที่อาศัยอยู่เฉพาะพืชใบเลี้ยงคู่เท่านั้น มีรายงานทำ ความเสียหายให้ผลผลิตของถั่วพู (cowpea) และ ยาสูบ (tobacco) มันเทศ (sweet potato) และพืชอื่นๆ ในวงศ์ Acanthaceae, Convolvulaceae Euphorbiaceae และ Fabaceae พบในทวีปอัฟริกา ทวีปออสเตรเลีย ทวีปอเมริกาเหนือ จีน อินเดีย ปากีสถาน ตะวันออกกลาง และน่าตกใจว่า CABI รายงานพบการระบาดในประเทศกัมพูชา เพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย

– 006

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.naewna.com/local/682919