ค้นหา

เปิดแผนเกลือทะเล พัฒนาผลิตภัณฑ์ ลดนำเข้า-ดันส่งออก

มติชนออนไลน์
เข้าชม 578 ครั้ง

หนึ่งในนโยบายของ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือแผนพัฒนาเกลือทะเลไทยปี 2566 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยทำควบคู่กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 เบื้องต้นได้มอบหมายฝ่ายเลขาฯคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ประสานสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ (ทูตเกษตร) เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทยในการประชุมครั้งหน้า เพื่อให้ข้อมูลด้านเกลือ ผลิตภัณฑ์เกลือและตลาดเกลือในต่างประเทศ รวมทั้งข้อเสนอแนะจากทูตเกษตร ในด้านการขยายความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างประเทศ

สำหรับแผนปฏิบัติการพัฒนาเกลือทะเลไทย ในปีงบประมาณ 2566 มีกิจกรรมในการพัฒนาเกลือทะเลภายใต้ 5 กิจกรรม ดังนี้ 1.กิจกรรมการขับเคลื่อนการบริหารจัดการเกลือทะเลไทย 2.กิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาเกลือทะเลเพื่อลดต้นทุนการผลิต 3.กิจกรรมการพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนเกลือทะเล 4.กิจกรรมพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการผลิตเกลือทะเล และ 5.กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาเกลือทะเลเป็นมรดกทางการเกษตรโลก (GIAHS)

ขณะเดียวกัน หนึ่งในกรมที่มีบทบาทการขับเคลื่อนโครงการนี้อย่างกรมส่งเสริมการเกษตร โดย “เข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ให้ข้อมูลว่า ผลการดำเนินงานของคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทยที่สำเร็จโดดเด่นเป็นรูปธรรม ได้แก่ การจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาเกลือทะเลไทย ปีงบประมาณ 2566-2570 เพื่อให้เกลือทะเลมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล มีตลาดที่หลากหลาย ราคามีเสถียรภาพ และจัดการพื้นที่นาเกลือให้มีความเหมาะสม

อีกทั้งเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรชาวนาเกลือ โดยสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรได้หารือร่วมกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้และเกษตรกรเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินร่วมกันเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่ายการฟื้นฟูพิธีทำขวัญเกลือ ทำให้เกิดขวัญและกำลังใจแก่พี่น้องเกษตรกรชาวนาเกลือทั่วประเทศ และการยกระดับมาตรฐานเกลือทะเลไทยให้มีการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (จีเอพี) สำหรับการทำนาเกลือทะเล ในปี 2565 มีเกษตรกรได้รับการรับรองแล้วถึง 11 ราย พื้นที่ 809.39 ไร่

นอกจากนี้ คณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ยังร่วมผลักดันให้มีการควบคุมการนำเข้าเกลือทะเล โดยประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดให้เกลือเป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองและต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร และประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่องการขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้า เป็นการป้องกันเกลือล้นตลาด ทำให้เกลือในประเทศราคาตกต่ำ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย

พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาเกลือทะเล ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญจากภาครัฐ เอกชน และภาควิชาการ ในการหามาตรการแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดกับเกลือทะเลไทย ซึ่งดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาเกลือทะเล ปี 2564 เพื่อแก้ไขปัญหาราคาเกลือตกต่ำ และผลผลิตค้างสต๊อก โดยชดเชยส่วนต่างราคาขายเกลือทะเลให้กับเกษตรกร 111 ราย ระบายเกลือทะเลได้กว่า 3.9 หมื่นตัน ใช้เงินชดเชย 9.9 ล้านบาท

ส่งผลให้ราคาเกลือมีการปรับตัวสูงขึ้นจากเดิมในช่วงเดือนสิงหาคม 2563 อยู่ที่กิโลกรัมละ 0.51 บาท ปรับขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 1.71 บาท เมื่อเดือนสิงหาคม 2565

นอกจากนี้ ได้จัดทำแนวทางการปฏิบัติงานและเกณฑ์การพิจารณาความเสียหาย สำหรับบรรจุในคู่มือการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร โดยช่วยเหลือตามจำนวนพื้นที่เสียหายจริง ในอัตราไร่ละ 1,220 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ ซึ่งในปี 2565 มีเกษตรกรจังหวัดเพชรบุรี ได้รับการช่วยเหลือแล้ว 80 ราย พื้นที่ 719.50 ไร่ เป็นเงินรวม 877,790 บาท

รวมทั้งลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหน่วยงานภาคีและเกษตรกร เพื่อเชื่อมโยงการผลิตเกลือกับผู้ประกอบการที่ใช้เกลือเป็นวัตถุดิบและผู้ค้าส่งเกลือทะเล และสนับสนุนการนำวัสดุเหลือใช้จากนาเกลือทะเลมาใช้ในการผลิตไม้ผลตามหลักตลาดนำการผลิต

ปัจจุบัน กรมเตรียมดำเนินโครงการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเกลือทะเลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอย่างยั่งยืน เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตเกลือทะเลให้สอดคล้องกับนโยบายเกษตรสมัยใหม่ ด้วยการปูผ้าใบในพื้นนาเกลือ ปรับปรุงยุ้งฉางเก็บเกลือ และเทคโนโลยีการผลิตที่เกี่ยวข้อง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต นำไปสู่การลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ทำนาเกลือทะเล สร้างโอกาสให้เกษตรกรผู้ทำนาเกลือทะเลสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทยยังได้พยายามเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับเกลือทะเลไทย โดยหาแนวทางการส่งออกเกลือทะเลไปต่างประเทศเพื่อใช้งานด้านต่างๆ เช่น เกลือสำหรับละลายหิมะบนถนนหรือรันเวย์สนามบิน เป็นต้น

พร้อมส่งเสริมการยกระดับนาเกลือให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืนของชุมชน จึงมีการส่งเสริมและพัฒนานาเกลือทะเลให้เป็นมรดกทางการเกษตรโลก โดยส่งบุคลากรเข้าอบรมออนไลน์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ระบบมรดกทางการเกษตรของโลก ร่วมกับสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเป็นแนวทางในการขึ้นทะเบียนระบบมรดกทางการเกษตรของโลกในประเทศไทยต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อมุ่งเน้นขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพและกระบวนการผลิตเกลือทะเลและผลิตภัณฑ์ ให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ เพิ่มมูลค่าและเพิ่มช่องทางการตลาดให้หลากหลายขึ้น

“รวมทั้งพัฒนาระบบฐานข้อมูลเกษตรกร ข้อมูลเกลือทะเล เพื่อให้สามารถบริหารจัดการเกลือทะเลได้ทั้งระบบ อันจะเป็นการยกระดับการทำนาเกลือทะเลให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน สมดังวิสัยทัศน์ที่ว่า เกลือทะเลไทยได้มาตรฐานและคุณภาพระดับสากล” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรแจกแจงรายละเอียดแผนพัฒนาเกลือทะเลของไทย

ด้าน “อลงกรณ์ พลบุตร” ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกจากแผนการพัฒนาเกลือทะเลแล้ว สิ่งที่ต้องช่วยเกษตรกรกลุ่มนี้คือ การแก้ไขปัญหาหนี้สิน ซึ่งที่ผ่านมาที่ประชุมคณะกรรมการได้รับเรื่องจากกลุ่มเกษตรกรทำนาเกลือบ้านแหลม ในการขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้กู้เงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร โครงสร้างระบบการผลิตและการตลาดเกลือของสถาบันเกษตรกร ด้วยวิธีการยกระดับราคาให้ยั่งยืน ขณะนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ อยู่ระหว่างนำเสนอเรื่องการขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้ของเกษตรกรดังกล่าวให้ทางกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรพิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมโครงการสินเชื่อชะลอการขายเกลือทะเล ปีการผลิต 2565/2566 โดยชุมนุมสหกรณ์เกลือทะเลไทย เพื่อชะลอการขายเกลือทะเล ราคาคงที่ในราคา 1.50 บาทต่อกิโลกรัม บรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรนาเกลือด้านค่าใช้จ่ายในครอบครัวและหนี้สิน และยกระดับราคาเกลือให้สูงขึ้น รักษาราคาให้มีเสถียรภาพ ซึ่งที่ประชุม ให้ความเห็นชอบในหลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางการดำเนินงานโครงการดังกล่าว

พร้อมมอบหมายให้ฝ่ายเลขาฯธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากโครงการสินเชื่อชะลอการขายสินค้าเกษตรอื่น เช่น ข้าว ผลไม้ (ลำไย) และยางพารา เป็นต้น ทั้งนี้ ควรให้มีโครงการเสริมสร้างสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการในการรวบรวมและรับซื้อผลผลิตด้วย

ทั้งนี้ ข้อมูลกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รายงานการนำเข้าเกลือจากต่างประเทศทั่วโลกปี 2565 ว่าช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2565 มีปริมาณการนำเข้าเกลือ 98,985 ตัน มูลค่า 164,399,917 บาท พบว่าปริมาณเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2564 ในช่วงเวลาเดียวกัน หรือระหว่างเดือนมกราคม-กรกฎาคม ที่มีปริมาณการนำเข้าอยู่ที่ 80,750 ตัน มูลค่า 151,481,437 บาท

“หลังจากนี้คณะกรรมการจะเร่งยกระดับการผลิตเกลือทะเลไทย เพื่อทดแทนการนำเข้าและให้ทางสถาบันเกลือทะเลไทยศึกษาในรายละเอียดเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์กับประเทศให้มากที่สุดต่อไป” ประธานคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทยสรุป

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.matichon.co.th/economy/news_3595714