ในปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology: ICT) เข้ามาใช้เพื่อช่วยในการปรับปรุงผลผลิตและการทำการเกษตรแบบยั่งยืน ด้วยการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลอย่างมีระบบ การนำข้อมูลมาประมวลผลและวิเคราะห์เพื่อให้เกษตรกรและชุมชนเกษตรกรรมสามารถรับข้อมูลล่าสุดได้อย่างง่ายดาย เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประกอบการตัดสินใจในการทำการเกษตรในแต่ละวัน เช่น ข้อมูลที่เกี่ยวกับสภาพดิน ฟ้า อากาศ เพื่อให้สามารถเตรียมการเพื่อการจัดการพืชผลที่ปลูกได้อย่างเหมาะสม, ข้อมูลเกี่ยวกับตลาดรับซื้อ อันช่วยลดต้นทุนและส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งรับซื้อผลผลิตและผู้บริโภคได้โดยตรง, ข้อมูลคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้เครื่องจักร การเพาะปลูก ปัญหาในการเพาะปลูก การแก้ปัญหา และดูแลพืชผลทางการเกษตรต่าง ๆ รวมไปถึงข้อมูลการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่น่าเชื่อถือ เป็นต้น
แม้การนำ ICT มาใช้ในภาคเกษตรกรรมจะเกิดประโยชน์มากมาย แต่ก็ยังคงมีข้อครหาว่าอาจมีการรวบรวมข้อมูลและนำไปใช้โดยไม่ตรงไปตรงมา หรือเป็นไปเพื่อประโยชน์เฉพาะบางกลุ่ม เช่น การรวบรวมข้อมูลเฉพาะที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับองค์กรที่ผู้รวบรวมเป็นตัวแทน เป็นต้น จนนำมาสู่การนำ Blockchain มาใช้เพื่อจัดเก็บ ประมวลผล และนำข้อมูลไปใช้ โดยมีเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเป็นผู้ร่วมกันดำเนินการโดยไม่ผ่านตัวกลาง ทำให้เกิดการรวบรวมข้อมูลอย่างเที่ยงตรงอันนำไปสู่การประมวลผลที่แม่นยำและไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ในต่างประเทศได้เริ่มมีการจัดทำ Application ที่นำเทคโนโลยี ICT, Blockchain และ Smart Contract มาใช้ในภาคเกษตรกรรมต่าง ๆ อาทิ แอปพลิเคชันเกี่ยวกับการประกันทางการเกษตร (Agricultural Insurance) แอปพลิเคชันเกี่ยวกับการทำการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) แอปพลิเคชันเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานอาหาร (Food Supply Chain) และการขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรออนไลน์ (E-commerce of Agricultural Products)
แอปพลิเคชันเกี่ยวกับการประกันทางการเกษตร (Agricultural Insurance): ด้วยเหตุที่สภาพอากาศที่แปรปรวนและควบคุมไม่ได้ เช่น การเกิดพายุ น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน หรือแม้กระทั่งความแห้งแล้ง ย่อมส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตรกรรม ในต่างประเทศจึงได้มีการทำประกันภัยทางการเกษตรเพื่อจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ โดยเกษตรกรจะต้องจ่ายเบี้ยประกันก่อนเริ่มรอบการเพาะปลูก ซึ่งหากต่อมาประสบภัยพืชผลเสียหายจนขาดรายได้อันเนื่องมาจากภัยคุกคามจากสภาพอากาศ เกษตรกรผู้ทำประกันก็สามารถไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเอาจากบริษัทรับประกันภัยได้
เทคโนโลยี ICT สามารถเข้ามาช่วยในด้านการรวบรวมข้อมูล ประมวลผล และประเมินความเสี่ยงเพื่อกำหนดเบี้ยประกันภัยและค่าสินไหมทดแทนประกันภัยได้ โดย Blockchain ก็เข้ามามีส่วนร่วมกับการปรับปรุงระบบการชำระเงินให้สามารถทำได้ทันเวลาและโดยอัตโนมัติตามข้อมูลสภาพอากาศตามที่ได้กำหนดเงื่อนไขการจ่ายเงินไว้ใน Smart Contract และอาจมีการกำหนดให้นำ Cryptocurrency มาใช้ในการชำระเบี้ยประกันและค่าสินไหมทดแทน เช่น บริษัท Etherisc สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ที่ให้บริการประกันพืชผลแบบ Decentralised บนเทคโนโลยี Blockchain และบริษัท WorldCover ผู้ให้บริการประกันภัยในนิวยอร์กที่ได้นำ Smart Contract มาใช้ในการให้บริการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรบนเทคโนโลยี Blockchain โดยได้นำ Ethereum มาใช้เพื่อชำระค่าเบี้ยประกันและการจ่ายค่าสินไหมทดแทนต่าง ๆ เป็นต้น
แอปพลิเคชันเกี่ยวกับการทำการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) : นำเทคโนโลยี Blockchain และ Internet of Things (การที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ สามารถเชื่อมโยงหรือส่งข้อมูลถึงกันได้ด้วยอินเตอร์เน็ต โดยไม่ต้องป้อนข้อมูล) มาใช้ร่วมกันเพื่อจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ ตั้งแต่ข้อมูลด้านเมล็ดพันธุ์ไปจนถึงข้อมูลเรื่องการขายผลผลิตทางการเกษตร และพัฒนาเป็น Smart Farming Application เช่น สมาคมชลประทานเพื่อการเกษตรในไต้หวันนำ Blockchain มาใช้เก็บรวบรวมข้อมูลจากเกษตรกรทั้งรายใหญ่และรายย่อย ตอบข้อสอบถามจากสาธารณชน และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการชลประทาน โดยระบบ Blockchain นั้นทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการชลประทานได้อย่างโปร่งใส เพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงการใช้ทรัพยากรน้ำได้เป็นอย่างดี
แอปพลิเคชันเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานอาหาร (Food Supply Chain) : การใช้ Blockchain บันทึกข้อมูลการผลิต กระบวนการผลิต การจัดเก็บ และการจัดจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรและอาหาร ทำให้สามารถตรวจสอบและติดตามสินค้าทางการเกษตรและอาหารในห่วงโซ่อุปทานได้ โดยผู้บริโภคจะได้รับข้อมูลตั้งแต่การเพาะปลูก เก็บเกี่ยว วิธีการผลิต/แปรรูป และการดำเนินการเกี่ยวกับอาหารต่าง ๆ อันจะช่วยลดความกังวลของผู้บริโภคเกี่ยวกับความปลอดภัย คุณภาพ และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของอาหารได้
นอกจากนี้ เทคโนโลยี Blockchain ยังช่วยให้ผู้บริโภคสามารถติดต่อสอบถามกับเกษตรกรหรือผู้ผลิตอาหาร เกี่ยวกับกระบวนการผลิต ราคา และช่องทางการสั่งซื้อสินค้าได้อย่างโปร่งใสในราคาที่ยุติธรรม ตัวอย่างเช่น WalMart ได้นำ Blockchain มาใช้ในการตรวจสอบอาหารในห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่กระบวนการผลิตอาหารและการแปรรูปทั้งหมด รวมไปถึงการจัดจำหน่าย เพื่อตรวจสอบว่ามีสิ่งเจือปนในอาหารหรือไม่ ตรวจสอบถึงความปลอดภัย รวมไปถึงราคาสินค้าว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ปกติไม่ได้มีการโก่งราคา เป็นต้น
การขายสินค้าทางการเกษตรออนไลน์ (E-commerce of Agricultural Products) : ด้วยเหตุที่ส่วนมากการซื้อขายสินค้าทางการเกษตรรายย่อยมักมีมูลค่าน้อย และอายุการเก็บรักษาสั้น ส่งผลให้เกิดความไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนใน E-commerce เพื่อขายสินค้าเกษตรรายย่อย แต่การนำ Blockchain มาใช้อาจช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าวได้ เนื่องจากสามารถเชื่อมโยงข้อมูลทั้งด้านอุปสงค์ของผู้บริโภค และอุปทานจากแหล่งสินค้าทางการเกษตรจากเกษตรกรโดยตรง, ช่วยจัดการห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพ เพราะมีการรวบรวมข้อมูลจากทั้งผู้ผลิต แหล่งกำเนิด บริษัทขนส่ง และผู้สั่งซื้อปลายทาง ที่ทุกฝ่ายสามารถตรวจสอบได้, วิธีการชำระเงินด้วยเงินดิจิทัลที่สะดวก และระบบบัญชีบน Blockchain ที่สามารถตรวจสอบได้ และยังช่วยลดต้นทุนของเกษตรกรเนื่องจากสามารถทำการซื้อขายกับผู้บริโภคในครัวเรือนได้โดยตรง อย่างไรก็ตามการประยุกต์ใช้ Blockchain ใน E-commerce เพื่อการขายสินค้าทางการเกษตรยังคงเป็นเพียงแนวคิดและกำลังอยู่ในช่วงเริ่มพัฒนา
ทั้งนี้ หากมีการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้เพื่อการพัฒนาเกษตรกรรมได้อย่างเต็มรูปแบบได้ดังกล่าวข้างต้นก็จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายอย่างมาก ทั้งในด้านการช่วยลดปัญหาการพึ่งพาพ่อค้าคนกลางทำให้สินค้าราคาถูกลง สามารถช่วยกระจายสินค้าทางการเกษตรแก้ปัญหาสินค้าเน่าเสียอันเนื่องมาจากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรส่วนใหญ่มีอายุการเก็บรักษาสั้น การช่วยเร่งกระบวนการจัดส่งให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปถึงการแก้ปัญหาความล่าช้าในการชำระเงินด้วยการชำระเงินที่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน Smart Contract อีกด้วย
นางสาวดุษดี ดุษฎีพาณิชย์ ทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านนิติกรรมสัญญาและอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ