ในบรรดาพันธุ์พริกไทยที่ปลูกกันในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ซีลอน พันธุ์ซาราวัค พันธุ์จันทบุรี พันธุ์ปะเหลียน น้อยคนที่จะรู้ว่าพริกไทยพันธุ์ปะเหลียน หรือพันธุ์ตรัง มีสรรพคุณทางยาเลิศล้ำ ด้วยเป็นหนึ่งในพริกไทยที่มีสารสำคัญช่วยลดลิ่มเลือดในสมอง และได้รับการรับรองให้เป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เมื่อ มิ.ย.2564 ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่ หันมาขยายพื้นที่ปลูกพริกไทยพันธุ์ตรังในเชิงพาณิชย์กันมากขึ้น หลังจากหลงลืมพริกไทยพันธุ์นี้กันมาช้านาน เพราะหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างอื่นทดแทน
“เรียนจบวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ทำธุรกิจอยู่ในกรุงเทพฯ มาร่วม 20 ปี ด้วยคิดถึงชีวิตในบั้นปลายของตัวเอง อาชีพเกษตรน่าจะยั่งยืนกว่า เพราะที่บ้านทำสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน เลยวางแผนชีวิตกลับมาอยู่บ้าน คิดจะทำเกษตรผสมผสานในแบบอนุรักษ์พันธุ์ไม้พื้นถิ่นหายากของ จ.ตรัง”
มนตรี ศรียงยศ ประธานวิสาหกิจชุมชนไร่มนตรี บ.ป่ากอ ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง เล่าถึงที่มาของจุดเริ่มต้นฟื้นคืนชีพการปลูกพริกไทยพันธุ์ปะเหลียนในเชิงธุรกิจอีกครั้ง หลังจากที่พริกไทยพันธุ์นี้เคยสร้างชื่อเสียงให้กับ จ.ตรัง ขจรขจายไปทั่วยุโรปเมื่อ 100 กว่าปีก่อน
ด้วยการศึกษาประวัติความเป็นมาของพริกไทยพันธุ์นี้ มนตรี พบข้อมูลในบันทึกจดหมายเหตุ เมื่อปี 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) เสด็จประพาสแหลมมลายู ได้เสด็จประพาสเมืองตรัง พบว่าคนจีนไปตั้งรกรากทำสวนพริกไทยกันมาก ส่งไปขายที่เมืองปีนัง และบันทึก พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี รายงานรัชกาลที่ 5 ในช่วงปี 2432-2435 ได้กล่าวถึงสินค้าสำคัญของเมืองตรัง คือพริกไทยและดีบุก
สำหรับพริกไทยที่ส่งไปจำหน่ายยังปีนัง รู้จักกันในนาม “พริกไทยตรัง” หรือ “Trang Pepper” เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในตลาดยุโรป…แต่มาปี 2441 พริกไทยเริ่มราคาตก ทางปีนังไม่ใคร่รับซื้อ พระยารัษฎาฯ จึงส่งเสริมให้ปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนพริกไทย เช่น มะพร้าว หมาก จันทน์เทศ และยางพารา จากข้อมูลตรงนี้ มนตรี จึงหันมาสนใจพริกไทยพันธุ์นี้อย่างจริงๆ จากเดิมทีที่บ้านมีอยู่ 10 ต้น ปี 2560 ทำตามแผนชีวิต ขยายพื้นที่ปลูกพริกไทยเพิ่มขึ้น พร้อมกับศึกษาวิธีการปลูก
“ผมทดลองปลูกทั้งแบบทั่วไป และแบบอินทรีย์ พบว่าการปลูกแบบทั่วไปจะมีปัญหาเรื่องเชื้อราในดินมาก เลยต้องผสมดินปลูกเอง ทำเป็นอินทรีย์เอง เพราะถ้าใช้ปุ๋ยเคมีจะมีปัญหาเรื่องพริกไทยไม่ค่อยมีกลิ่นหอม และเมล็ดจะบวมน้ำ ไม่เหมือนใช้ปุ๋ยอินทรีย์ พริกไทยจะมีกลิ่นหอมกว่า ข้อดีอย่างเดียวของการใช้ปุ๋ยเคมี คือได้ผลผลิตเมล็ดพริกไทยที่โตเต็มฝักเท่านั้นเอง”
และจากการทำงานร่วมกับคณะเกษตรศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร และคณะเทคโนโลยีการจัดการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย พบว่าพริกไทยตรังมี กรดแกมมา ไลโนเลนิก (Gamma Linolenic Acid) 14.88 mg/100 g. ในขณะที่พริกไทยพันธุ์ซาราวัค, ซีลอน และจันทบุรี ไม่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดนี้เลย เลยทำให้พริกไทยตรังเป็นพริกไทยชนิดเดียวในประเทศไทยที่มีสรรพคุณช่วยสลายลิ่มเลือดในสมอง
ขณะเดียวกัน ไม่พบกรดไมริสติก (myristic acid) ในพริกไทยตรังเลย ส่วนในพริกไทยพันธุ์ซาราวัค, ซีลอน และจันทบุรี พบกรดไขมันอิ่มตัวชนิดนี้มากถึง 13.18, 96.03 และ 72.48 mg/100 g. ตามลำดับ…คุณสมบัตินี้เลยทำให้พริกไทยตรังเหมาะที่นำไปทำเป็นยาช่วยลดน้ำหนักได้ด้วยเช่นกัน
จากนั้นมา การขยายพื้นที่เพาะปลูกในเชิงพาณิชย์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไร่มนตรีและเครือข่ายที่มีสมาชิกอยู่ 7 กลุ่ม ได้เริ่มขึ้น…จากเดิมมีปลูกรวมกันแค่ 400-500 ต้น เพิ่มขึ้นเป็น 3,000 ต้น จากเคยได้ผลผลิตรวมกันแค่ปีละ 120 กก. เพิ่มเป็น 2,000 กก.
และจากที่ชาวบ้านเคยขายพริกไทยดำ (พริกไทยตากแห้ง) ได้ราคา กก.ละ 350 บาท…ขยับขึ้นมาเป็น 400-500 บาท แต่เมื่อนำมาทำการแพ็กเกจจิ้งจำหน่ายในรูปแบบต่างๆ ราคาจะเพิ่มขึ้นไปถึง กก.ละ 700-800 บาท นอกจากนั้นยังจะทำขายเป็นผลิตภัณฑ์เป็นพริกไทยบรรจุขวดพร้อมบดจำหน่ายอีกด้วย สนใจโทร. 08-2826-6716.