ค้นหา

ฟิล์มเจาะรูขนาดไมครอน ยืดอายุการเก็บรักษาผักและผลไม้

ไทยรัฐออนไลน์
เข้าชม 350 ครั้ง
ฟิล์มเจาะรูขนาดไมครอน ยืดอายุการเก็บรักษาผักและผลไม้
ฟิล์มเจาะรูขนาดไมครอน ยืดอายุการเก็บรักษาผักและผลไม้

ฟิล์มเจาะรูขนาดไมครอน ยืดอายุการเก็บรักษาผักและผลไม้

เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาผักและผลไม้ให้นานขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าของเกษตรกรและผู้ประกอบการทำให้สามารถเก็บรักษาผลผลิตวางจำหน่ายได้นานยิ่งขึ้น กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร ได้ศึกษาวิจัยเทคโนโลยีการผลิตฟิล์มเจาะรูขนาดไมครอนโดยใช้เลเซอร์มาร์กเกอร์

“ปกติฟิล์มที่นิยมนำมาใช้ทำบรรจุภัณฑ์ผักและผลไม้โดยทั่วไป ได้แก่ ถุงร้อน พอลิโพรพิลีน (PP) และถุงเย็น พอลิเอทิลีน (PE) พลาสติกประเภทนี้ มีอัตราการซึมผ่านของก๊าซออกซิเจน (OTR) ต่ำ ถ้าไม่มีการเจาะรูให้มีการระบายอากาศ จะทำให้สภาพบรรยากาศถุงบรรจุผักผลไม้ มีออกซิเจนต่ำ คาร์บอนไดออกไซด์สูง มีผลทำให้ผักผลไม้มีกลิ่นผิดปกติและเน่าเสียเร็ว แต่ถ้ามีการเจาะรูแบบที่ทำกันทั่วไป แม้จะช่วยระบายอากาศได้ดี แต่มีข้อเสียทำให้ผักผลไม้สูญเสียน้ำหนัก

ทางคณะนักวิจัยกองวิจัยและพัฒนาวิทยา การหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร จึงได้เลือกใช้ฟิล์ม OPP เป็น PP ที่มีการจัดเรียงตัว และฟิล์ม LDPE ซึ่งเป็น PE ความหนาแน่นต่ำ มาทำการเจาะรูขนาดไมครอนโดยใช้เลเซอร์มาร์กเกอร์ แล้วนำฟิล์มเจาะรูขนาดไมครอนที่ได้ ทดสอบกับผักและผลไม้ที่มีอัตราการหายใจแตกต่างกัน อย่างบัตเตอร์เฮด ถั่วฝักยาว ผักชี ข้าวโพดฝักอ่อน มะม่วงน้ำดอกไม้ เงาะโรงเรียน และกล้วยไข่ โดยเก็บรักษาผักไว้ที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส และผลไม้ที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส ปรากฏว่าช่วยยืดอายุผักผลไม้ได้นานขึ้น โดยที่ยังคงความสดใหม่และไม่สูญเสียน้ำหนัก”

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยถึงผลการทดลองได้พารามิเตอร์ที่เหมาะสมสำหรับการเจาะรูฟิล์มที่มีความหนา 30 ไมครอน คือ ฟิล์ม OPP ใช้ความเร็วสแกน 1,000 มิลลิเมตร/ วินาที กำลังเลเซอร์ 20 เปอร์เซ็นต์ สามารถเจาะรูได้เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 115 ไมครอน

เมื่อนำถุงฟิล์ม OPP เจาะรูขนาดไมครอน ที่มีค่าอัตราการซึมผ่านของก๊าซออกซิเจน (OTR) 5,000–10,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร/ตารางเมตร/วัน มาบรรจุผักชีน้ำหนัก 50 หรือ 80 กรัม ในถุงขนาด 16×35 เซนติเมตร สามารถเก็บรักษาได้นาน 18 วัน…นานกว่าการใช้ถุงเจาะรูขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 เซนติเมตร ที่ใช้กันทั่วไป 3 วัน

และเมื่อบรรจุข้าวโพดฝักอ่อนน้ำหนัก 100 กรัม โดยบรรจุในถาดพลาสติกก่อนแล้วหุ้มด้วยถุงฟิล์ม OPP เจาะรูขนาดไมครอน เก็บได้นาน 20 วัน นานกว่าการบรรจุถาดพลาสติกแล้วหุ้มด้วยฟิล์ม PVC 5 วัน…ทดสอบบรรจุกล้วยไข่จำนวน 6 ผล ต่อถุงขนาด 20×28 เซนติเมตร เก็บได้นาน 14 วัน โดยที่ผลยังไม่สุก

ส่วนถุงฟิล์ม OPP เจาะรูขนาดไมครอนที่มีค่า OTR 15,000-20,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร/ตารางเมตร/วัน นำมาบรรจุถั่วฝักยาวน้ำหนัก 150 กรัม ต่อถุงขนาด 20×28 เซนติเมตร เก็บรักษาได้นาน 15 วัน…บรรจุมะม่วงน้ำดอกไม้เก็บได้นาน 25 วัน นานกว่าการบรรจุกล่องกระดาษลูกฟูก 15 วัน แล้วเมื่อนำออกมาวางที่อุณหภูมิห้อง 4 วัน ผลมะม่วงจะสุกโดยไม่พบกลิ่นผิดปกติที่เนื้อผล

สำหรับฟิล์ม LDPE พารามิเตอร์ที่เหมาะสมสำหรับการเจาะรูคือ ใช้ความเร็วสแกน 500 มิลลิเมตร/วินาที กำลังเลเซอร์ 30 เปอร์เซ็นต์ สามารถเจาะรูได้เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 70 ไมครอน

ฟิล์ม LDPE เจาะรูขนาดไมครอนที่มีค่า OTR 5,000-10,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร/ตารางเมตร/วัน นำมาบรรจุบัตเตอร์เฮดเก็บรักษาได้นาน 21 วัน…นานกว่าถุงเจาะรูขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 เซนติเมตร 6 วัน

บรรจุข้าวโพดฝักอ่อนน้ำหนัก 100 กรัม โดยบรรจุในถาดพลาสติกก่อนหุ้มด้วยถุงฟิล์ม LDPE เจาะรูขนาดไมครอน เก็บได้นาน 20 วัน… บรรจุเงาะโรงเรียน 6 ผล/ถุงขนาด 20×28 เซนติเมตร เก็บรักษาได้นาน 14 วัน โดยคุณภาพยังเป็นที่ยอมรับ…บรรจุกล้วยไข่จำนวน 6 ผล/ถุงขนาด 20×28 เซนติเมตร เก็บได้นาน 35 วัน โดยที่ผลยังไม่สุก

ส่วนถุงฟิล์ม LDPE เจาะรูขนาดไมครอนที่มี OTR 15,000–20,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร/ตารางเมตร/วัน นำมาบรรจุถั่วฝักยาวน้ำหนัก 150 กรัม ขนาดถุง 20×28 เซนติเมตร เก็บรักษาได้นาน 15 วัน และบรรจุมะม่วงน้ำดอกไม้ เก็บรักษาได้นาน 25 วัน โดยไม่พบกลิ่นผิดปกติเมื่อผลสุก

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรบอกอีกว่า การใช้เทคโนโลยีการเก็บรักษาในสภาพบรรยากาศดัดแปลง เพื่อยืดอายุผลิตผลสด หากใช้ฟิล์มบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผลิตผลแต่ละชนิด จะสามารถคงคุณภาพที่ดีของผลิตผล และยืดอายุการเก็บรักษาผลิตผลสดได้นานที่สุด ช่วยลดการสูญเสียผลิตผลหลังการเก็บเกี่ยว ทำให้ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ ตลอดจนผู้ประกอบการค้าปลีกผักและผลไม้มีรายได้เพิ่มขึ้น

กรมวิชาการเกษตรพร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตฟิล์มเจาะรูขนาดไมครอน โดยใช้เลเซอร์มาร์กเกอร์ ให้แก่บริษัทผู้ผลิตฟิล์มยืดอายุผักและผลไม้และผู้ที่สนใจ นำไปใช้ประโยชน์และขยายผลต่อไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร โทร.0-2579-5582.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/news/local/2515981