คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอรายงานผลการดำเนินงานโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ครั้งที่ 1/2565 เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ที่มอบหมายให้ กษ. เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำกับ ติดตามการดำเนินนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่และให้ กษ. รวบรวมข้อมูลและรายงานผลการดำเนินงานให้คณะรัฐมนตรีทราบทุก 3 เดือน
โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการดังกล่าว ซึ่งเกษตรกรรวมตัวกันเป็นกลุ่มการผลิต มีผู้จัดการแปลงเป็นผู้บริหารจัดการพื้นที่ในทุกกิจกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน สามารถลดต้นทุนการผลิต พัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐาน เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและจัดการด้านการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีผลการดำเนินการสรุปได้ ดังนี้
1.ความก้าวหน้าการดำเนินการ
(1) การรับรองและขึ้นทะเบียนแปลงใหญ่ รับรองและขึ้นทะเบียนแล้ว จำนวน 8,955 แปลง เกษตรกร 497,802 ราย และพื้นที่ 8,031,656 ไร่
(2) การสร้างมูลค่าเพิ่ม มีมูลค่าเพิ่มจากการลดต้นทุนการผลิต 31,145.73 ล้านบาท และการเพิ่มผลผลิต 40,429.37 ล้านบาท รวม 71,575.10 ล้านบาท
(3) การพัฒนาคุณภาพ เกษตรกรแปลงใหญ่ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตร รวม 188,493 ราย ดังนี้
1) การผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (Good Agriculture Practices: GAP) จำนวน 148,479 ราย
2) เกษตรอินทรีย์ จำนวน 22,589 ราย
3) การผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน (Roundtable on Sustainable Palm Oil: RSPO) จำนวน 3,323 ราย
4) ระบบชุมชนรับรองแบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee Systems: PGS) จำนวน 14,102 ราย
(4) การตลาด มีการเชื่อมโยงการตลาดของเกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่แบบข้อตกลงล่วงหน้า จำนวน 921 แปลง ตลาดอื่น ๆ จำนวน 8,045 แปลง และตลาดออนไลน์ จำนวน 489 แปลง นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงกับธุรกิจค้าปลีกใหม่ (Modern Trade) และตลาดออนไลน์ จำนวน 17 แปลง
(5) แหล่งน้ำในแปลงใหญ่ ได้รับการสนับสนุนแหล่งน้ำจากกรมชลประทาน จำนวน 80 แห่ง กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จำนวน 138 แห่ง และกรมทรัพยากรน้ำ จำนวน 127 แห่ง
(6) การต่อยอดสู่โครงการระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด แปลงใหญ่ที่ได้รับการพัฒนาด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาดและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมแล้ว จำนวน 3,377 แปลงทั่วประเทศ
2. ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ
เกษตรกรได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทำให้ผลผลิตเกิดความเสียหาย เครื่องจักรกลทางการเกษตรเริ่มเกิดการชำรุดรอการซ่อมบำรุง และเกษตรส่วนใหญ่ไม่ผลิตตามมาตรฐานสินค้าเกษตรเนื่องจากขาดแรงจูงใจจากราคาจำหน่ายที่ไม่แตกต่างจากการผลิตแบบทั่วไป ประกอบกับเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลให้การซื้อขายภายนอกประเทศเกิดความเสียหาย
3.ข้อเสนอแนะ
3.1 กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมหม่อนไหม การยางแห่งประเทศไทย และกรมส่งเสริมสหกรณ์ควรสนับสนุนองค์ความรู้ในด้านการซ่อมบำรุง ดูแลรักษาเครื่องจักรกลทางการเกษตรเพื่อให้เกษตรกรมีใช้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างองค์ความรู้ให้กลุ่มเกษตรกรในการจำหน่ายผลผลิตร่วมกันในรูปแบบต่าง ๆ
3.2 กรมส่งเสริมสหกรณ์ควรหาตลาดที่สามารถขายสินค้าเกษตรปลอดภัยในราคาที่แตกต่างจากการผลิตแบบทั่วไปเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยมากขึ้น