ค้นหา

จากโลกดิจิทัลสู่การพัฒนานวัตกรรมการเกษตร

สยามรัฐออนไลน์
เข้าชม 691 ครั้ง

การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัลเปรียบได้กับการก้าวเข้าสู่โลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่เข้ามาช่วยให้การดำรงชีวิตของมนุษย์มีความสะดวกมากยิ่งขึ้นในทุกมิติ ทั้งด้านการสื่อสาร การแพทย์ การคมนาคม หรือแม้แต่การเกษตรที่ได้ถูกระบุแนวทางการพัฒนาไว้ในยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี ด้านการเกษตรสร้างมูลค่า เกษตรอัจฉริยะ นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนา ก่อให้เกิดการเกษตรยุคใหม่ (Smart Farmer) ซึ่งเป็นการเกษตรแบบดิจิทัล ใช้ในการเก็บข้อมูลสำคัญทางการเกษตร ได้แก่ สภาพดิน สภาพน้ำ ภูมิอากาศ อุณหภูมิ ความชื้น แสงแดด ปุ๋ย พื้นที่เพาะปลูก ฯลฯ และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ประมวลผลเพื่อการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่ซึ่งทำได้อย่างสะดวก รวดเร็ว แม่นยำและมีประสิทธิภาพ

รศ.ดร.สุมาลี อุณหวณิชย์ ตัวแทนคณะผู้ประดิษฐ์  กล่าวว่า ระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) และระบบสมองกลฝังตัว (Embedded System) เช่น หุ่นยนต์ โดรน และระบบอัตโนมัติได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรยุคใหม่ ประหยัดเวลา ประหยัดแรงงาน สามารถควบคุมคุณภาพและผลผลิตให้เป็นที่ต้องการต่อผู้บริโภคและมีความสามารถในการส่งออก จากจุดดังกล่าวเพื่อเป็นการพัฒนานวัตกรรมการเกษตรของประเทศให้ต่อยอดมากยิ่งขึ้น ทางคณะจึงได้นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีการประมวลผลภาพ (Image Processing) มาใช้ในการออกแบบสร้างหุ่นยนต์และสร้างกระบอกฉีดพ่น

ตัวหุ่นยนต์ประกอบด้วยบอร์ด ARDUINO MEGA 2560 เป็นตัวส่งสัญญาณไปยังบอร์ดขับมอเตอร์ (Board Drive) ไร้สายแบบ 2 โหมด สำหรับควบคุมหุ่นให้เคลื่อนที่ไปทางซ้ายและไปทางขวา และนำบอร์ด ARDUINO R3 เป็นตัวรับสัญญาณควบคุมจากคันบังคับแบบไร้สาย (Joy Stick) แล้วส่งสัญญาณไปยังบอร์ด ARDUINO MEGA 2560 เพื่อควบคุมตำแหน่งและทิศทางกระบอกฉีดพ่นได้ตามความต้องการ ให้ใช้กับไม้ยืนต้นที่มีขนาดความสูง 3-5 เมตร  เช่น มะม่วง ชมพู่ ฯลฯ

การหาขนาดต้นไม้มีการติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์สำหรับวัดความสูงและความกว้างของต้นไม้ เพื่อคำนวณหาขนาดต้นไม้ ระยะห่างกระบอกฉีดพ่น ความเร็วการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์ จากนั้นนำค่าที่คำนวณได้แปลงเป็นสัญญาณส่งไปควบคุมตำแหน่งและทิศทางกระบอกฉีดพ่นได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ปริมาณสารฉีดพ่นจะถูกกำหนดอย่างเหมาะสมกับขนาดต้นไม้แต่ละต้น ทำให้ลดการใช้แรงงานคน ลดสารฉีดพ่นตกค้างในสภาพแวดล้อม ลดระยะเวลาทำงาน ลดความเสี่ยงอันตรายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งตัวหุ่นยนต์ทำงานผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนสามารถสั่งงานได้จากทุกๆ ที่ ผู้ใช้งานสามารถวางแผนการทำงานตามระยะเวลาและปริมาณที่กำหนด สามารถติดตามสภาวะและแก้ไขปัญหาต่างๆ ในพื้นที่เพาะปลูกได้อย่างรวดเร็ว จะเห็นได้ว่าการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนานวัตกรรมให้เกิดประโยชน์กับงานด้านเกษตรกรรม ทำให้เกษตรกรได้ใช้เครื่องมือทางเกษตรที่มีความแม่นยำสูง ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ช่วยคืนคุณภาพชีวิตดี ๆ ให้กับเกษตรกรยุคใหม่ (Smart Farmer)

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://siamrath.co.th/n/391429