ค้นหา

จบ ป. โท จากอังกฤษ สู่การเป็นเกษตรกรยุคใหม่ พัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์ “แป้งกล้วย” สร้างมูลค่า

เทคโนโลยีชาวบ้าน
เข้าชม 434 ครั้ง

กล้วย ผลไม้มากประโยชน์ ที่ไม่ว่าจะเป็นส่วนต้น ใบ ปลี และผล ก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด นอกจากนี้ ยังสามารถนำมาแปรรูปสร้างมูลค่าได้อีกหลากหลายผลิตภัณฑ์ ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละคน ซึ่งผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วยที่พบเห็นกันบ่อย ก็จะมี กล้วยตาก กล้วยอบ กล้วยชุบช็อกโกแลต รวมถึงการนำกล้วยมาเป็นท็อปปิ้งในเมนูของหวานให้เห็นกันจนชินตา

แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นเกษตรกรไทยแล้วความสามารถและหัวคิดสร้างสรรค์ย่อมไม่แพ้ชาติใด เพราะล่าสุดได้มีเกษตรกรรุ่นใหม่ดีกรีจบปริญญาโทจากประเทศอังกฤษ กลับมาพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วย ให้มีความหลากหลายมากขึ้น และสร้างคุณค่าให้กล้วยมากกว่าเดิม คือ การทำแป้งกล้วย โดยการนำกล้วยที่มีอยู่ในสวนมาแปรรูปให้เกิดมูลค่าสูงสุด และแป้งกล้วยยังเป็นแป้งเพื่อสุขภาพ สำหรับคนที่เป็นเบาหวาน และคนที่แพ้กลูเตนสามารถรับประทานได้อีกด้วย

คุณวรวรรณ ธำรงวรางกูร หรือ คุณจอย อยู่บ้านเลขที่ 82 หมู่ที่ 3 ตำบลท่าช้าง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์คนเก่งนครนายก พ่วงด้วยดีกรีจบปริญญาตรีนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท International Marketing Management University of Leeds ประเทศอังกฤษ นับได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศทั้ง 2 ที่ แต่อะไรคือจุดที่ทำให้นักเรียนนอกหันมาสนใจงานเกษตร และมุ่งมั่นที่จะเอาดีทางด้านนี้อย่างไม่ลังเล ตามมาหาคำตอบกัน
คุณจอย เล่าถึงจุดเริ่มต้นของชีวิตการเป็นเกษตรกรว่า หลังจากตนเรียนจบจากอังกฤษ มีโอกาสได้ทำงานตามสายที่เรียนมาเพียงระยะเวลาสั้นๆ เพราะรู้สึกเครียดกับงานที่ทำมากเกินไป จึงมีความคิดที่อยากออกจากงานประจำมาทำธุรกิจส่วนตัว ประกอบกับที่ช่วงนั้นคุณพ่อคุณแม่เริ่มมีอายุมากขึ้น ท่านอยากจะขยับขยายออกจากกรุงเทพฯ มาใช้ชีวิตบั้นปลายที่ต่างจังหวัด

พอดีกับที่บ้านมีที่ดินอยู่ที่จังหวัดนครนายก ตนและครอบครัวจึงถือโอกาสย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่นี่ บนพื้นที่ 5 ไร่ มีแหล่งธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ จึงอยากจะทดลองทำการเกษตร แต่ด้วยความที่ตนไม่มีความรู้ในเรื่องของงานเกษตรเลย จึงเริ่มศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการปลูกผัก ซึ่งในตอนนั้นการปลูกผักมีหลายแขนงด้วยกัน ทั้งผักไฮโดรโปนิกส์ ผักอินทรีย์ รวมถึงเคมี

แต่ด้วยความที่ไม่มีความรู้ด้านใดมาก่อน ตนจึงทำตัวเหมือนน้ำไม่เต็มแก้ว ไม่ปิดกั้นเพียงด้านใดด้านหนึ่ง ศึกษาไปเรื่อยๆ จนไปเจอกับหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อว่า “สิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้นที่ไร่” จึงได้เริ่มศึกษาการทำเกษตรจากหนังสือเล่มนี้ รวมถึงการเข้าไปศึกษาถึงที่สวน จนเกิดความประทับใจเหมือนได้เปิดโลก และได้ไอเดียกลับมาว่า ไม่ว่าจะทำเกษตรแบบไหน ก็ควรต้องมีการแปรรูปเกิดขึ้น จะขายผลสดอย่างเดียวไม่ได้ จึงเก็บไอเดียนี้ไว้ในใจแล้วกลับมาบอกที่บ้านว่า จะทำเกษตรอินทรีย์ ช่วยกันทำกับพี่สาว 2 คน

เริ่มต้นด้วยการลงไม้ผล มะพร้าว กล้วย มะนาว ซึ่งผลไม้เหล่านี้กว่าจะทำรายได้เวลาเป็นปี จึงอยากที่จะหารายได้ให้เร็วขึ้น จนได้ไอเดียการปลูกผักสลัดมา เพราะว่าในตอนนั้นเมื่อเกือบ 5 ปีที่แล้วในจังหวัดนครนายกยังไม่มีใครปลูกผักอินทรีย์กลางแจ้ง ตนและพี่สาวจึงตัดสินใจจะปลูกผักสลัดสร้างรายได้เสริม แต่เมื่อปลูกไประยะแรกก็ดี แต่ช่วงหลังเริ่มเกิดปัญหาและเจ๊งลงในที่สุด ซึ่งตอนที่ผักเริ่มมีปัญหาโชคดีกล้วยที่ปลูกไว้ตอนแรกเริ่มออกพอดี พอกล้วยเริ่มออกก็ต้องไปดูแลกล้วยมากขึ้น คิดต่อไปอีกว่าจะทำอย่างไรกับกล้วยที่ออกมากว่า 500 ต้น ผลผลิตออกมาไล่ๆ กัน

แรกๆ มีความคิดว่าจะขายผลสดไปพร้อมกับผัก แต่ผลผลิตออกมาเยอะมากขายไม่หมด หากนำไปขายส่งราคาก็ถูกมาก จึงกลับมาย้อนไปที่หนังสือบอกไว้ว่า ต้องแปรรูป จึงกลับมาคิดอีกว่าปกติกล้วยนำมาแปรรูปเป็นอะไรได้บ้าง จนได้ไอเดียที่เกิดจากที่บ้านชอบกินกล้วยอยู่แล้ว ก็เลยดูว่าที่บ้านกินกล้วยตาก กล้วยทอด กล้วยฉาบ หลายๆ อย่าง แต่ไปสะดุดกับกล้วยตากที่กินได้เพียง 1-2 ชิ้น จะรู้สึกอิ่ม กินไม่เพลิน ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับกล้วยเล็บมือนางจะกินได้เพลินกว่า จึงมองว่าจะทำอย่างไรให้กล้วยอบของเรากินได้เพลินเหมือนกล้วยเล็บมือนาง นี่คือโจทย์ข้อแรกของการเริ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกล้วย

จากนั้นได้มีการทดลองทำมาเรื่อยๆ ประกอบกับผักที่ปลูกเริ่มจะไปไม่รอด จึงมีเวลาโฟกัสกับกล้วยเต็มที่ ตนกับพี่สาวลงมือทำกันเอง 2 คน ทุกขั้นตอน โดยที่ยังไม่มอบหมายงานให้กับคนงาน จนชำนาญรู้แล้วว่ากล้วยแบบไหนเหมาะกับการนำมาแปรรูปทำกล้วยอบแล้วจะอร่อย จนได้เป็นผลิตภัณฑ์กล้วยอบออกมาเป็นผลิตภัณฑ์แรก และต่อยอดเพิ่มมาเป็นผลิตภัณฑ์ “แป้งกล้วย” และยังมีการนำแป้งกล้วยมาทำเบเกอรี่สำหรับท่านที่เป็นเบาหวาน หรือท่านที่แพ้กลูเตนสามารถกินได้อีกด้วย

“แป้งกล้วย” ผลิตภัณฑ์เด่น ฝีมือเกษตรกรรุ่นใหม่
สร้างอนาคตอุตสาหกรรมการแปรรูปจากกล้วย

เจ้าของบอกว่า ผลิตภัณฑ์แป้งกล้วย เกิดขึ้นจากการต่อยอดมาจากกล้วยอบ เนื่องจากการทำกล้วยอบของธำรงฟาร์ม จะมีในส่วนของกล้วยที่ไม่สามารถนำมาอบได้ ซึ่งคือกล้วยที่มีขนาดผลเล็กหรือใหญ่ไป รวมถึงพันธุ์กล้วยบางชนิดที่ไม่เหมาะกับการนำมาทำกล้วยอบ ที่ฟาร์มก็จะนำกล้วยส่วนนี้ไปให้เป็ดกิน แต่เนื่องจากบางครั้งกล้วยมีปริมาณมากเกินไป เป็ดกินไม่หมดก็ต้องนำไปทิ้ง จึงเกิดความเสียดาย พยายามคิดหาวิธีการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่น

จนได้ไปเห็นข่าวสารที่ทางอุตสาหกรรมจังหวัดเปิดรับสมัครผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาแปรรูปสินค้าของตัวเอง ตนจึงเขียนบรรยายรายละเอียดของฟาร์มไป และได้รับคัดเลือก จากนั้นทางเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดจึงเข้ามาช่วยดูว่าที่ฟาร์มมีผลผลิตอะไรบ้าง จะสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นอะไรได้บ้าง เมื่อเขาเห็นว่าที่ฟาร์มมีกล้วยเยอะ เขาจึงแนะนำว่า จริงๆ แล้วกล้วยสามารถนำมาทำเป็นแป้งได้ ตนและพี่สาวมีความคิดเห็นตรงกันว่าแปรรูปออกมาเป็นแป้งกล้วย เป็นอะไรที่น่าสนใจมาก จึงตอบตกลงไปว่าสนใจ อยากที่จะทำโปรเจ็กต์นี้ ทางเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมรวมถึงนักวิชาการจึงได้เข้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์แป้งกล้วยจนสำเร็จขึ้นมาวางขายเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 62 มาถึงปัจจุบันก็เป็นเวลา 1 ปี พอดี

จริงจังกับการทำงาน

สำหรับการเริ่มเปิดตลาดแป้งกล้วย ผลตอบรับดี แต่การตลาดถือว่ายังไม่หวือหวามากนัก ส่วนหนึ่งมาจากที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่รู้จักแป้งกล้วยในส่วนที่เป็นเครื่องดื่มที่มีสรรพคุณแก้โรคกระเพาะมากกว่าผู้บริโภคที่รู้จักการนำมาประกอบอาหารหรือทำขนมยังน้อยมาก จึงมีการทำตลาดโดยการนำไปเปิดตัวที่งานออร์แกนิก เอ็กซ์โป กระแสตอบรับถือว่าดี ดำเนินมาเรื่อยจนกระทั่งเกิดโควิด-19 ก็ต้องหยุดออกงานอีเว้นท์ไป แต่ก็ยังมีลูกค้าประจำที่เคยซื้อไปใช้แล้วกลับมาซื้อซ้ำ

แต่ในส่วนของการเปิดตลาดใหม่ยังทำได้ไม่มาก เพราะคนส่วนมากยังไม่รู้ว่าแป้งกล้วยทำอะไรได้บ้าง ทางฟาร์มจึงต่อยอดจากขายแป้งกล้วยอย่างเดียว ก็เพิ่มทำมาเป็นเบเกอรี่ที่ทำมาจากแป้งกล้วยไปให้ชิมด้วยว่าแป้งกล้วยสามารถนำมาทำขนมได้ รสชาติเป็นอย่างไร เนื้อสัมผัสเป็นอย่างไร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าว่าผลิตภัณฑ์แป้งกล้วยของเราดี มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และสามารถนำไปประกอบอาหารได้จริง

แป้งกล้วย ทำอะไรได้บ้าง?

คุณจอย บอกว่า แป้งกล้วย สามารถนำมาทำขนมได้เหมือนกับแป้งทั่วไป ทำคุกกี้ บราวนี่ วาฟเฟิล แพนเค้ก เค้ก แต่อาจจะได้เนื้อสัมผัสที่ต่างจากแป้งสาลี แป้งกล้วยถือเป็นแป้งทางเลือกสำหรับคนที่แพ้กลูเตน หรือคนที่เป็นเบาหวานสามารถกินได้ เพราะตัวแป้งมีสรรพคุณที่ดี มีไฟเบอร์สูง น้ำตาลต่ำ ไม่มีกลูเตน เมื่อเปรียบเทียบกับแป้งสาลี คือเมื่อกินแป้งสาลีไป 100 เปอร์เซ็นต์ จะเปลี่ยนจากแป้งเป็นน้ำตาล แต่แป้งกล้วย 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นน้ำตาล อีก 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นไฟเบอร์ที่ช่วยปรับสมดุลในกระเพาะได้ ทำให้อยู่ท้อง

รสชาติ… เนื้อสัมผัสจะต่างจากแป้งสาลี อย่างเช่นนำมาทำคุกกี้ แป้งกล้วยจะไม่สามารถนำมาทำเป็นคุกกี้กรอบได้ และไม่นิ่มขนาดซอร์เบท์ จะเป็นกึ่งกลางระหว่างกัน แต่จะมีเอกลักษณ์พิเศษคือไม่มีกลูเตน หรือถ้าผู้บริโภคต้องการให้สัมผัสคล้ายการใช้แป้งสาลีก็จะแนะนำให้ใช้แป้งกล้วยในสัดส่วน 75 กรัม ต่อแป้งสาลี 25 กรัม

กลุ่มลูกค้า… ด้วยความที่แป้งกล้วยมีราคาค่อนข้างสูง ก็จะเป็นลูกค้าที่เป็นคุณแม่ที่มีลูกแพ้กลูเตน หรือเป็นคนที่รักสุขภาพ พยายามเลือกสรรวัตถุดิบที่ดีต่อร่างกาย ทดแทนแป้งสาลี

ขั้นตอนการทำแป้งกล้วย

  1. นำกล้วยดิบมาปอกเปลือกแล้วล้างให้สะอาด และที่สำคัญคือไม่ใช่ว่ากล้วยทุกลูกจะใช้ได้ เพราะถ้าสุกเกินไปก็ไม่ออกมาเป็นแป้ง เพราะฉะนั้นกล้วยต้องพอดี เริ่มเหลืองก็ไม่ได้ ผิวเริ่มนิ่มก็ไม่ได้ คือต้องประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น
  2. นำมาหั่น แล้วนำไปใส่ตู้อบนาน 8 ชั่วโมง จนแห้ง
  3. นำมาปั่น แล้วร่อนออกมาให้ได้ความละเอียดที่เพียงพอต่อการเป็นแป้งเบเกอรี่
  • สัดส่วนการแปรรูป… กล้วย 1 หวี ที่เห็นหนักๆ เมื่อนำมาทำแป้งแล้วเหลือแค่นิดเดียว ยกตัวอย่างเช่น แป้งกล้วยปริมาณ 700 กรัม ต้องใช้กล้วยประมาณ 10 หวี ถ้านับเป็นกิโลก็ใช้ประมาณเกือบ 10 กิโลกรัม ถึงจะได้แป้งออกมา 700 กรัม แป้งกล้วยจึงมีราคาค่อนข้างสูง เพราะต่อให้ต้นทุนค่ากล้วยหวีละ 10 บาท ต้นทุนก็เป็น 100 บาทแล้ว ยังไม่รวมต้นทุนในส่วนอื่นๆ ด้วยราคา… มี 2 ขนาด
  • ถุงเล็ก บรรจุ 300 กรัม ราคา 250 บาท
  • 2. ถุงใหญ่ บรรจุ 700 กรัม ราคา 550 บาท

ปริมาณการผลิต… โดยเฉลี่ยต่อเดือนสามารถผลิตแป้งกล้วยได้ 40 กิโลกรัม ยังถือว่าผลิตได้น้อยมาก เพราะฉะนั้นการที่จะนำฝากขายที่อื่นยังทำไม่ได้ เพราะยังผลิตได้ไม่มากพอ จะเน้นขายเองเป็นหลัก และเจาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการสินค้าเราจริงๆ

รายได้ต่อเดือน… ช่วงที่ยังไม่เกิดโควิด-19 มีรายได้ 70,000 บาทขึ้นไป และคิดว่าตนเองคิดไม่ผิดที่ตัดสินใจมาเป็นเกษตรกร เพราะถือว่าคุ้มค่ามากๆ และคิดว่ายังมีอะไรอีกหลายอย่างที่ยังต่อยอดไปได้อีก อย่างเช่นตอนนี้ที่ฟาร์มยังใช้ประโยชน์จากกล้วยได้ไม่มากพอ ยังใช้ได้แค่ผล แต่ในอนาคตอยากต่อยอดสร้างมูลค่าจากหัวปลี หรือแม้กระทั่งกับต้นกล้วย ใบกล้วย ซึ่งมีการวางแผนที่จะทำภายใน 1-2 ปีนี้ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กล้วยแต่ละต้นมีมูลค่าที่สูงขึ้นจากเดิม

การหาตลาด… ต้องกำชับว่าก่อนที่จะทำผลิตภัณฑ์ขึ้นมาสักอย่าง ผู้ผลิตจะต้องสร้างกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจนขึ้นมาก่อน คือต้องวางตลาดขึ้นมาก่อน แล้วค่อยๆ พัฒนา ทำผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าที่ตั้งไว้ ยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ กล้วยอบ และแป้งกล้วย ของธำรงฟาร์ม ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ ราคา หรือสถานที่ออกงานอีเว้นท์ รวมถึงเรื่องราวต่างๆ ที่สื่อออกมาจะไปแมทช์กับกลุ่มลูกค้าทั้งหมด เพราะฉะนั้นกลุ่มลูกค้าของเราไม่ค่อยมีปัญหา ณ ปัจจุบัน อย่างกล้วยอบเราไม่มีสต๊อกเลย เรียกได้ว่าทำมาเท่าไรก็ยังไม่พอขาย

ฝากถึงเกษตรกร การจดบันทึก
บัญชีรายรับ-รายจ่าย สำคัญมาก

“สิ่งที่อยากฝากไว้คือ การทำบัญชีจดบันทึกรายรับ รายจ่าย รวมถึงข้อมูลสภาพดิน ฟ้า อากาศ หรือภัยธรรมชาติ ว่าในแต่ละปีเป็นแบบไหน เจอแบบไหนมาบ้าง ไปออกงานมาแต่ละที่เป็นอย่างไร คือต้องจดให้ละเอียด แต่สิ่งที่ต้องมีคือรายรับ รายจ่าย เพราะถ้าคุณไม่มีตรงนี้ คุณจะไม่รู้เลยว่า สิ่งที่ทำอยู่มันมีกำไรหรือขาดทุน หรือถ้าขาดทุน ขาดทุนเพราะอะไร เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญที่สุดสำหรับการทำ ธำรงฟาร์ม การที่เราบอกว่าเราทำผักเจ๊งเพราะว่าเรามีรายรับ รายจ่าย แต่ถ้าไม่มีข้อมูล เราอาจจะหลอกตัวเองไปเรื่อย จนเป็นหนี้สินก็ได้” คุณจอย กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือหากท่านใดสนใจอยากแวะเข้ามาเยี่ยมชม ธำรงฟาร์ม คุณจอยเน้นย้ำมาว่า ต้องโทร.นัดแนะกันก่อนล่วงหน้า ที่เบอร์โทร. 089-979-9791

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_160538