ค้นหา

ทุเรียนเบตงนำร่องเกษตรมูลค่าสูง

ไทยรัฐออนไลน์
เข้าชม 369 ครั้ง

ภาคเกษตรถูกกำหนดเป็นหมุดหมายที่ 1…ไทยต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตจากผลิตมากแต่สร้างรายได้น้อยไปสู่การผลิตสินค้าคุณภาพสูง ผลิตน้อยแต่สร้างรายได้มาก

แต่ที่ผ่านมาบ้านเรายังมีจุดอ่อน ข้อจำกัด และอุปสรรคมากมาย อาทิ ขาดน้ำ เพาะปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสม ขาดการเชื่อมโยงในรูปแบบคลัสเตอร์ตลอด ความไม่สอดคล้องของดีมานด์กับซัพพลาย การผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบหรือแปรรูปผลิตภัณฑ์มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ความตระหนักของผู้ผลิตและผู้บริโภคเกี่ยวกับการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ที่เฉพาะเจาะจงยังมีการใช้ไม่มาก

“เหตุที่ยกเอาทุเรียนเบตงมาเป็นต้นแบบ เพราะมีจุดเด่นเรื่องคุณภาพมาบวกกับลักษณะพิเศษทางภูมิสังคม มีพื้นที่เป็นที่ราบสูงเนินเขา ลุ่มน้ำ พื้นที่ทั่วไปสูงกว่าระดับน้ำทะเลราว 1,900 ฟุต ฝนตกเฉลี่ย 135 วันต่อปี อากาศหนาวเย็น มีสายหมอก และมีบ่อน้ำร้อน จึงทำทุเรียนมีรสชาติอร่อยขึ้นชื่อจนกลายเป็นอีกหนึ่งของดีชายแดนใต้ ซึ่งเราต้องพัฒนายกระดับให้ได้ตามแผน ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ จากนั้นพัฒนาไปสู่ทุเรียนของยะลาทั้งจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกรวม 82,000 ไร่ โดยได้คัดเลือกสวนเฮียเต๋อ ทุเรียนเบตง สวนทุเรียนจีเอพีดีเด่นภาคใต้ตอนล่างเป็นต้นแบบนำร่อง”

นายธัชธาวินท์ สะรุโณ อดีตผู้เชี่ยวชาญสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 (สวพ.8) กรมวิชาการเกษตร อธิบายถึงแผน 13 ด้านเกษตร ที่วางเป้าหมายพัฒนาเพิ่มมูลค่าทุเรียนเบตงเป็นสินค้านำร่อง…เรามีความตั้งใจเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ให้เกษตรกรมีรายได้สุทธิต่อครัวเรือนไม่ต่ำกว่า 537,000 บาทต่อปี รวมถึงมีพื้นที่ทำเกษตรกรรมยั่งยืนเพิ่มขึ้น พัฒนาสู่ทุเรียนจีไอ ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบบริหารจัดการเพื่อคุณภาพ เพิ่มศักยภาพและบทบาทของผู้ประกอบการเกษตรในฐานะ หุ้นส่วนเศรษฐกิจของห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับส่วนแบ่งประโยชน์อย่างเหมาะสมเป็นธรรม โดยใช้กลยุทธ์การพัฒนาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ขยายผลรูปแบบเกษตรยั่งยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยกระดับขีดความสามารถของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร และพัฒนากลไกเพื่อเชื่อมโยงภาคีต่างๆทั้งภาคเอกชน ส่วนราชการ กลุ่มเกษตรกร นักวิชาการในพื้นที่

ทุเรียนเบตงนำร่องเกษตรมูลค่าสูง
ทุเรียนเบตงนำร่องเกษตรมูลค่าสูง

วิสุทธิ์ โชตน์ธนานันต์ เจ้าของสวนเฮียเต๋อ ทุเรียนเบตง เกษตรกรดีเด่น จ.ยะลา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับทุเรียนเบตง…แม้จะ ขึ้นชื่อเป็นของดีชายแดนใต้ แต่ขณะนี้ผลผลิตโดยรวมประสบปัญหาเสียหายจากการเข้าทำลายของ
หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน 5,710 ตัน คิดเป็นร้อยละ 24 ของผลผลิต มีทุเรียนเกรด A และ B แค่ 11% แต่ที่สวนเราฤดูที่ผ่านมา ผลผลิตรอบที่ขายส่งออก 18 ตัน พบหนอนในผลทุเรียนแค่ 8 ลูก (0.1%) เพราะมีการบริหารจัดการที่ดี พิถีพิถัน เน้นผลิตทุเรียนเกรดพรีเมียม การันตีเรื่องความอร่อย และยินดีให้ข้อมูลการจัดการสวนแก่เกษตรกรทุกคน

สำหรับแนวทางการทำทุเรียนเบตงเกรดพรีเมียม เฮียเต๋อแนะนำ…ช่วงกันยายน สำรวจการระบาดศัตรูพืช กำจัดวัชพืช และตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ต้นละ 12.5 กก. จากนั้น 4–5 วัน ใส่ปูนขาว และโดโลไมต์ต้นละ 5 กก. และปุ๋ยสูตร 15–0–0 ต้นละ 4–5 กก. ถัดมาอีก 15 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 15–15–15 ต้นละ 3–5 กก. หมั่นสำรวจการระบาดศัตรูพืช และกำจัดวัชพืชอยู่เสมอตลอดการปลูก เดือนต่อมาฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพ และให้ปุ๋ยแบบเดือนที่ผ่านมา แต่เพิ่มใส่แมกนีเซียมเพิ่มต้นละ 1.5 กก.

เมื่อถึงพฤศจิกายนให้ฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพ เว้นระยะให้ปุ๋ย 1 เดือน เพื่อทำการพักต้น พอถึงธันวาคม ให้ฉีดพ่นฮอร์โมน และใส่โบรอนต้นละ 400 กรัม ตามด้วยแมกนีเซียมต้นละ 1 กก. เข้าสู่ปีใหม่ เปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยสูตร 8-24-24 ต้นละ 1.5 กก. ถัดมาอีก 15 วัน ใส่ปุ๋ยสูตรและปริมาณเท่าเดิมอีกครั้ง เดือนถัดมาเน้นการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ และสำรวจการติดดอก เข้าสู่มีนาคม ให้ฉีดพ่นฮอร์โมน และหากพบแมลงศัตรูพืชให้พ่นสารเคมีกำจัด จนถึงเดือนปีใหม่ไทยให้ใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 ต้นละ 1.5 กก. พร้อมฉีดพ่นฮอร์โมน หรือพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และให้หยุดการใช้สารเคมีก่อนการเก็บเกี่ยว 1 เดือน ช่วงเวลาต่อมาหมั่นรดน้ำให้สม่ำเสมอ และสำรวจการระบาดศัตรูพืช กระทั่งถึงกันยายน เดือนแห่งการเก็บเกี่ยวผลผลิตออกจำหน่าย.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/news/local/south/2537721