ค้นหา

กวก.โชว์ผลงานชีวภัณฑ์ ลดต้นทุนทดแทนสารเคมี

ไทยรัฐออนไลน์
เข้าชม 460 ครั้ง

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยถึงการขับเคลื่อนการใช้ชีวภัณฑ์ทดแทนการใช้สารเคมีทางการเกษตร ที่ผ่านมาชีวภัณฑ์ของกรมวิชาการเกษตรได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกรปลูกไม้ผลและพืชผัก สามารถป้องกันได้ทั้งแมลงศัตรูพืช และโรคพืชหลายชนิด

มีตั้งแต่ ราเขียวเมตาไรเซียม ที่สามารถทำลายด้วงแรด ศัตรูที่สำคัญในมะพร้าวและพืชตระกูลปาล์ม ได้ทั้งในระยะตัวหนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย โปรโตซัวกำจัดหนู ใช้กำจัดได้ทั้งหนูบ้านและหนูศัตรูพืช เชื้อราไตรโคเดอร์มา ใช้ควบคุมโรคตายพรายของกล้วย

ไส้เดือนฝอยศัตรูแมลงชนิดผง ใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด เช่น ด้วงหมัดผัก หนอนเจาะเห็ด หนอนกินใต้ผิวเปลือกลองกอง และด้วงงวงมันเทศ เป็นต้น เชื้อแบคทีเรียบีที เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ใช้ในการควบคุมหนอนผีเสื้อศัตรูพืช เช่น หนอนใยผัก หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนเจาะยอดกะหล่ำ หนอนกระทู้ผัก หนอนกระทู้หอม และหนอนหัวดำมะพร้าว เป็นต้น

ไวรัสเอ็นพีวี ใช้ควบคุมศัตรูพืชได้ 3 ชนิด ได้แก่ หนอนกระทู้ผัก หนอนกระทู้หอม และหนอนเจาะสมอฝ้าย เชื้อแบคทีเรียบีเอส ใช้ควบคุมโรคแอนแทรคโนสในพริก มะม่วง ควบคุมโรคใบจุดพืชตระกูลกะหล่ำ และควบคุมโรคเหี่ยวจากแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี ใช้ควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมในพืชผัก ไม้ผล และพืชไร่ และ โรครากเน่าโคนเน่าของทุเรียน

มวนพิฆาต ใช้ในการควบคุมหนอนศัตรูพืชได้หลายชนิดโดยเฉพาะศัตรูพืชในกลุ่มหนอนผีเสื้อ เช่น หนอนกระทู้ผัก หนอนกระทู้หอม หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนแก้วส้ม หนอนหัวดำมะพร้าว หรือแม้กระทั่งศัตรูพืชในระยะดักแด้ แตนเบียนไข่ ใช้ในการควบคุมแมลงศัตรูพืชหลายชนิดในระยะไข่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนกออ้อย หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด หนอนใยผัก หนอนคืบกะหล่ำปลี หนอนคืบ หนอนแก้วส้ม และหนอนกอแถบลาย เป็นต้น แตนเบียนอะซีโคเดส ฮิสไพนารัม ใช้ในการควบคุมหนอนแมลงดำหนามมะพร้าว

แตนเบียนเตตระสติคัส บรอนทิสปี สามารถเข้าทำลายหนอนแมลงดำหนามมะพร้าว วัยที่ 4 และดักแด้แมลงดำหนามมะพร้าว แต่จะชอบแตนเบียนระยะดักแด้มากที่สุด แตนเบียน โกนิโอซัส นีแฟนติดิส เป็นแมลงศัตรูธรรมชาติที่ใช้ในการควบคุมหนอนหัวดำมะพร้าว แตนเบียนอะนาไกรัส โลเปไซ ใช้ในการควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู แมลงช้างปีกใส มีประโยชน์ช่วยกำจัดศัตรูพืชที่มีขนาดเล็ก ได้แก่ เพลี้ยแป้ง เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ เพลี้ยหอย ตัวอ่อนแมลงหวี่ขาว หนอนตัวเล็กๆ ไรแดง และไข่ของแมลงศัตรูพืชหลายชนิด แมลงหางหนีบสีดำ ใช้ควบคุมไข่และตัวหนอนของผีเสื้อชนิดต่างๆ เช่น หนอนกออ้อย รวมถึงเพลี้ยอ่อน และแมลงขนาดเล็กชนิดอื่นที่มีลำตัวอ่อนนิ่ม

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรย้ำว่า การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชีวภัณฑ์เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้เอง ช่วยลดต้นทุนการผลิตพืชได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 และสร้างกำไรเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 30-40 เกษตรกรที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร.0-2579- 5583 ต่อ 116 หรือ 117 ในวันเวลาราชการ.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/news/2542706