ค้นหา

ทางเลือก…บนทางรอด ของเกษตรกรไทย

เทคโนโลยีชาวบ้าน
เข้าชม 421 ครั้ง

วันนี้และวันหน้า ภาคเกษตรไทยจะไปทางไหน เกษตรกรจะอยู่รอดกันอย่างไร จะลืมตาอ้าปากกันได้เมื่อไร จะหลุดพ้นภาระหนี้สินกันตอนไหน เริ่มเป็นหนี้จากรุ่นพ่อ ส่งต่อถึงรุ่นลูก พันผูกไปถึงลูกหลาน นั่นคือ สมการความยากจนโดยแท้จริง

ปฐมเหตุแห่งปัญหาซ้ำซ้อน ไล่เรียงมาตั้งแต่คำถามที่ว่าเกษตรกรแต่ละคนผลิตอะไร ต้นทุนเท่าไร ขายได้ไหม ขายหมดไหม ขายให้ใคร ราคาเท่าไร คุ้มกับต้นทุนไหม เกษตรกรขาดทุนหรือมีกำไรกันแน่ แล้วใครเป็นคนมารับซื้อสินค้าเหล่านี้ไป ซื้อไปทำอะไร ขายต่อเป็นสินค้าขั้นปฐมภูมิหรือนำไปแปรรูป แปรรูปเป็นสินค้าอะไร คนซื้อสินค้าเกษตรหรือสินค้าแปรรูปคนสุดท้ายนั้นเป็นใคร?

คำถามและคำตอบเหล่านี้แหละที่เกษตรกรผู้ผลิตที่ต้นน้ำส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้คิดกัน เกษตรกรไทยกี่ช่วงอายุคนมาแล้วที่ยังคงผลิตสินค้าแบบเดิมๆ ซ้ำๆ กันมาแบบนี้ จากรุ่นปู่ย่าตายายทำกันอย่างไร เดี๋ยวนี้ก็ยังทำกันแบบนั้นอยู่หรือไม่…ถ้ายังเป็นนั้นอยู่ก็คงจะรอดยากสำหรับภาคเกษตรไทยครับ

ถ้าจะจัดช่วงในการผลิตทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ก็ตาม เราก็จะแบ่งได้เป็น 3 ช่วงหลักๆ ที่เรียกกันว่า ห่วงโซ่การผลิตหรือ Supply Chain นั่นคือ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ นั่นเองครับ

เราลองมาดูกันว่า ทำไมเกษตรกรไทยจึงทำการผลิตแล้วจึงไม่คุ้มทุน

ที่ผ่านมาเกษตรกรไทยส่วนมากแล้วเราจะเป็นผู้ผลิตต้นน้ำเท่านั้น เมื่อผลิตแล้วก็ขายขาดไปให้ผู้ซื้อทันทีเลย จบกันตรงนี้เป็นส่วนใหญ่ และตลาดก็เป็นของผู้ซื้อตลอดมาจริงๆ ผู้ซื้อจะซื้อราคาเท่าไร ผู้ขายก็ไม่มีอำนาจต่อรอง ไม่ขายก็ต้องขาย ผลผลิตหลายประเภทเก็บไว้ก็เสียหาย จึงต้องจำใจขาย แล้วไปเสี่ยงกับการผลิตรอบใหม่กัน เพราะเกษตรกรมักคิดว่า คราวนี้ราคาไม่ดี คราวหน้าอาจจะดีขึ้น จะเปลี่ยนการผลิตก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะถนัดแต่การผลิตชนิดเดิมๆ ที่เคยทำมา จึงจำใจเสี่ยงกันไปแบบไม่มีข้อมูลอะไรมากนัก ทำตามๆ กันไป เคยทำอย่างไรก็ทำไปแบบนั้นเรื่อยมา ดังนั้น จึงจะขอกล่าวถึงเรื่องสำคัญเบื้องต้นก่อนทำการผลิตที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือข้อมูลต่างๆ ที่เป็นสาระสำคัญในการผลิตนั่นเอง

ดังนั้น อย่าทำตามๆ กันไป หรือทำตามใจเราเองด้วยความคุ้นเคยแบบเดิมๆ กันเลย ต้องรู้จริงจึงจะรอด…รู้ว่าพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ชนิดไหน มีคุณสมบัติอะไร จุดเด่นจุดด้อยเป็นอย่างไร อัตราการเจริญเติบโตเป็นอย่างไร แบบไหน เช่น ถ้าจะเลี้ยงวัวพันธุ์ไทยให้ได้น้ำหนัก 1 ตัน มันก็คงเป็นไปไม่ได้ด้วยพันธุกรรมวัวไทย เป็นต้น

ข้อมูลที่สำคัญสำหรับการผลิต

ปัจจุบันเกษตรกรและบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงโลกโซเชียลได้อย่างง่ายดาย เกษตรกรและคนในครอบครัวมีโทรศัพท์มือถือ มีสมาร์ทโฟน อยากรู้อะไร ข้อมูลอยู่ที่ปลายนิ้ว ถ้าเกษตรกรอยากรู้อะไร ก็สามารถรู้ได้ทันทีจากข้อมูลที่มีอยู่มากมาย แต่ทำไมเกษตรกรไทยจึงยังสอบถามพ่อค้าปุ๋ยและสารบำรุงพืชว่า ปุ๋ยสูตรไหนดี ยายี่ห้ออะไรใช้ได้ดี ทั้งๆ ที่ตนเองก็ทำเกษตรมาก่อน จึงควรจะมีความรู้และมีข้อมูลที่เพียงพอที่จะตัดสินใจได้ ดังนั้น การมีข้อมูลที่ถูกต้องเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญยิ่งสำหรับเกษตรกรยุคใหม่ครับ

ข้อมูลที่สำคัญเรื่องการตลาด

ข้อมูลส่วนนี้ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เรามักจะได้ยินคำว่า ตลาดนำการผลิต…หรือผลิตแล้วขายได้หมด…ดังนั้น ถ้าเกษตรกรทำการผลิตอะไรแล้วไม่รู้มาก่อนว่าตลาดจะไปทิศทางไหน ความต้องการมีมากน้อยเพียงใด ถ้าไม่รู้เลย หรือความรู้ด้านการตลาดไม่เพียงพอ นั่นหมายถึงความเสี่ยงรออยู่ข้างหน้าเต็มๆ ปัญหามารออยู่ที่ปลายทางแล้ว ข้อมูลเหล่านี้หาได้ทั่วไปจากสื่อโซเชียลเช่นกัน มีข้อมูลจากส่วนราชการ จากสถาบันการศึกษา จากสำนักวิจัยต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ค้นหาได้มากมาย

อย่างไรก็ตาม ถึงเวลาแล้วที่เกษตรกรไทยมีความจำเป็นต้องมีการจัดระบบการผลิตออกเป็นคลัสเตอร์ประเภทผลผลิต โดยส่วนราชการภาครัฐต้องสนับสนุนเรื่องนี้อย่างเต็มที่ จัดระบบการผลิตเพื่อช่วยเหลือให้เกิดความสมดุลทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งตัวอย่างเรื่องนี้ที่ทำได้คือกระบวนการผลิตอ้อยและน้ำตาล โดยมีพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย ปี 2527 เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการได้อย่างครบวงจร ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีการดูแลต้นทุนการผลิต ดูแลเรื่องราคา ดูแลเรื่องผลประโยชน์ระหว่างกัน มีกระบวนการวิจัยพันธุ์อ้อยเพื่อใช้ผลิตให้ดีกว่าเดิม มีการสนับสนุนด้านเงินทุนที่เพียงพอ มีการดูแลการตลาดทั้งในและต่างประเทศอย่างเป็นระบบ นี่คือหนึ่งในโมเดลที่น่าจะต้องสนับสนุนให้เกษตรกรไทยเดินไปในแนวทางนี้กันครับ

นอกจากแนวคิดแนวทางที่กล่าวมาแล้ว เรื่องภาระหนี้สินหรือเงินทุนที่จะใช้ทำการผลิตก็สำคัญ ในปัจจุบันนี้เกษตรกรไทยมีปัญหาหนี้สินซ้ำซ้อนมากมาย ทั้งหนี้ในและนอกระบบ ไม่ว่าจะเป็นหนี้สินจากการกู้ยืมจากแหล่งทุน ธนาคารรัฐ ธนาคารพาณิชย์ หนี้จากระบบสหกรณ์ จากวิสาหกิจชุมชน จากกองทุนหมู่บ้าน จากพ่อค้านายทุน หรือหนี้สินจากกองทุนต่างๆ ในชนบท เกษตรกรครอบครัวหนึ่งมักจะมีหนี้สินมากกว่าหนึ่งแหล่งเสมอ จึงเป็นปัญหาส่งชำระหนี้ไม่ได้ และไม่สามารถกู้ยืมเพิ่มได้ด้วย นี่คือโซ่ตรวนที่เป็นตัวผูกโยงให้เกษตรกรไทยไม่มีทุนที่จะพัฒนาคุณภาพผลผลิตได้เลย

ดังนั้น การปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกรทั้งระบบจึงมีความจำเป็น ต้องจัดให้มีความสมดุลกันระหว่างรายได้ในแต่ละช่วงการผลิตกับรายจ่ายที่ต้องจ่ายรวมกับภาระหนี้สินต้องสมดุลกัน ถ้าเกษตรกรกลุ่มใดมีรายจ่ายสูงกว่ารายรับ ต้องจัดให้เข้าสู่ระบบการจัดการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทันที นี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่อาจจำเป็นต้องให้รัฐเป็นเจ้าภาพดำเนินการ ถ้ามิเช่นนั้น เกษตรกรไทยจะไปต่อได้ยากลำบากมาก

อนาคตที่ต้องก้าวไปให้ถึงอีกเรื่องหนึ่งก็คือ การปรับระบบการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีและการจัดการที่ทันสมัยเพื่อให้สามารถควบคุมต้นทุน ควบคุมคุณภาพผลผลิตและมีการใช้นวัตกรรมเพื่อการผลิต การผลิตด้วยระบบโรงเรือนแบบปิด การผลิตโดยใช้ระบบน้ำหยดหรือน้ำหมุนเวียน การใช้เทคโนโลยีควบคุมการให้ปุ๋ยในพืช การให้อาหารในการผลิตด้านปศุสัตว์ ซึ่งในส่วนนี้ยังรวมไปถึงการผลิต การแปรรูปด้วย เช่น การผลิตข้าวแต่ขายข้าวสารหรือขายแป้งแทนจะขายข้าวเปลือก การผลิตผลไม้แต่ขายน้ำผลไม้หรือขายแยมแทนการขายผลไม้ เป็นต้น

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.technologychaoban.com/marketing/article_233253