ค้นหา

ฉีดฮอร์โมนกระตุ้นปลาทูวางไข่ กรมประมงทำสำเร็จครั้งแรกของโลก

ไทยรัฐออนไลน์
เข้าชม 515 ครั้ง

“ปลาทู” สัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและเป็นที่นิยมในการบริโภคของคนไทยมาเป็นเวลานาน ปัจจุบันทรัพยากรผลผลิตปลาทูในธรรมชาติลดจำนวนน้อยลง สาเหตุหลักเกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนาเครื่องมือการทำประมงให้มีประสิทธิภาพในการจับที่สูงขึ้น

กรมประมงตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ร่วมมือกับชาวประมงทั้งพาณิชย์และพื้นบ้าน เพื่อที่จะหามาตรการ ที่จะควบคุมการทำประมง เพื่อทำให้ปลาทูในอ่าวไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะมาตรการปิดอ่าวและการเพาะขยายพันธุ์ เพื่อช่วยทดแทนการจับปลาทูที่มากจนเกินกำลังผลิตของธรรมชาติ

“ที่ผ่านมากรมประมงได้ศึกษาจนประสบความสำเร็จสามารถเพาะพันธุ์เมื่อปี 2554 แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปลาทูเป็นปลาที่มีความอ่อนแอ บอบบาง จึงเป็นเรื่องยากที่จะนำขึ้นจากทะเลมาเพาะเลี้ยงโดยไม่ให้บอบช้ำหรือตายไปเสียก่อน ล่าสุด โครงการปลาทูคู่ไทยได้ดำเนินการโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาการเพาะเลี้ยงปลาทูฉีดฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่เพื่อเพิ่มโอกาสในการเพาะขยายพันธุ์ปลาทู”

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เผยถึงความสำเร็จของโครงการปลาทูคู่ไทย โดยทีมนัก วิจัยศูนย์วิจัย และพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเพชรบุรี ที่นำพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติมาขุนเลี้ยงและทดลองฉีดฮอร์โมนตามรอบที่กำหนดไว้ ซึ่งมีโอกาสได้ลูกปลาทูมากกว่าวิธีตามธรรมชาติ ที่ปลาทูจะมีฤดูวางไข่ได้แค่ปีละ 1 ครั้ง

ความท้าทายของความสำเร็จครั้งนี้อยู่ที่การปรับสภาพการเลี้ยงให้คล้ายคลึงกับระบบนิเวศในทะเล และต้องปรับพฤติกรรมปลาให้คุ้นเคยกับทีมนักวิจัย เนื่องจากปลาทูเป็นปลาที่ตื่นตกใจง่าย ดังนั้น การจับปลาทูขึ้นมาฉีดฮอร์โมนจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก

นายประพัฒน์ กอสวัสดิ์พัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเพชรบุรี ให้รายละเอียดถึงเบื้องหลังความสำเร็จครั้งนี้ว่า ทางศูนย์ฯได้รวบรวมพ่อแม่พันธุ์ปลาทูธรรมชาติจากโป๊ะในพื้นที่ อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี มาขุนเลี้ยงในบ่อผ้าใบด้วยระบบน้ำหมุนเวียนในโรงเพาะให้เกิดความพร้อมในการสืบพันธุ์ ด้วยอาหารที่ต่างกัน 2 ชนิด ได้แก่ อาหารเม็ดสำเร็จรูป และอาหารผสมสด เพื่อศึกษาและตรวจสอบความสมบูรณ์เพศ

“เมื่อเริ่มต้นขุนเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาทูมีไข่และน้ำเชื้ออยู่ในระยะที่ 2 ภายในระยะเวลาการขุนเลี้ยง 3 เดือน พ่อแม่พันธุ์มีน้ำหนักอยู่ในช่วง 134-210 กรัม ความยาวอยู่ในช่วง 19-20 ซม. ไข่และน้ำเชื้อพัฒนาเป็นระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะที่พร้อมจะฉีดฮอร์โมน จึงนำมาทดลองฉีดฮอร์โมนกระตุ้นให้ปลาวางไข่ที่ระดับความเข้มข้นต่างกัน 3 ระดับ ในช่วง เม.ย.-ก.ค. รวมทั้งสิ้น 6 ครั้ง ได้ไข่ทั้งหมดอยู่ในช่วง 15,833-95,833 ฟอง เป็นไข่ดีอยู่ในช่วง 14,978-85,003 ฟอง ได้ลูกปลาแรกฟักอยู่ในช่วง 2,250-20,000 ตัว คิดเป็น 7.04-44.94% จากไข่ทั้งหมด และ 7.94-61.54% จากไข่ดี และระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนอนุบาลลูกปลาพร้อมวางแผนพัฒนาสูตรอาหารที่เหมาะสมสำหรับการอนุบาลลูกพันธุ์ปลาทูให้มีอัตราการรอดสูงที่สุด”

การศึกษาวิจัยครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นความสำเร็จครั้งแรกของโลก ในการทดลองฉีดฮอร์โมนกระตุ้นการวางไข่ของปลาทู จากอดีตที่ปล่อยให้พ่อแม่พันธุ์ปลาทูผสมกันเองตามธรรมชาติ…จึงเป็นความหวังในการเพาะพันธุ์ปลาทูเพื่อปล่อยสู่ทะเลในเชิงอนุรักษ์ และการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงปลาทูเชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคต.

ฉีดฮอร์โมนกระตุ้นปลาทูวางไข่ กรมประมงทำสำเร็จครั้งแรกของโลก
แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/news/local/central/2545830