ค้นหา

ลุ้นส่งออกข้าวทะลุ 8 ล้านตัน กระทุ้งรัฐปิดจุดบอดสู้คู่แข่ง

กรมส่งเสริมการเกษตร
เข้าชม 441 ครั้ง

“ส.ผู้ส่งออกข้าว” โล่งอก น้ำท่วมฉุดผลผลิตนาปีเสียหายไม่ถึง 1% มั่นใจปิดจ๊อบปี 65 ตามเป้า 7.5 ล้านตัน กางแผนดันส่งออกปี’66 แตะ 8 ล้านตัน นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวห่วงอนาคตความสามารถแข่งขันถูกคู่แข่งแซงหน้าแล้ว อย่าหลงแค่ประกันรายได้ พบสัญญาณปุ๋ยแพงชาวนาหันปลูกพืชอื่นนับแสนไร่

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยระหว่างการศึกษาภาวะผลผลิตข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2565/2566 เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 ที่ จ.อุบลราชธานี ว่า ในปี 2566 สมาคมผู้ส่งออกฯคาดว่าไทยมีโอกาสส่งออกข้าวปริมาณ 8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเป้าหมายปีนี้ที่วางไว้ 7.5 ล้านตัน โดยจากการติดตามผลผลิตข้าวนาปี 2565/2566 แม้หลายจังหวัดในภาคอีสานจะประสบปัญหาน้ำท่วม แต่หลายพื้นที่ก็ไม่ได้รับกระทบ ทั้งยังมีผลผลิตดีมากในปีนี้ ส่วนทิศทางราคายังต้องติดตาม เพราะราคาข้าวไทยยังมีความผันผวนเมื่อเทียบกับคู่แข่ง และราคาก็ยังมีส่วนต่างประมาณ 40 เหรียญสหรัฐต่อตัน

เตือนข้าวไทยแข่งขันยาก

นายเจริญยังระบุด้วยว่า ที่ผ่านมาสมาคมได้พยายามสื่อสารให้หน่วยงานภาครัฐ เกษตรกร ได้รับรู้ถึงสถานการณ์การแข่งขันในตลาดส่งออกที่เปลี่ยนไป จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวของไทยอย่างมาก ขณะที่คู่แข่งของไทยก็มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวต่อเนื่อง ต้นทุนการผลิตต่ำ ส่งผลให้การแข่งขันส่งออกของไทยลดลง ส่วนแบ่งตลาดหลายแห่งลดลง (ตามกราฟิก) ดังนั้น ต้องมองว่าไทยจำเป็นต้องพัฒนาเพื่อการแข่งขัน เพราะหากไม่ดำเนินการอะไรเลย การส่งออกข้าวไทยจะลดลงเรื่อย ๆ

“เพื่อให้ส่งออกข้าวไทยแข่งขันได้ มองว่าการใช้งบประมาณของภาครัฐปีละ 1 แสนล้านบาท หากใช้ได้ถูกทางจะทำให้ภาคอีสานมีพื้นที่ชลประทานครบ ชาวนาสามารถปลูกข้าวได้ปีละ 2-3 ครั้ง มีผลผลิตต่อไร่ที่เพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องการให้เกษตรกรให้ความสำคัญว่า มีโครงการประกันรายได้ จำนำข้าวก็เพียงพอแล้ว แต่ต้องการให้มีการรวมตัวกันเพื่อพัฒนายกระดับการแข่งขันข้าวไทย เพราะชาวนามีกว่า 20 ล้านเสียง แต่ผู้ส่งออกมีแค่ 10 เสียงเท่านั้น และคงทำอะไรไม่ได้มาก แต่หากชาวนาได้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญอุตสาหกรรมข้าวไทยก็เชื่อว่าจะแข่งขันได้ ผลผลิตเพิ่มขึ้น ราคาดีขึ้น”

“ผู้ส่งออกได้แต่ชี้นำให้เห็นเท่านั้นว่าตลาด ผู้นำเข้าต้องการอะไร หากจะแข่งขันได้ต้องปลูกอะไร เพราะไม่ทำอะไรเลยต้นทุนก็ยังสูง ปลูกข้าวที่ตลาดไม่ต้องการ แข่งขันก็ไม่ได้ อย่างข้าวออร์แกนิก การส่งออกขยายตัวปีละ 1-3% แล้วก็มีแนวโน้มลดลง การส่งออกก็ลำบาก ตลาดยังไม่ต้องการ ยังไม่ได้รับรองจากต่างประเทศ มีแต่ออร์แกนิกไทยแลนด์เท่านั้น ใช้งบฯต่อปี 2-3 พันล้านบาท ผู้ส่งออกรับว่าทำตลาดยากมาก หากตั้งงบประมาณก็ต้องการใช้ไปในทิศทางที่ถูกต้องเพื่อการแข่งขันที่แท้จริง”

อย่างไรก็ดี การทำตลาดส่งออกข้าวของผู้ส่งออกถือว่าหมดปัญญาแล้ว จึงต้องคาดหวังให้ชาวนาเป็นจุดสำคัญที่จะชี้ให้เห็นว่าจะแข่งขันได้ต้องทำอย่างไร เพื่อให้นโยบายของรัฐออกมาตรงเป้าหมาย แม้ค่าเงินบาทไทยจะอ่อนค่าแข่งขันได้ แต่อินเดียอ่อนค่ามากกว่า ปัจจุบัน 1 เหรียญสหรัฐต่อ 82 รูปี จากอดีต 1 เหรียญสหรัฐต่อ 45 รูป เงินเวียดนาม 1 เหรียญสหรัฐต่อ 25,000 ดอง จากเดิม 22,000-23,000 ดอง ส่วนไทยราคาก็ผันผวนแข่งขันก็ลำบากมาก ถ้าหากไม่ทำอะไรเลย ส่งออกข้าวไทยในอนาคตเชื่อว่าจะลดลงแน่นอน และการซื้อ-ขายของผู้ส่งออกก็รูปแบบขายเชื่อ 3-6 เดือนกว่าจะได้เงิน

ปั๊มหัวใจ “ข้าวหอมมะลิ”

นายเจริญกล่าวว่า ผู้ส่งออกมีความเป็นห่วงข้าวหอมมะลิของไทยที่มีคู่แข่งมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในอาเซียน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความพยายามที่จะพัฒนาทำให้ข้าวมีความหอมแข่งขันกับประเทศไทยได้ จึงอยากให้มีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมมะลิของไทยให้สามารถแข่งขันได้ดีขึ้น โดยเฉพาะความหอมกับผลผลิตต่อไร่ที่ควรจะมีมากกว่าที่เป็นอยู่

นอกจากนี้มีความกังวลในเรื่องการตรวจสอบ DNA ของทั้งประเทศ เพราะเวลานี้มีที่ตรวจสอบอยู่เพียง 1 แห่ง คือที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ทำให้มีต้นทุนค่อนข้างสูงและการตรวจสอบไม่ทันกับความต้องการส่งออก หากมีศูนย์ตรวจรับรอง DNA ได้มากขึ้นจะทำให้การควบคุมคุณภาพข้าวหอมมะลิทำได้ดีขึ้น และต้นทุนในการส่งออกถูกลง รวมถึงจะทำงานได้เร็วขึ้นด้วย

ปี 2565 ยืน 7.5 ล้านตัน

นายโชคชัย เศรษฐีวรรณ อุปนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่า การส่งออกข้าวไทยในปี 2565 คาดว่าจะมีปริมาณ 7.5 ล้านตัน ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยต่อปีที่ไทยจะส่งออกได้ 7-8 ล้านตัน โดยขณะนี้ยอดการส่งออก 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) 2565 ส่งออกได้ 5.40 ล้านตัน ขยายตัว 39.1% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่า 95,232 ล้านบาท ขยายตัว 35.5% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการส่งออกข้าวขาว 2.4 ล้านตัน ขยายตัว 84.6% ข้าวนึ่ง 9.96 แสนตัน เพิ่มขึ้น 0.4% ข้าวหอมมะลิ 9.2 แสนตัน ขยายตัว 28.9% ข้าวหอมไทย 2.8 แสนตัน ขยายตัว 28.4% ขณะที่ปลายข้าวขาว 1.6 แสนตัน ขยายตัว 67% ปลายข้าวหอมมะลิ 2.4 แสนตัน ขยายตัว 43.5% ส่วนชนิดข้าวที่ส่งออกลดลง เช่น ปลายข้าวหอมไทย 78,000 ตัน ลดลง 22% ข้าวกล้องหอมไทย 6,430 ตัน ลดลง 8.1% และข้าวกล้องขาย 5.3 หมื่นตัน ลดลง 2%

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตร (ศพก.)