ค้นหา

ข้าวรักษ์โลก..ลุยเวทีเอเปก ลดต้นทุนไร่ละ 2 พัน โรงสีบวกเงินเพิ่ม

ไทยรัฐออนไลน์
เข้าชม 486 ครั้ง

“โครงการข้าวรักษ์โลก ถือเป็นโครงการตาม BCG โมเดล ที่เห็นผลงานโดดเด่นที่สุด สัมฤทธิผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนในทุกมิติ ทั้งตัวเกษตรกร ผู้ซื้อ รวมถึงสิ่งแวดล้อม เกิดจากความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ทั้งกรมการข้าว สำนักนายกรัฐมนตรี ผ่านนายอนุชา นาคาศัย รมว.ประจำสำนักฯ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ สมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก รวมถึงหน่วยงานท้องถิ่น จนที่สุดกลายเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวพรีเมียม ได้ไปอวดโฉมบนเวทีประชุมเอเปก 2022 ที่กรุงเทพฯ โดยแจกให้กับสื่อมวลชนต่างประเทศที่เข้าร่วมงาน”

ดร.ภณ ทัพพินท์กร นายกสมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก อธิบายถึงการผลิตข้าวยุคใหม่ที่ตอบโจทย์ทั้งในเรื่องลดต้นทุนให้เกษตรกร ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ทั้งในเรื่องของคุณภาพและปริมาณ ขณะเดียวกันการใช้นวัตกรรมก็ส่งผลให้สร้างสมดุลให้ระบบนิเวศ เอื้อต่อสิ่งแวดล้อม…ข้าวรักษ์โลกตามโครงการ BCG โมเดล เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้ชาวนาทำนาแบบประณีต โดยใช้จุลินทรีย์เพื่อการเกษตรเป็นหัวใจหลัก เลิกใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี ยาฆ่าแมลง

ข้าวรักษ์โลก..ลุยเวทีเอเปก ลดต้นทุนไร่ละ 2 พัน โรงสีบวกเงินเพิ่ม

นอกจากนี้ยังใช้วิธีการไถกลบตอซังข้าว แล้วฉีดพ่นด้วยจุลินทรีย์ เพื่อทำการย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ให้กลายเป็นปุ๋ยธรรมชาติเพิ่มธาตุสารอาหารกลับลงไปในดิน ส่งเสริมโดรนเพื่อการเกษตรในการฉีดพ่นจุลินทรีย์ เพื่อประหยัดแรงงาน ประหยัดเวลา ลดค่าใช้จ่าย และส่งเสริมระบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานทางเลือกแบบหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อประหยัดต้นทุนพลังงาน ทั้งหมดนี้ทำให้ต้นทุนในการเพาะปลูกลดลงถึงไร่ละ 2,000 บาท เกษตรกรก็มีสุขภาพที่ดีขึ้น จากการเปลี่ยนมาใช้จุลินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมี สารเคมี และยาฆ่าแมลง

ข้าวรักษ์โลก..ลุยเวทีเอเปก ลดต้นทุนไร่ละ 2 พัน โรงสีบวกเงินเพิ่ม

ที่สำคัญเมื่อผลผลิตออกมามีคุณภาพ ปลอดสารพิษ ดีต่อสุขภาพ จึงทำให้ภาคีโรงสีเข้าร่วมกับโครงการ โดยบวกราคารับซื้อข้าวที่มาจากโครงการอีก กก.ละ 1 บาท โดย “ข้าวรักษ์โลก” ทั้งหมดจะเข้าสู่โรงสีผู้ส่งออกรายใหญ่ที่มีมาตรฐาน ISO22000 สีให้เป็นข้าวรักษ์โลกเกรดพรีเมียม บรรจุในกล่องที่มาตรฐานสวยงาม เพื่อจัดทำเป็นของขวัญปีใหม่ และอวดโฉมในเวทีการประชุม APEC 2022

ข้าวรักษ์โลก..ลุยเวทีเอเปก ลดต้นทุนไร่ละ 2 พัน โรงสีบวกเงินเพิ่ม

ถือเป็นการส่งเสริมแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตามนโยบาย BCG Model ของทางรัฐบาลอย่างแท้จริง และตรงตามความหมายของ BCG Model คือ B = Biotechnology คือส่งเสริมระบบชีวมวลชีวภาพ โดยให้ใช้จุลินทรีย์เพื่อการเกษตร SG1 ที่ดีมีมาตรฐาน ISO, Bio Safety Level 1 and LD50

C = Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน โครงการส่งเสริมให้ไถกลบตอซัง แล้วฉีดพ่นด้วยจุลินทรีย์ SG1 เพื่อย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ให้กลายเป็นปุ๋ยธรรมชาติ กลับลงสู่ดินเป็นการเติมธาตุสารอาหาร N P K ธาตุรองธาตุเสริมกลับลงไปในดิน

G = Green เศรษฐกิจสีเขียว เมื่อส่งเสริมไถกลบตอซัง ไม่มีการเผาก็ไม่เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อฉีดพ่นจุลินทรีย์ SG1 กระบวนการย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ก็จะไม่ปล่อยก๊าซมีเทน เป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีเครดิตคาร์บอน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/news/local/2557940