ค้นหา

สืบสานตำนาน น้ำตาลเมืองเพชร

ไทยรัฐออนไลน์
เข้าชม 989 ครั้ง

บ.บุ๋นคาเฟ่มือปราบหน้าหยก สืบสานตำนาน น้ำตาลเมืองเพชร

“ตอนอายุ 40 ปี มองไปถึงอาชีพหลังเกษียณ เลยเก็บหอมรอมริบนำเงินมาซื้อทุ่งนาเมืองเพชรบุรี 9 ไร่ ตอนนั้นราคายังไม่แพง เพราะตำนานน้ำตาลโตนดเมืองเพชร หวานอร่อยที่สุด ที่ได้ยินมาตั้งแต่เด็ก ประกอบกับอยากทำตามฝัน มีท้องทุ่ง ต้นตาล บึงบัว นกบิน ลัดเลาะแสงอาทิตย์ ทำให้เริ่มพัฒนาพื้นที่ตามใจฝัน เพื่อหวังใช้ชีวิตสงบสุขหลังเกษียณ จึงเริ่มให้น้องจบสถาปัตย์ฯมาช่วยออกแบบวางแปลนพื้นที่ จากนั้นเริ่มต่อจิ๊กซอว์ความฝันไปเรื่อยๆ เพาะต้นตาลเองจากเมล็ด ลงทุนไม่ถึงบาท ปลูกเป็นแนวรั้ว จนปัจจุบันมี 150 ต้น จากนั้นต่อยอดสู่ผลผลิตตาลโตนดแปรรูป ลูกตาล น้ำตาลโตนด”

พล.ต.ต.บัญญัติ เพียรสวัสดิ์ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มือสืบสวนระดับแนวหน้าฉายา ‘มือปราบหน้าหยก’ ที่ผันชีวิตมาเป็นเจ้าของร้าน บ.บุ๋นคาเฟ่ ริมถนนเส้นเมืองเพชร-หาดเจ้าสำราญ เล่าถึงที่มาของการสืบสานตำนานตาลโตนดเมืองเพชร… ในฐานะเขยเมืองเพชร มองว่าต้นตาลนอกจากสวยงาม เสมือนปาล์มเมืองไทยแล้ว ยังให้ผลผลิตที่นำมาแปรรูปได้หลากหลาย ทั้งลูกตาล ขนมตาล จาวตาลเชื่อม รวมถึงน้ำตาลโตนด ของดีขึ้นชื่อของเมืองเพชรบุรี แต่นับวันกระบวนการทำตาลโตนดทั้งหมด ตั้งแต่การขึ้นตาลจนถึงแปรรูป กลับกำลังถูกลืมเลือนจากคนรุ่นใหม่ จึงอยากสืบสานอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม อันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ให้คงอยู่ต่อไป

บ.บุ๋นคาเฟ่มือปราบหน้าหยก สืบสานตำนาน น้ำตาลเมืองเพชร

สำหรับการทำตาลตาลโตนด โดยปกติมีระยะเวลาจำกัดทำได้ราว 5-6 เดือน ตั้งแต่ช่วงหนาวไปถึงหน้าแล้งเท่านั้น ชาวนาที่เป็นคนทำตาลส่วนใหญ่จะไม่ทำในฤดูฝน เพราะขึ้นยาก มีความเสี่ยง ขณะที่ฤดูทำนาพื้นนาก็ไม่เอื้อให้คนปีนตาล จนปัจจุบันคนทำนาน้อยลง ต้นตาลถูกโค่นไปปลูกไม้ผลที่ทำเงินมากกว่า

บ.บุ๋นคาเฟ่มือปราบหน้าหยก สืบสานตำนาน น้ำตาลเมืองเพชร

ขณะที่การทำน้ำตาลโตนดมีขั้นตอนมากมาย ใช้เวลาค่อนข้างนาน ความเสี่ยงและยากลำบากจากการขึ้นตาล เลยทำให้วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ตั้งแต่ขั้นตอนการปีนตาลไปจนถึงแปรรูปเป็นน้ำตาลโตนด นับวันจะสูญหายไป คนรุ่นใหม่จึงไม่คิดสานต่อ หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ ความงดงามในอดีตก็จะเลือนหายไปจากสังคมไทย

“อยากสืบสานอาชีพนี้ไว้ พยายามหาคนมาสืบต่อ อยากให้คนที่ทำได้มีรายได้ เพราะตอนนี้เหลือแต่คนอายุ 50 กว่าปีขึ้นไป เพราะขั้นตอนเยอะ แต่ละคนทำได้แค่ไม่เกินวันละ 10 กก. ก่อนทำตาล คนขึ้นต้องสางใบให้สะอาดปีนได้สะดวก เอาพะองหรือไม้ไผ่สำหรับปีนตาลมาพาด เพื่อให้ปีนสะดวก ขึ้นไป แล้วต้องนวดงวงตาลให้เก็บได้ง่าย บางต้นใช้เวลา 3-7 วัน นวดเสร็จต้องเอากระบอกน้ำ ขึ้นแช่ให้ตาลฉ่ำ 3-4 วัน ถึงจะลองปาดดู เมื่อไรที่มีน้ำตาลใสหยดมาจากงวงตาล ตาล 10 ต้น ถึงจะได้น้ำตาลโตนด 5 กก. พอเก็บผลผลิตได้ ต้องมาเคี่ยว ต้องเตรียมเตาตาล ฟืน ไม้พยอมเพื่อเป็นสารกันบูดธรรมชาติมาใส่ การเคี่ยวก็ต้องมีประสบการณ์ ต้องรู้ช่วงตอนไหนควรไฟอ่อนไฟแรง พอได้ที่ต้องมีกระบวนการกระแทกเพื่อลดความร้อน แล้วเอามากวน”

อดีตมือปราบหน้าหยกให้ข้อคิดในตอนท้าย ในเมื่อเด็กรุ่นใหม่ไม่ให้ความสำคัญกับอาชีพนี้แล้ว ส่วนราชการน่าจะให้ความสำคัญ ไม่ใช่แต่สอนให้เกษตรกรทำสบู่ แชมพู มาขายแข่งกัน หรือแม้แต่ราชทัณฑ์เอง ก็สามารถส่งเสริมให้ผู้ต้องขังมีอาชีพที่เหลือคนทำน้อยลงทุกที อย่างน้อยออกมาแล้ว ไม่ต้องไปขายยา ลักขโมย เพราะขึ้นตาลอย่างน้อยก็มีเงินติดตัวไม่ต่ำกว่าวันละ 500 บาทแล้ว อย่าไปคิดว่าอยู่เมืองไทยไม่มีอาชีพ แต่ขอให้คิดว่าเราจะทำหรือไม่.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/news/local/central/2561648