ค้นหา

30 พ.ย. ดีเดย์ราคากลางปลากะพง โมเดลต้นแบบ ดันชิงตลาดส่งออก

ไทยรัฐออนไลน์
เข้าชม 462 ครั้ง

“เมื่อก่อนวงการปลากะพงบ้านเราต่างคนต่างทำขาดการรวมกลุ่มขาดทิศทางที่แน่นอน ช่วงที่ปลาราคาถูก โรงงานจะมาช้อนซื้อ พอเกษตรกรขาดทุน เกิดวิกฤติหยุดลงลูกปลา พอถึงฤดูจับสินค้าขาดตลาด ปลาก็เริ่มแพง เกษตรกรเอาคืนตีหัวโรงงาน ต่างคนต่างโทษกันไปมา กลายเป็นคู่ขัดแย้งกันมาตลอด ฉะนั้น ในเมื่อโรงงานต้องการปลาทั้งปี เกษตรกรอยากเลี้ยงปลาทั้งปี ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องการขายปลาสนองความต้องการของแต่ละตลาด ทำไมเราไม่มาจับมือกัน ให้ประโยชน์ตกแก่ทุกฝ่าย ซึ่งทางสมาคมพร้อมที่จะเป็นตัวกลางกำหนดราคาที่เหมาะสม ภายใต้พี่เลี้ยงอย่างกรมประมง ที่ทำงานด้วยกันมาอย่างต่อเนื่อง”

สุทธิ มะหะเลา นายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย เกษตรกรดีเด่นสาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อยปี 2560 เล่าถึงที่มาของการกำหนดราคากลางปลากะพง…เริ่มต้นจากการตั้งสมาคมเพื่อเข้ามาดูแลเป็นพี่เลี้ยง กำหนดทิศทางให้การผลิตปลากะพงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

จากนั้นเกษตรกรที่รวมกลุ่มกันเหนียวแน่นเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มเกษตรกรแต่ละจังหวัดรวมตัวกันเป็นชมรมหรือสมาคมแต่ละพื้นที่

ทางสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทยที่มีการประสานงานและทำงานร่วมกับภาครัฐ สถาบันการศึกษา จะนำความรู้เทคโนโลยีการเลี้ยง รวมถึงการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มาถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร เพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้งในแง่ผลผลิตและปริมาณการผลิต เพื่อสอดรับกับความต้องการของตลาด

30 พ.ย. ดีเดย์ราคากลางปลากะพง โมเดลต้นแบบ ดันชิงตลาดส่งออก

พร้อมกันนั้นสมาคมได้ร่วมมือกับผู้รวบรวมปลากะพง แพปลา ห้องเย็น ผู้ส่งออก ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับปลากะพงทั้งหมด ทำการกำหนดราคาขายเอง โดยขณะนี้ได้รวบรวมข้อมูลต้นทุนของเกษตรกร และแพปลากะพงที่มีกว่า 10 แพในประเทศ รวมถึงลูกค้าปลายทางของแพปลาเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อให้ได้ราคากลางที่ทุกคนอยู่ได้และมี กำไร ขณะที่ผู้บริโภคก็ได้บริโภคปลากะพงในราคาที่เหมาะสม

30 พ.ย. ดีเดย์ราคากลางปลากะพง โมเดลต้นแบบ ดันชิงตลาดส่งออก

ส่วนภาครัฐโดยกรมประมง ที่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงจะได้รู้ปริมาณการผลิตที่แน่นอนไม่ต้องเดือดร้อนเวลาปลากระพงมีปัญหา โดยเฉพาะเมื่อราคาตก

ดังนั้น เราจะเริ่มประกาศราคากลางครั้งแรกในวันที่ 30 พ.ย.นี้ พร้อมกับแจ้งราคากลางในทุกสัปดาห์ เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงทั่วประเทศได้มีราคาที่เท่า เทียมกันให้ราคามีเสถียรภาพ อย่างแท้จริง

ขณะเดียวกัน เมื่อเกิดความยั่งยืนในประเทศ ความขัดแย้ง ในอดีตหมดไป รู้ปริมาณผลผลิตที่แน่นอน ปลากะพงไทยก็จะมีโอกาสขึ้นมาผงาดในตลาดโลก เนื่องจากตลาดต่างประเทศต้องการปลากะพงไทยมาก เพราะรสชาติดี ทำได้หลากหลายเมนู แต่เรายังมีปริมาณการผลิตไม่เพียงพอนี่น่าจะเป็นต้นแบบที่จะนำไปปรับใช้กับสินค้าเกษตรตัวอื่นๆในบ้านเรา เพื่อแก้ปัญหาซ้ำซากในวงการเกษตร ที่ไม่เคยแก้ได้ซะที

ด้าน ผู้ใหญ่นรินทร์ นฤภัย กรรมการสมาคมเพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติม…ความจริงเรื่องนี้เคยทำมาแล้วตั้งแต่ปี 2557 และในขณะที่กำลังดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ที่มีทั้งการทำเอ็มโอยูกับห้องเย็น การส่งเข้าครัวการบินไทยในการบรรจุเข้าเมนูหลัก ทำให้วงการปลากะพงเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นในทุกมิติ แต่พอเจอวิกฤติโควิด-19 เรื่องทุกอย่างเลยหยุดชะงัก ขาดการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

แต่วันนี้เมื่อทุกอย่างเริ่มกระเตื้องขึ้น เราจึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง.

30 พ.ย. ดีเดย์ราคากลางปลากะพง โมเดลต้นแบบ ดันชิงตลาดส่งออก
แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/news/local/2565798