ค้นหา

กรมปศุสัตว์เตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคและกระบือในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง

บริษัท รักบ้านเกิด จำกัด
เข้าชม 459 ครั้ง

อธิบดีกรมปศุสัตว์ เตือนเกษตรกรเฝ้าระวังสัตว์เลี้ยงในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงกะทันหัน ทำให้สัตว์สุขภาพอ่อนแอ ให้เกษตรกรจัดเตรียมโรงเรือน วัสดุปูรองและอาหารสัตว์ให้เพียงพอ

นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้เข้าสู่ฤดูหนาว ประกอบกับการเกิดสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้สัตว์เกิดความเครียด ร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันโรคลดต่ำลง มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคและเกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยและโรคเฮโมรายิกเซปทิซีเมียหรือโรคคอบวม

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคปากและเท้าเปื่อย เป็นโรคติดต่อที่สำคัญในโค กระบือ มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส ซึ่งสามารถติดต่อและแพร่กระจายได้โดยการกินหรือสัมผัสกับสัตว์ป่วยโดยตรง หรือเชื้อที่ปนเปื้อนจากคน ยานพาหนะ เป็นต้น เพราะเชื้อไวรัสจะถูกขับออกมาจากสัตว์ป่วยทางน้ำมูก น้ำลาย น้ำนม มูล ลมหายใจและบาดแผล สัตว์ที่ป่วยจะซึม มีไข้ เบื่ออาหาร มีเม็ดตุ่มพองเกิดขึ้นที่ริมฝีปาก ช่องปากและไรกีบ ทำให้น้ำลายไหล กินอาหารไม่ได้ และเดินกะเผลก เนื่องจากโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสจึงไม่มียารักษา แต่จะใช้ยาปฏิชีวนะร่วมกับยาทาหรือพ่นแผลเพื่อลดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนเท่านั้น ส่วนโรคเฮโมรายิกเซปทิซีเมียหรือโรคคอบวม เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มักจะก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมากในกระบือ เนื่องจากมีความไวต่อโรคดังกล่าว โดยโรคนี้จะทำให้สัตว์มีอาการคอหรือหน้าบวมแข็ง หายใจเสียงดังหรือหอบ ยืดคอไปข้างหน้า ส่วนใหญ่มักมีอาการแบบเฉียบพลัน คือ ไข้สูง น้ำลายฟูมปาก หยุดกินอาหาร และตายภายในไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งโดยปกติเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคคอบวม สามารถอยู่ในระบบทางเดินหายใจสัตว์ปกติได้โดยไม่แสดงอาการป่วย แต่เมื่อสัตว์อยู่ในภาวะเครียดจากการเคลื่อนย้าย อากาศเปลี่ยนแปลง การอดอาหาร หรือการใช้แรงงานมากเกินไป ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันลดต่ำลง สัตว์จะแสดงอาการป่วยและขับเชื้อออกสู่สิ่งแวดล้อมปนเปื้อนอาหารและน้ำ

ทั้งนี้ การป้องกันโรคที่ดีที่สุด คือ ให้ความสำคัญกับการดูแลสัตว์เลี้ยงของตนให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง โดยต้องดูแลในเรื่องการจัดการโรงเรือนหรือคอกสัตว์ มีหลังคาป้องกันฝน ลม ได้เป็นอย่างดี มีวัสดุปูรองคอกเลี้ยงสัตว์ จัดเตรียมน้ำสะอาด อาหารสัตว์หรือพืชอาหารสัตว์และเวชภัณฑ์ต่างๆ เช่น วิตามิน ให้เพียงพอ นอกจากนี้ควรทำความสะอาดโรงเรือนหรือคอกเลี้ยงสัตว์ และพ่นทำลายเชื้อโรคอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตามโรคระบาดดังกล่าวสามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนให้กับโค กระบือที่มีอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป ตามรอบการรณรงค์ฉีดวัคซีนตามที่กรมปศุสัตว์กำหนด

ท้ายที่สุดนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ให้ดูแลสัตว์ของตนเองให้มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง และป้องกันสัตว์ของตนเองไม่ให้สัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะนำเชื้อโรคเข้าฟาร์ม ได้แก่ คน ยานพาหนะต่างๆ สัตว์ที่นำเข้ามาเลี้ยงใหม่ ถังนม อาหาร รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงสัตว์ เป็นต้นประกอบกับหมั่นสังเกตอาการสัตว์เลี้ยงของตนเองอยู่เสมอ หากพบสัตว์แสดงอาการป่วยหรือตายผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ อาสาปศุสัตว์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ในพื้นที่ หรือ ผ่านทาง Application dld 4.0 หรือโทรศัพท์สายด่วน 063-225-6888 เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างทันท่วงที

แหล่งอ้างอิงข้อมูล :
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.rakbankerd.com/agriculture/news-view.php?id=11980&s=tblplant