ค้นหา

บัณฑิตจุฬาฯ วัย 25 ปิ๊งไอเดีย แปรรูปมะพร้าวอัดเม็ด สร้างมูลค่า ส่งขายตลาดต่างประเทศ ผลตอบรับดีเกินคาด

เข้าชม 866 ครั้ง

ผู้เขียน : ธาวิดา ศิริสัมพันธ์

ในวิกฤตย่อมมีโอกาส บัณฑิตหน้าใสจากรั้วจุฬาฯ ในวัยเพียง 25 ปี สามารถพลิกวิกฤตของครอบครัวทำสวนมะพร้าว สวนไม้ผลกว่า 300 ไร่ ต้องประสบปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ จึงปิ๊งไอเดียแปรรูปผลผลิตที่มีอยู่ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์มะพร้าวอัดเม็ดขึ้นมา ส่งขายไปไกลยังต่างประเทศ

คุณพิชญ์สินี จีราพันธุ์ หรือ คุณเดียร์ อยู่บ้านเลขที่ 102/101 ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ เกษตรกรรุ่นใหม่หัวคิดสร้างสรรค์ เธอคนนี้มีดีกรีไม่ธรรมดา เรียนจบคณะรัฐศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งในขณะที่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 เธอมีโอกาสได้ไปฝึกงานที่ประเทศจีนกับกรมการค้าระหว่างประเทศเป็นระยะเวลา 2 เดือน ในระหว่างการฝึกงานเธอได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์มาอย่างมากมาย และได้เล็งเห็นว่าสินค้าไทยยังมีโอกาสเติบโตในตลาดต่างประเทศอีกมาก จึงเกิดความสนใจอยากที่จะทำการส่งออกหรือค้าขายระหว่างประเทศ ซึ่งประจวบเหมาะกับที่บ้านของเธอประกอบอาชีพทำสวนผลไม้อยู่แล้ว จึงอยากนำประสบการณ์จากที่ได้มาต่อยอดธุรกิจของครอบครัว ให้เกิดมูลค่าเพิ่มด้วยมีโจทย์ที่ว่าจะทำอย่างไรให้สินค้าเกษตรที่มีราคาตกต่ำมากๆ หรือล้นตลาด จะทำอย่างไรให้กลับมาขายได้ราคาอีกครั้ง ด้วยเหตุที่ช่วงนั้นมะพร้าวราคาตกอยู่พอดี จึงเกิดไอเดียนำสิ่งที่มีอยู่อย่างมะพร้าวมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่า โดยเฉพาะถ้าทำส่งออกจะยิ่งเพิ่มมูลค่า จึงเกิดไอเดียเริ่มต้นตั้งแต่ตอนนั้นมาพลิกวิกฤตเป็นโอกาส มะพร้าวราคาตก!
นำมาแปรรูปผลิตภัณฑ์มะพร้าวอัดเม็ด สร้างมูลค่าเพิ่ม

คุณเดียร์ บอกว่า หลังจากกลับมาจากฝึกงานที่ประเทศจีน ก็ค่อยๆ เริ่มวางแผนแปรรูปผลิตภัณฑ์ โดยช่วงนั้นยังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 ประกอบกับมีโอกาสจากทางภาครัฐเข้ามาสนับสนุนให้แก่ชาวสวนที่สนใจอยากจะแปรรูปสินค้าเกษตรอยู่พอดี ซึ่งที่บ้านทำสวนผลไม้อยู่เยอะ เลยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งในด้านของเงินทุน การเข้าอบรม รวมถึงได้ไปศึกษาดูงานที่ต่างประเทศ มีคุณแม่เป็นคนไปดูงานแล้วกลับมาช่วยกันคิดต่อยอดกันว่าจะแปรรูปอะไรดี ในตอนแรกทดลองทำโมจิก่อนเพราะโมจิเป็นของขึ้นชื่อของจังหวัดนครสวรรค์ แต่เมื่อทำออกมาแล้วสินค้าเก็บไว้ไม่ได้นาน อายุการเก็บรักษาไม่ถึง จึงต้องมาคิดใหม่ว่าจะทำอะไรดีที่เก็บไว้ได้นาน 1 ปีขึ้นไป และตอนนั้นเป็นเทรนด์ของนมอัดเม็ดจิตรลดากำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ก็เลยคิดขึ้นมาได้ว่าทำไมไม่ลองทำเป็นผลิตภัณฑ์อัดเม็ดขึ้นมา เพราะเป็นของแห้ง น้ำหนักเบา ส่งออกง่าย และมีอายุการเก็บรักษาได้นาน จึงเริ่มทดลองทำมะพร้าวอัดเม็ดขึ้นมา ใช้เวลาลองผิดลองถูกอยู่นานกว่าครึ่งปีกว่าจะได้สูตรที่ลงตัว มีรสชาติหอม หวาน มัน
โดยเริ่มต้นจากการทดลองนำมะพร้าวน้ำหอมจากสวนตัวเองมาทำก่อน แต่เมื่อทำออกมาแล้วรสชาติความหอม หวาน มัน ยังไม่ได้ จึงลองเปลี่ยนมาใช้มะพร้าวแกงแทนแล้วปรากฏว่ารสชาติออกมาดี มีความหอมมันกว่ามะพร้าวน้ำหอม จึงเปลี่ยนมาใช้มะพร้าวแกงตั้งแต่นั้นมา นับเป็นการเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้แก่ชาวสวนมะพร้าวแกงได้อีกช่องทางหนึ่ง ส่วนมะพร้าวน้ำหอมไม่ต้องเป็นกังวลเพราะสามารถขายตัวเองได้อยู่แล้ว 

ขั้นตอนการแปรรูปไม่ยุ่งยาก อยู่ที่ต้องขยัน
พัฒนาช่องทางต่อยอดไปเรื่อยๆ

ในส่วนของขั้นตอนการแปรรูป คุณเดียร์ บอกว่า ไม่มีอะไรที่ยุ่งยาก เป็นแค่การแปรรูปเบื้องต้นเท่านั้น หากท่านใดสนใจทำก็สามารถศึกษาหาความรู้ได้ด้วยตัวเองได้หลายช่องทางมากๆ และอย่าลืมช่องทางที่สำคัญคือการเข้าหาหน่วยงานที่ช่วยเหลือหรือสนับสนุนด้านการวิจัยและทดลองเพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ควบคู่ไปด้วย โดยปัจจัยขั้นพื้นฐานในการเริ่มต้นแปรรูปคือ ต้องเริ่มจากความต้องการของบริโภคก่อนว่าเขาต้องการอะไรแล้วจึงค่อยมาปรับให้เข้ากับสิ่งที่มีอยู่
“ตัวอย่างเดียร์มีสวนมะพร้าวอยู่แล้ว และโชคดีที่ญาติของเดียร์ทำโรงงานนมอัดเม็ด เดียร์ก็นำทั้งสองสิ่งนี้มาเข้าด้วยกัน มีการคิดค้นสูตรและให้ญาติลองทำอัดเม็ดขึ้นมา มีการทดลองหลายวิธีว่าควรทำอย่างไร ใช้วิธีไหน ซึ่งก็ไม่ได้ยากเกินความสามารถ แต่เพียงต้องใช้ความขยันศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และไม่เบื่อที่จะเรียนรู้ผิดถูกไปด้วย”

 ขั้นตอนการแปรรูปเริ่มจาก

  1. เลือกมะพร้าวแกงที่เหมาะสมกับการนำมาแปรรูป
  2. นำมะพร้าวแกงที่คัดมาแล้วนำเข้าสู่กระบวนการ Spray Dryer (เครื่องอบทำผงแห้งแบบพ่นฝอย) จะได้ผงของมะพร้าวขึ้นมา ซึ่งในขั้นตอนนี้จะใช้วิธีการจ้างโรงงานข้างนอกให้เขาทำให้
  3. จากนั้นนำผงมะพร้าวแกงที่ได้จากกระบวนการ Spray Dryer มาผสมกับวัตถุดิบที่เตรียมไว้ มีส่วนผสมหลักเป็นมะพร้าว 80 เปอร์เซ็นต์ น้ำตาล และมอลโตเด๊กซ์ตรินเพื่อทำให้ส่วนผสมจับตัว
  4. จากนั้นนำไปตอกเป็นเม็ด
  5. บรรจุใส่ถุงทันทีเพื่อช่วยลดการหืนได้มากพอสมควร และสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 1 ปี 2 เดือน

ขั้นตอนเบื้องต้นมีเพียงเท่านี้ กระบวนการถือว่าไม่ยุ่งยาก จะมีส่วนที่ต้องพิถีพิถันขึ้นมาหน่อยคือตรงที่มะพร้าวจะมีความชื้นถ้าผสมในสัดส่วนที่ไม่แมตช์กันจะทำให้เหนียวและหืน ตรงนี้ต้องใช้เวลาและประสบการณ์เป็นตัวช่วย

จุดเด่นมะพร้าวอัดเม็ด จะมีความหอมของกลิ่นมะพร้าว รสชาติไม่หวานมาก ไม่มีคอเลสเตอรอล เคี้ยวเพลิน ใช้มะพร้าวแท้ในการทำ และนอกจากมะพร้าวอัดเม็ดรสดั้งเดิม ยังมีเพิ่มเติมขึ้นมาในส่วนของทุเรียนอัดเม็ดขึ้นมาเพื่อเอาใจตลาดต่างประเทศ แต่ก็ยังคงส่วนผสมของมะพร้าวอยู่เพียงแต่ใส่ผงทุเรียนเพิ่มแล้วลดปริมาณมะพร้าวลง ถือเป็นที่ถูกใจของประเทศจีนและฮ่องกง

ราคา ซองละ 25 บาท บรรจุ 20 กรัม 1 วัน สามารถผลิตได้ 30,000 ซอง ใช้ปริมาณมะพร้าวแกงประมาณ 600 กิโลกรัม

ผลตอบรับดีทั้งในและต่างประเทศ การเริ่มทำการตลาดอาจจะแปลกไปนิดหนึ่งที่เริ่มจากตลาดต่างประเทศก่อน แล้วค่อยมาทำตลาดในประเทศ

ตลาดต่างประเทศ มี จีน ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ผลตอบรับค่อนข้างดี ไปออกงานที่ประเทศจีนครั้งแรกก็ได้ตัวแทนจำหน่ายมาเลย
ตลาดในประเทศ เน้นขายให้ครอบคลุมทุกภาคโดยผ่านตัวแทนห้างร้านใหญ่ๆ เช่น ที่ภาคเหนือให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นจุดศูนย์กลางกระจายสินค้า เพราะมีนักท่องเที่ยวมากมาย ภาคอีสานวางขายที่เล้งเส็ง ภาคกลางมีขายที่ร้านเจ้เล้ง รวมถึงห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี บีทูเอสบางสาขา ร้านขายของฝากทั่วไป และในอนาคตจะมีวางขายในเซเว่น-อีเลฟเว่นกว่า 1,300 สาขา ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงดำเนินการ และติดช่วงโรคระบาดโควิด-19 จึงต้องมูฟไปขายในออนไลน์ที่ www.dearsnacks.com

ยอดขาย ถือว่าเริ่มต้นได้ดีถ้าเทียบกับระยะที่ทำมาเพียง 1 ปี 10 เดือน มียอดขายในประเทศ 15,000 ซอง ต่อเดือน ยอดขายต่างประเทศสั่งเป็นล็อต ถ้าส่งไปจีนครึ่งตู้คอนเทนเนอร์ ประมาณ 69,000 ซอง 3-4 เดือน ส่งครั้ง 

เกษตรกรรุ่นใหม่ เชิญชวนให้พี่ป้าน้าอา
หันมาแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อความยั่งยืน

“การแปรรูปสินค้าเกษตรไม่ยากเกินเอื้อม เพียงใช้หลักคิดง่ายๆ คือในประเทศไทยมีธรรมชาติและผลไม้ที่อุดมสมบูรณ์ราคาก็แปรผันไปตามกลไกดีมานซัพพลาย ราคาก็จะไม่สูง ยิ่งถ้ามีสินค้าออกมาเยอะราคาก็จะยิ่งต่ำ ดังนั้น เราก็ต้องนำสินค้าที่มีอยู่ไปขายในที่ที่เขาไม่มี หรือมีน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการ แต่ส่วนใหญ่มักจะติดปัญหาที่ว่า 1. เกษตรกรยังทำสินค้าไม่ตรงต่อความต้องการของตลาดต่างประเทศ 2. อายุการเก็บรักษาไม่ได้นาน ดังนั้น วิธีแก้คือพี่น้องเกษตรกรก็ต้องพยายามก้าวข้ามคอมฟอร์ตโซนของตัวเอง ว่าเราจะไม่ทำสินค้าออกมาแค่วางขายอยู่หน้าบ้าน แต่จะต้องทำสินค้าที่ดีและมีคุณภาพ สามารถส่งขายไปยังตลาดต่างประเทศได้ด้วย ถ้าทำได้จะส่งผลดีต่อตัวเกษตรกรเอง เพราะอย่าลืมว่าที่ต่างประเทศเขาไม่ได้มีผลผลิตเยอะเท่าที่บ้านเรา เขาจึงยังมีความต้องการสินค้าแปรรูปจากประเทศไทยอีกมาก พยายามศึกษาความต้องการของตลาดมากขึ้น ก็จะทำให้แก้ปัญหาสินค้าล้นตลาดได้ แก้ปัญหาสินค้าราคาตกต่ำได้ แล้วสิ่งเหล่านี้ก็จะกลับมาสร้างมูลค่าให้กับเราต่อๆ ไป และจะสร้างชื่อเสียงให้ประเทศด้วย ถือเป็นการต่อยอดในอนาคตให้กับผลิตภัณฑ์ได้อีกหลายๆ อย่าง” คุณเดียร์ กล่าวทิ้งท้าย

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.technologychaoban.com/marketing/article_151356