ศูนย์วิจัยข้าวปัตตานี ปรับปรุงสายพันธุ์ “ข้าวเล็บนก-ปัตตานี” เผยคุณค่าโภชนาการสูง พร้อมวิจัย 4 วิธีปลูก เพื่อช่วยเกษตรกรลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตให้ได้มากที่สุด
จากความสนพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 ทรงพระกรุณาฯ ให้กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้สถานีทดลองข้าวปัตตานี เก็บรวบรวมสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองต่างๆ ของภาคใต้พบว่า มีสายพันธุ์ข้าวมากกว่า 307 สายพันธุ์ โดยมาจาก 107 อำเภอและ 14 จังหวัด และได้มีการทดลองปลูกคัดเลือกจนได้สายพันธุ์ข้าวบริสุทธิ์ โดยมีรหัสประจำสายพันธุ์ข้าวนี้ ว่า PTNG 84210 เป็นสายพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมจากต.ชะรัด อ.กงหรา จ.พัทลุง แล้วให้ชื่อสายพันธุ์นี้ว่า “ข้าวเล็บนก-ปัตตานี” ซึ่งมีลักษณะเป็นข้าวเจ้า ไวต่อช่วงแสง คุณภาพข้าวสุก ร่วน นุ่ม คุณค่าทางโภชนาการ ป้องกันโรคเหน็บชา บํารุงสมอง ท้องผูก ช่วยระบบขับถ่าย ลดไขมันในเส้นเลือด ป้องกันมะเร็งในลําไส้ มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์แก่สมอง และร่างกายมากกว่าข้าวกล้องธรรมดาถึง 15 เท่า มีไฟเบอร์ใยอาหารวิตามินหลากหลาย ธาตุเหล็กสูง แคลเซียมสูง มีสารกาบา ช่วยรักษาสมดุลในสมองและร่างกาย มีสารอาหารครบถ้วนทั้งคาร์โบไฮเดรต และมีแป้งในปริมาณที่สูงมาก นอกจากนั้นยังมีสารอาหารอื่นๆ เช่น โปรตีน ไขมัน วิตามิน แร่ธาตุ
ศูนย์วิจัยข้าวปัตตานี ได้มีการนำพันธุ์ “ข้าวเล็บนก-ปัตตานี” มาทำการวิจัยทดลองปลูกโดยการใช้เครื่องมือปลูกข้าวเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตข้าวในนาชลประทานและนาน้ำฝน มีทั้งหมด 4 กรรมวิธี คือ 1. นาชลประทานและนาน้ำฝน ใช้รถปักดำชนิดเดินตาม 2. นาชลประทาน ใช้รถปักดำชนิดเดินตาม และนาน้ำฝน ใช้เครื่องหยอดเมล็ดข้าวแห้งติดท้ายรถแทรกเตอร์ 3. นาชลประทาน ใช้เครื่องพ่นหว่านข้าวงอกแบบสะพายหลัง และนาน้ำฝนเครื่องพ่นหว่านข้าวแห้งแบบสะพายหลังแล้วคราดกลบ และ 4. นาชลประทาน และนาน้ำฝน ใช้โดรนหว่านเมล็ดพันธุ์
นายขุน พุฒสกุล เกษตรกรต้นแบบ Smart Farmer ด้านข้าว และ พนักงานการเกษตร ศูนย์วิจัยข้าวปัตตานี เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยข้าวปัตตานี ได้มีการปรับปรุงสายพันธุ์ เพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยเลือกเป็นพันธุ์ “ข้าวเล็บนก-ปัตตานี” ซึ่งเหมาะสมกับพื้นที่ของเกษตรกร 3 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นข้าวที่เกษตรกรนิยมบริโภคกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งการวิจัยครั้งนี้ทั้ง 4 กรรมวิธี ก็เพื่อเปรียบเทียบเรื่องของระยะเวลาในการเจริญเติบโต ปริมาณที่ได้ผลผลิต และกรรมวิธีแบบไหนที่สามารถช่วยในการลดต้นทุนให้เกษตรกรมากที่สุด เพื่อจะนำเสนอทางเลือกที่ดีที่สุดให้กับเกษตรกรต่อไป.