ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป อาชีพการทำนา น้อยคนที่ยังอนุรักษ์และสืบสาน เพื่อให้คงอยู่ ดั่งเกษตรกรส่วนใหญ่ในภาคใต้ ที่หันไปนิยมปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น แทนข้าว แต่ในพื้นที่ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ยังคงอนุรักษ์ วิถีชีวิตชาวนา
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดนโยบายให้มีการ พัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) ให้เป็นผู้ที่มีความรู้ ในเรื่องการทำการเกษตรเป็นอย่างดี ตระหนักถึงคุณภาพสินค้าและความปลอดภัยของผู้บริโภค มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ตลอดจนมีความภูมิใจความเป็นเกษตรกร พึ่งพาตนเองได้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกร ดังนั้นกรมการข้าว โดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานี จึงได้มีการน้อมนำนโยบาย ดำเนินงานตามเป้าหมาย โดยมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำนา การใช้เทคโนโลยีทางการเกษตร เพื่อยกระดับเกษตรกรด้วยนวัตกรรม พัฒนาศักยภาพเกษตรกรผู้ผลิต ให้เพิ่มขีดความสามารถในการผลิตเมล็ดพันธุ์ดี
ซึ่งหนึ่งภารกิจที่ทางศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานี กองเมล็ดพันธุ์ข้าว กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญ คือ มีการดำเนินงานการคัดเลือก กลุ่มเกษตรกร เพื่อที่จะได้คัดสรร “ข้าวเมล็ดพันธุ์ดี” ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกรมการข้าว และเรื่องขององค์ความรู้ ที่จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรผู้ผลิต เป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้จึงมีการจัดอบรมกลุ่มเกษตรกร หรือ สมาชิก ทั้งในเรื่องของวิทยาการด้านการผลิต การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ เพื่อพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถให้กับกลุ่มเกษตรกร ให้ก้าวสู่ยุคของ Smart Farmer
นายสันติภาพ ทองอุ่น หัวหน้ากลุ่มถ่ายทอดวิทยาการผลิตเมล็ดพันธุ์ดี ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ในส่วนของโครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง ได้มีแนวทาง ที่จะส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร ในพื้นที่ ในเขตรับผิดชอบ ให้มีองค์ความรู้ ความสามารถ สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยมีการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม องค์ประกอบหลายๆอย่าง มาเกี่ยวข้อง ซึ่งหวังผลให้เกษตรกร มีความอยู่ดี กินดี สามารถประยุกต์ นำสิ่งประกอบจากองค์ความรู้ต่างๆ จากการส่งเสริมให้เกษตรกร ต่อยอดพัฒนาเป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart farmer) รวมถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรในทุกด้าน เพื่อสร้างความมั่นคง ในการสืบทอดอาชีพทำนาอย่างยั่งยืน
ด้าน นายจิตร ถึงแก้ว เกษตรกร Smart farmer ผู้ผลิตเมล็ดข้าวพันธุ์ดี กล่าวว่า ตนเองเป็นผู้ผลิตเมล็ดข้าวพันธุ์ดี ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานี มาเป็นระยะเวลา กว่า 10 ปี อยู่ในพื้นที่ ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีเนื้อที่การปลูกประมาณ 30 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่นิยมการปลูกข้าวพันธุ์ กข41 และเดิมในอดีต ตนเองได้ผลิตข้าวเหมือนเกษตรกร ทั่วๆไป ชาวนาปลูกได้ จำหน่ายให้พ่อค้าคนกลาง เมื่อถึงเวลา ก็มาดำเนินการเก็บเกี่ยว มาซื้อไป ราคาแล้วแต่สภาวะตลาด หรือ แล้วแต่พ่อค้าคนกลางจะตั้งให้ จึงประสบปัญหาความไม่แน่นอน ถูกบ้าง แพงบ้าง พร้อมกับต้นทุนราคา ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดปัญหาการขาดทุน ได้ผลผลิตน้อยบ้าง เป็นปัญหาหลักๆ ในการทำนา แต่เมื่อหลังจากที่ประสบปัญหาบ่อยๆ จึงได้ตัดสินใจเข้าร่วม โรงเรียนชาวนา กับทางศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานีครั้งหนึ่ง หลังจากนั้น ได้รู้จัก และเข้าใจการดำเนินงานของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว จึงตกลงเป็นสมาชิกแปลงเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ให้กับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานี นับจากนั้นจึงมีแหล่งรับซื้อที่แน่นอน โดยสามารถกำหนดราคาได้ด้วยตนเอง และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น