ชื่อเสียงรสชาติความอร่อย “ทุเรียนไทย” กำลังเป็นที่โปรดปรานถูกอกถูกใจ “ผู้คนทั่วโลก” โดยเฉพาะตลาดจีนที่เป็นลูกค้ารายใหญ่มีการนำเข้าหลายแสนตันต่อปี “ผลักดันให้ราคาดีดตัวสูงขึ้น” จนผลผลิตส่งออกไม่ทันความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นนั้น
ทำให้หลายประเทศในอาเซียนไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา และอินโดนีเซีย ต่างเข้ามาแข่งขันในตลาดจีนมากยิ่งขึ้น “แต่ด้วยรสชาติยังคงคุณภาพต่ำไม่ได้รับความสนใจมากนัก” ทำให้นำไปสู่ “ขบวนการลักลอบสวมสิทธิ์ทุเรียนไทย” ที่เป็นปัญหาส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ทุเรียนไทยอยู่ขณะนี้
เรื่องนี้ วรัญญภัคก์ ศรีมหัทธนเวคิน ประธานกรรมการ บ.ควีน โฟรเซ่น ฟรุต จำกัด ตัวแทนการส่งออกทุเรียนไทย เล่าว่า คนจีนชื่นชอบทุเรียนไทยมากมีการนำเข้าไม่ต่ำกว่า 600 ตู้คอนเทนเนอร์/วัน พันธุ์ที่นิยมอย่างเช่น “หมอนทอง ก้านยาว พวงมณี และกระดุม” ราคาซื้อขายหน้าสวนอยู่ที่ 140-150 บาทต่อ กก.
ในส่วนต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 30 บาทต่อ กก.นั้นก็ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกมีกำไรราว 120 บาทต่อ กก. สิ่งนี้กลายเป็นตัวดึงดูดให้ชาวบ้านหันมาปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นปีละ 25% ในพื้นที่ จ.จันทบุรี ตราด ระยอง ศรีสะเกษ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช เพชรบุรี ยะลา ประจวบคีรีขันธ์ สามารถผลิตออกสู่ตลาดหลายล้านตันต่อปี
ทว่า ในส่วน “ผู้รับซื้อทุเรียนไทย” สมัยก่อนสถานที่รับซื้อ (ล้ง) มี 400 ล้ง ปัจจุบันเพิ่มเป็น 800 ล้ง ในจำนวนนี้เป็นล้งส่งขายในประเทศ 400-500 ล้ง แล้วอีก 300 ล้งนั้นเป็นผู้รับจ้างบรรจุหีบห่อให้ “ผู้ประกอบการส่งออกรายใหญ่ชาวจีน” ที่เรียกกันว่า “ล้งจีน” เข้ามาตั้งบริษัททำธุรกิจสินค้าเกี่ยวกับการเกษตรในไทย
ด้วยการใช้คนไทยเป็นนอมินีจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทสัญชาติไทยมีคนต่างชาติถือหุ้น 49% คนไทยถือหุ้น 51% ที่อาศัยว่าความมีทุนหนาเข้ามาทำการติดต่อ “ล้งท้องถิ่น” แล้วว่าจ้างออกกวนซื้อทุเรียนตามสวนเกษตรกรลักษณะการหยิบยืมมือคนไทยที่มีความรู้ด้านทุเรียนเข้ามาช่วยจัดการหาแทนตัวเองนั้น
แล้วล้งไทยจะได้สัดส่วนค่าจ้าง 6-8 บาทต่อ กก.หักค่าลูกจ้างจะได้กำไร 2-3 บาทต่อ กก. เพื่อนำส่งขายไปยังตลาดจีน “ถ้าเป็นผู้ประกอบการส่งออกคนไทย” ที่มีตลาดทุเรียนในจีนเป็นของตัวเองมีอยู่ไม่ถึง 20 คน
ปัญหามีอยู่ว่า “การนำเข้าทุเรียนตลาดจีน” นอกจากประเทศไทยแล้วยังมีประเทศผู้ส่งออกรายอื่นอีกอย่างเช่น “ผู้ส่งออกจากเวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์” ในจำนวนนี้ประเทศเวียดนามมีความได้เปรียบในการส่งออกมากที่สุด เพราะภูมิประเทศใกล้กับจีนสามารถจัดส่งทุเรียนถึงประเทศปลายทางภายใน 2-3 วันเท่านั้น
ข้อดีนี้ทำให้ “การนำเข้าทุเรียนเวียดนามไปสู่จีนใช้ระยะทางสั้นต้นทุนต่ำ” สิ่งสำคัญก็คือ “ทุเรียนเวียดนาม” สามารถตัดผลแก่ 85–90% อันเป็นช่วงมาตรฐานทุเรียนสุกพอดี
ขณะที่ “ประเทศไทยระยะทางการขนส่งยาวนานหลายวัน” ทำให้ ล้งต้องตัดทุเรียนผลแก่ 75% กลายเป็นทุเรียนแก่ยังไม่ได้ที่ หรือเรียกว่า “ทุเรียนตึงอ่อน” ส่งผลต่อรสชาติความอร่อยไม่ครบสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์
หนำซ้ำ “ล้ง และเจ้าของสวน” ก็มักให้ตัดผลแก่ระดับ 75% นี้ที่จะได้น้ำหนักดี “แต่คุณภาพสินค้าต่ำ” เสมือนทำร้ายอาชีพตัวเองอยู่ทุกวันนี้ ทั้งที่ทุเรียนไทยมีกลิ่นหอมหวานอร่อยกว่าทุเรียนเวียดนามที่ต้องเจอฝนตกเยอะ “กระทบต่อรสชาติ” แต่เมื่อทุเรียนไทยตึงอ่อนกลับกลายเป็นว่าคุณภาพด้อยกว่าทุเรียนเวียดนาม
ผลก็คือ “ศุลกากรจีน (GACC)” ได้ประกาศอนุญาตให้ประเทศเวียดนามสามารถส่งทุเรียนสดเข้าจีนได้ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เป็นลำดับที่ 2 ต่อจากประเทศไทย ด้วยการรับรองการขึ้นทะเบียนรายชื่อสวน 51 แห่ง และโรงคัดบรรจุเพื่อส่งออกอีก 25 ราย
เรื่องนี้ส่วนตัวมองว่า “จีนเปิดให้เวียดนามนำเข้าทุเรียนนี้” เป็นการต่อรองทางอ้อมกับไทยให้ปรับลดราคาทุเรียนลง เพราะนอกจากเวียดนามแล้วยังมีฟิลิปปินส์ และมาเลเซียสามารถส่งออกทุเรียนไปจีนได้ สิ่งนี้เป็นความกังวลให้ไทยอาจสูญเสียโอกาสครองตลาดทุเรียนจีนลดน้อยลงสวนทางกับผลผลิตเพิ่มขึ้น 25% ต่อปี
นั่นก็ทำให้ “ผู้ประกอบการบางส่วนในไทย” ย้ายฐานไปเปิดตลาดในเวียดนามมากยิ่งขึ้น เพราะด้วยต้นทุนการรับซื้อทุเรียนถูกและระยะทางขนส่งไปจีนใกล้สามารถลดต้นทุนให้น้อยลง ดังนั้น รัฐบาลไทยจำเป็นต้องให้นักวิชาการหาหนทางแก้ปัญหาการขนส่งสินค้าไปจีนรวดเร็วกว่าเดิม มิเช่นนั้นไทยอาจเสียตลาดส่งออกไปจีนแน่ๆ
ประการต่อมา “การลักลอบส่งออกทุเรียนด้อยคุณภาพ” ตามปกติกลไกการตลาดแล้ว “ผู้บริโภคปลายทางเมื่อได้รับประทานทุเรียนสุกแก่อร่อย” ย่อมมักมีความต้องการอยากกินอยากซื้อสูงมากขึ้น “ส่งผลให้สินค้าขาดตลาด” ทำให้ล้งคนไทยพากันแย่งซื้อทุเรียน กลายเป็นผลักให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นตาม
เมื่อเป็นเช่นนี้ “คนตัดทุเรียน หรือเจ้าของสวนบางคน” ที่อาจเกิดความโลภอยากฟันผลกำไรสูงๆ ก็เลยเก็บเกี่ยวตัดทุเรียนก่อนถึงวันกำหนดนั้น “ทำให้ได้ทุเรียนตึงอ่อนที่มีน้ำหนักดี” แต่เมื่อผู้บริโภคได้รับประทานแล้ว “รสชาติไม่อร่อยเหมือนเดิม” นั้นก็กลายเป็นว่า “ทุเรียนขายไม่ได้” ส่งผลกระทบให้ราคาตกต่ำลงเรื่อยๆ
ตามปกติ “การนับอายุทุเรียนนั้น” เริ่มนับจากวันหลังดอกบานจนถึง “วันที่ผลแก่” พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวได้มักต่างกันในแต่ละต้นอย่างเช่น “ต้นทุเรียนแบกลูกดกเยอะ” ส่วนใหญ่จะเกิดการแย่งธาตุอาหารทำให้ขนาดไซส์ไม่สวยผลแก่ช้า แต่ถ้าควบคุมไม่เกิน 50 ลูกต่อต้นใช้เวลา 120 วัน แป้งทุเรียนสุกพอดีสามารถเก็บผลผลิตได้
ด้วยเพราะ “การตรวจความอ่อน–แก่ทุเรียน” ต้องตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน (ตรวจแป้ง) อันเป็นมาตรการควบคุม เช่น “หมอนทอง” ต้องมีเปอร์เซ็นต์แป้งไม่น้อยกว่า 32% ต่ำกว่านั้นเป็นทุเรียนอ่อน
ฉะนั้นแล้ว “ทุเรียนไทยส่งออกไปยังจีน” ควรต้องเปิดตรวจคุณภาพทุกตู้คอนเทนเนอร์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพื่อตรวจคุณภาพแป้งทุเรียนต้องไม่น้อยกว่า 32% หรือควรปรับขยับไม่น้อยกว่า 35% ถ้าต่ำกว่านั้นจะส่งออกไม่ได้ เพื่อแก้ปัญหาการลักลอบส่งออกทุเรียนอ่อนไปตลาดต่างประเทศ มิเช่นนั้นจะสู้ทุเรียนเวียดนามไม่ได้เลย
ไม่เท่านั้น ตอนนี้ “กลุ่มธุรกิจจีนได้เข้ามาซื้อที่ดินในพื้นที่ จ.จันทบุรี” แล้วลงทุนปลูกทุเรียนสายพันธุ์โอวฉี 700 ไร่ เพราะสายพันธุ์นี้มีแนวโน้มจะเติบโตอย่างมากในอนาคต
ประเด็นถัดมา “การสวมสิทธิ์ทุเรียนไทย” ส่วนใหญ่มักนำทุเรียนเวียดนามเข้ามาสวมสิทธิ์เป็นทุเรียนไทยแล้ว “ส่งออกไปตลาดจีน” เพราะด้วยผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนในไทยได้รับรอง GACC เป็นจำนวนมากนี้ “ขณะที่แปลงสวนทุเรียน และโรงงานบรรจุในเวียดนาม” ยังมีคุณภาพมาตรฐานค่อนข้างต่ำอยู่มาก
บางแห่งบรรจุหีบหอ หรือแปรรูปทุเรียนแช่แข็งกันแบบกลางแจ้งไม่มีโรงงานทำให้ศุลกากรจีน (GACC) อนุญาตรับรองผู้ส่งออกไปตลาดจีนได้เพียง 25 ราย สวนทุเรียนผ่านการรับรอง 51 แห่ง เมื่อหมดโควตาแล้วก็ส่งออกไม่ได้ “กลายเป็นทุเรียนเวียดนามเบนเข็มมาในไทย” ด้วยการสำแดงนำเข้าเพื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์ทุเรียนนั้น
เมื่อผ่านการตรวจเข้าในไทยแล้ว “ผู้ประกอบการบางรายส่วนใหญ่เป็นบริษัทของชาวจีน” ไม่ปฏิบัติให้ตรงตามการแจ้งนำเข้าเพื่อการแปรรูปนั้น แต่กลับตีตราสวมสิทธิ์เป็นทุเรียนไทยส่งออกไปตลาดจีนแทน
ผลลัพธ์คือ “ไทยอาจสูญเสียตลาดให้แก่เวียดนาม” แม้ว่าคุณภาพจะด้อยกว่าทุเรียนไทยก็ตาม “แต่อย่าลืมว่าเทคโนโลยีสามารถพัฒนามาตรฐานให้มีคุณภาพเทียบเท่ากันได้ไม่ยาก” ดังนั้น ถ้าไทยไม่ควบคุมทุเรียนอ่อนก่อนส่งออกให้เข้มงวดแล้วไซร้โอกาสสูญเสียความเป็นแชมป์การส่งออกทุเรียนให้เวียดนามก็เป็นไปได้สูง
เหมือนดั่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกรณีข้าวหอมมะลิไทยที่สูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับข้าวเวียดนามนั้น
ฉะนั้น ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า “เกษตรกรไทย” ควรต้องรักษาคุณภาพทุเรียนไทยให้คงมาตรฐานไว้ เพราะสิ่งนี้จะช่วยผลักดันให้ “ตลาดทุเรียนไทย” ก้าวขยายเติบโตไปสู่ตลาดนานาประเทศต่อไปได้…