นับตั้งแต่การระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารามาตั้งแต่ปี 2562 ส่งผลให้เกษตรกรได้รับผลกระทบอย่างหนัก ล่าสุด ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้ลงพื้นที่เพื่อร่วมประชุมหารือแนวทางการแก้ไข
“ในภาวะเร่งด่วนและหาแนวทางแก้ไข มีทางเลือกที่เหมาะสมให้เกษตรกร และพร้อมสนับสนุนการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริงและแก้ปัญหาของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ผู้แทนสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตรระบุว่า ประเด็นเร่งด่วนคือ ต้องบริหารจัดการแปลงและทำให้พืชแข็งแรงทนต่อโรค ส่วนระยะยาวต้องวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของโรคและสภาพแวดล้อม เพื่อให้มีข้อมูลกลางแจ้งเตือนเกษตรกรให้สามารถป้องกันล่วงหน้าเพื่อลดผลกระทบ รวมถึงการพัฒนาพันธุ์ใหม่ๆ สิ่งที่อาจทำได้เร็วคือ ต้นพันธุ์ที่ปลอดโรคเพื่อลดการกระจายสู่ภูมิภาคอื่นๆของประเทศ”
ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง ผอ.กลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) สกสว. บอกถึงการระดมสมองเพื่อแก้ปัญหาโรคใบร่วงในยางพารา โดยในส่วนของสถาบันการศึกษาในพื้นที่ นักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลามุ่งใช้สารชีวภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยเนื่องจากยะลาเป็นพื้นที่ต้นน้ำ
แต่บางพื้นที่ไม่เอื้ออำนวยการต่อการใช้สารละลายจึงทดลองใช้สารชีวภัณฑ์ชนิดเม็ด มีแปลงทดสอบที่อำเภอกรงปินัง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ ศอ.บต. และได้รับงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน. ผ่านมหาวิทยาลัยในโครงการการพัฒนาและการเพิ่มประสิทธิภาพของนวัตกรรมสารชีวภัณฑ์เพื่อแก้วิกฤติปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของภาคใต้
นอกจากนี้ยังมีการวิตกกันว่า หากโรคนี้ยังระบาดต่อไป ในอนาคตไม่เพียงแต่จะระบาดเฉพาะยางพาราเท่านั้น อาจจะลามไปถึงทุเรียนที่ตอนนี้เกษตรกรมีการปลูกกันมาก หากประสบปัญหาโรคใบร่วงจะทำอย่างไร
ขณะที่นักวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ศึกษาความผิดปกติในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน พบการแสดงอาการในต้นยางที่มีอายุมากและมีพัฒนาการความหลากหลายของพันธุ์และทุกช่วงอายุ ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆในพื้นที่ภูเขาล้อมรอบและความชื้นสูง จึงพยายามให้ข้อมูลแก่เกษตรกรเพื่อรับมือการระบาด และทดสอบสารเคมีในท้องตลาดเพื่อนำมาแก้ปัญหา
แต่เมื่อสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดโรคใหม่ที่ต้องเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น โดยนักวิจัยได้เรียนรู้ข้อจำกัดของแต่ละพื้นที่ทั้งภาคใต้และภาคตะวันออก เพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมและแนวทางการป้องกันเพื่อยับยั้งความรุนแรงของโรค รวมถึงการขยายฐานเครือข่ายเกษตรกร
ด้านตัวแทนเกษตรกร นางสุวารี สองแก้ว เจ้าของสวนยางใน อ.เมือง จ.ยะลา เห็นว่าการบริหารจัด การสวนต้องมีระบบนิเวศที่ดี ทำให้พื้นที่มีความโปร่งแสงลอดผ่าน อากาศถ่ายเท สะดวก สะอาด การใช้วัคซีนพืชเข้าสู่ระบบรากเพื่อสร้าง ภูมิคุ้ม กันในลำต้นและรักษาหน้ายางจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้
“สวนยางพาราของตัวเองเป็นแห่งแรกในอำเมืองยะลาที่พบการระบาดในปี 2563 ได้รับความเสียหายนับสิบไร่ ผลผลิตลดลง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จังหวัดยะลา จึงทดลองใช้ไส้เดือนพันธุ์แอฟริกากัดกินใบที่ร่วง มูลไส้เดือนกลายเป็นปุ๋ยชั้นดี ช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินให้มีธาตุอาหารเพิ่มขึ้น ร่วนซุย น้ำยางพารามีปริมาณมากขึ้น ทำให้มีรายได้มากขึ้น ทั้งยังทำให้พืชผักอื่นๆงอกงามดีอีกด้วย”
เกษตรกรที่สนใจสารชีวภัณฑ์หรือสอบถามเรื่องการแก้ปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราและทุเรียน สามารถติดต่อได้ที่ ผศ.ดร.อิสมะแอ เจ๊ะหลง คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อีเมล isma-ae.c@ yru. ac.th.
กรวัฒน์ วีนิล