สยามคูโบต้า จัดโครงการ ‘KUBOTA Farm-Tech Innovator Hackathon 2022 นำนิสิต นักศึกษาทั่วประเทศ ร่วมแข่งขันประชันไอเดียนวัตกรรม ‘AGRI-TECH’ & ‘FARM-TECH’ สร้างสรรค์นวัตกรรมสุดล้ำที่จะช่วยยกระดับภาคการเกษตรไทย โดยทีมผู้ชนะเลิศได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท พร้อมถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
นายรัชกฤต สงวนชีวิน ผู้จัดการฝ่าย Business Value Creation บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า “บริษัทฯ ได้ดำเนินการจัดประกวด KUBOTA Hackathon 2022 ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นิสิต นักศึกษา ที่กำลังศึกษาระดับปริญญาตรี เรียนรู้นวัตกรรมการเกษตร พร้อมนำองค์ความรู้ที่ได้ศึกษานำมาต่อยอด สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อยกระดับภาคการเกษตรไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยแข่งขันชิงเงินรางวัล รวมกว่า 300,000 บาท ซึ่งทีมผู้ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท พร้อมถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้โจทย์การแข่งขันในปีนี้คือ “AGRI-TECH & FARM-TECH” การเสาะหาโซลูชัน ใหม่ๆ เพื่อช่วยพัฒนาภาคการเกษตร ตอบโจทย์กับผู้ใช้ไม่เพียงแค่เฉพาะเกษตรกรแต่ยังรวมถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจทำการเกษตร (Non-Farmer) สำหรับกิจกรรมจะเป็นการพาน้องๆ ทีมที่ได้รับคัดเลือกทั้ง 60 คน ไปลงพื้นที่คูโบต้าฟาร์ม จ.ชลบุรี ให้เรียนรู้วิถีการทำเกษตรยุคใหม่และเทคโนโลยีสุดล้ำจากคูโบต้า พร้อมจัด Workshop เสริมทักษะผู้ประกอบการและเสริมการเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์จริงจากพี่ๆ ทางสยามคูโบต้า”
ด้าน นายบุรยกร อุดมสิน นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเกษตรอัจฉริยะ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นักศึกษาทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ เล่าถึงนวัตกรรมที่ได้ออกแบบว่า “ผลงานของทีมเราคือกล้องวัดความอ่อนแก่ของทุเรียน ที่ใช้ระบบ Image Processing ทำงานคู่กับ ข้อมูล Weather Station สามารถทำการประเมินความอ่อนแก่ของผลทุเรียนได้ โดยทีมเล็งเห็นว่าทุเรียนถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ได้ค่อนข้างสูงแต่พอเข้าไปดูความเสียหายของราคาผลผลิตก็ค่อนข้างสูงเช่นกัน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากลูกอ่อนถูกตัดมามากเกินทำให้ขายไม่ได้หรือราคาต่ำ จึงคิดว่าหากเราช่วยลดความเสียหายจากตรงนี้ได้ จะช่วยสร้างรายได้เพิ่ม ทำให้เกษตรกรสามารถไปบริหารจัดการในส่วนอื่นมากขึ้น”
“นวัตกรรมการวัดความอ่อนแก่ของทุเรียน มีหลายงานวิจัยที่เผยว่าสามารถทำได้จริง เป็นเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว ทีมจึงมองเห็นความเป็นไปได้และคิดว่า สามารถต่อยอดได้ อีกทั้งมองว่านวัตกรรมดังกล่าวจะสามารถเข้าไปช่วยพัฒนาภาพใหญ่ของอุตสาหกรรมเกษตรไทยได้” นายธรภัทร์ แพงวาป นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเกษตรอัจฉริยะ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นักศึกษาทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ เล่าเพิ่มเติม
“สำหรับโครงการดังกล่าวเราได้เห็นถึงความตั้งใจของน้องๆ ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงศักยภาพของเยาวชนไทยที่สามารถออกแบบนวัตกรรมด้านการเกษตรขึ้นมาได้อย่างดี ตอบโจทย์กับภาคการเกษตรและสามารถนำไปพัฒนาเป็นธุรกิจใช้ได้จริง เราเชื่อว่านวัตกรรมจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อผู้ใช้งานได้รับประโยชน์จากการทำนวัตกรรม ซึ่งผลงานของน้องๆ ทั้งหมดก็แสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมที่พร้อมตอบโจทย์ภาพเกษตรกรรมไทยและสามารถก้าวเข้าสู่การเกษตรยุคใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายรัชกฤต กล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตามสยามคูโบต้าต้องการสนับสนุนและส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้พัฒนาศักยภาพการแข่งขันของตนเอง และพร้อมสร้างประสบการณ์เทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัยเพื่อคงจุดยืนการเป็น “นวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต” โดยในปี 2566 นี้ สยามคูโบต้ายังคงจะจัดโครงการ KUBOTA Hackathon 2023 ขึ้น เพื่อเฟ้นหาสุดยอดนวัตกรรมที่สามารถสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ภาคการเกษตรในอนาคต และพร้อมผลักดันเยาวชนรุ่นใหม่ในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาภาคการเกษตรต่อไป
สามารถติดตามโครงการผ่านทางเฟสบุ๊คแฟนเพจ https://www.facebook.com/SiamKubotaClub หรือผ่านทาง Official line @Siamkubota