ผู้เขียน : สาวบางแค 22
เชื่อหรือไม่…ผึ้งและชันโรง แมลงตัวเล็กๆ จะมีบทบาทเปลี่ยนแปลงโลกและสิ่งแวดล้อม แถมสร้างอาชีพและรายได้อย่างน่าทึ่งทีเดียว สิบปากว่าไม่เท่ากับตาเห็น อยากให้ทุกท่านมาพิสูจน์ความจริงกัน ที่ศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ราชบุรี (มจธ.ราชบุรี) เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานการเรียนรู้เรื่องผึ้ง หรือ “Bee Park” ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี
อยากรู้เรื่องผึ้ง ต้องมาที่ “Bee Park”
ศูนย์วิจัยฯ แห่งนี้ ศึกษาเรื่องผึ้งมากว่า 15 ปี เน้นศึกษาเรื่องการใช้ประโยชน์จากผึ้งพื้นเมืองเอเชีย การประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ มีบริการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่กลุ่มเกษตรกรที่สนใจพัฒนาการเลี้ยงผึ้งพื้นเมืองอย่างยั่งยืน ปัจจุบัน หัวหน้าศูนย์วิจัยฯ คือ รศ.ดร.อรวรรณ ดวงภักดี เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมผึ้งและภาษาผึ้งคนแรกของไทย ล่าสุด ยังเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งอันทรงเกียรติ “Regional President of Asia” ของสภาบริหารของสมาคมผึ้งโลก
รศ.ดร.อรวรรณ กล่าวว่า ทางศูนย์มุ่งศึกษาวิจัยเรื่องผึ้งใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1. พฤติกรรมผึ้ง ความหลากหลายของผึ้งและปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผึ้งทางการเกษตรและการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศ (climate change) 2. สร้างเครื่องมือที่ชื่อว่า รังผึ้งฉลาด (smart hives) เพื่อศึกษาภาษาผึ้งผ่านแอปพลิเคชั่น beeconnex โดยทำร่วมกับภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. 3. ใช้ประโยชน์จากผึ้งเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และ 4. สร้างน้ำผึ้งมูลค่าสูงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะจำหน่ายผ่านแบรนด์ “BEESANC” ที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับผลผลิตน้ำผึ้งของเกษตรกรที่ผ่านการอบรมจากทั่วประเทศไทย
ที่ผ่านมาทางศูนย์ได้ถ่ายทอดความรู้เรื่องการเลี้ยงผึ้ง ตั้งแต่ชนิดของผึ้งในประเทศไทย การคัดเลือกชนิดผึ้ง การเลี้ยง การปลูกพืช อาหารผึ้ง การออกแบบสวน ขั้นตอนการเก็บ การแยกขยายกล่อง ไปจนถึงกระบวนการผลิตน้ำผึ้งแบบธรรมชาติเพื่อให้ได้น้ำผึ้งคุณภาพที่ดีที่สุดในเวลาที่ดีที่สุด การวิเคราะห์คุณสมบัติอาหารฟังก์ชั่นของน้ำผึ้ง จนถึงการทำตลาด โดยเน้นการเลี้ยงผึ้งแบบเลี้ยงไว้กับพื้นที่และสามารถเลี้ยงได้ตลอดทั้งปี จัดหลักสูตรอบรมการเลี้ยงผึ้งชันโรงให้แก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจ กระทั่งสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเครือข่ายทั่วประเทศได้เป็นจำนวนมาก อาทิ เกษตรกรกลุ่มเลี้ยงผึ้งพื้นเมืองและชันโรง อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี, กลุ่มมละบริภูฟ้า ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังได้อบรมการเลี้ยงผึ้งชันโรงให้กับครูและเด็กโรงเรียนชายขอบระดับชั้น ป.1-ป.6 เพื่อเสริมทักษะการเลี้ยงผึ้งให้กับเด็กๆ ที่ขาดโอกาส เด็กที่ครอบครัวมีฐานะยากจนจะได้มีวิชาติดตัว สามารถนำรายได้จากน้ำผึ้งและชันโรงไปเรียนต่อได้ หรือเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว โมเดลนี้เราเริ่มทำกันแล้วในพื้นที่ที่อยู่ชายขอบราชบุรีและค่อยๆ ขยายออกไปยังจังหวัดข้างเคียงทั้งเพชรบุรีและกาญจนบุรี
สร้างเครือข่ายผู้เลี้ยงผึ้งไทย
ที่ผ่านมา สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (AGRITEC) สนับสนุนทุนวิจัยให้ ผศ.ดร.อรวรรณ ดำเนินโครงการ “การพัฒนาเครือข่ายผู้เลี้ยงผึ้งไทยระดับท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมอาชีพผลิตน้ำผึ้งเอกลักษณ์เฉพาะของประเทศไทย”
โดยทางศูนย์วิจัยฯ ได้สร้างโมเดล BEESANC เพื่อเป็นมาตรฐานใหม่น้ำผึ้งไทย เพื่อเกษตกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมที่มีเป้าหมายหลักในการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ความรู้จากงานวิจัย Beesanc Model เป็นรูปแบบการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) และนวัตกรรม มาเป็นกลไกในการพัฒนาน้ำผึ้งมูลค่าสูงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สำหรับ BEESANG กลุ่มตลาด Hi-End บนพื้นฐานของการเป็นน้ำผึ้งออร์แกนิกแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ ที่ได้รับการรับรองจากศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร ของ มจธ.
เป้าหมายของ BEESANC คือ สร้าง The Social Enterprise จากโมเดลการเลี้ยงผึ้งเพื่อออกแบบน้ำผึ้ง สู่การเป็นธุรกิจเพื่อสังคม โดยมีการดำเนินการใน 3 ด้าน คือ
1. สร้างรายได้ ส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจชุมชน : พัฒนาโมเดลเลี้ยงผึ้ง สำหรับผู้มีรายได้น้อย-พัฒนากระบวนการเลี้ยงผึ้งให้ได้มาซึ่งน้ำผึ้งที่มีคุณภาพและมูลค่าสูง-ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการเลี้ยงผึ้ง ให้กับผู้สนใจกลุ่มต่างๆ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการส่งผ่านน้ำผึ้งจากผู้ผลิตที่เข้าเกณฑ์ของ BESSANC ไปสู่ผู้บริโภค
2. สุขภาพและทางเลือกที่ดีกว่าของผู้บริโภคเป็นผลิตภัณฑ์เกษตรปลอดสารพิษ และให้เสริมสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับผู้บริโภค-เป็นทางเลือกแหล่งให้ความหวานเพื่อสุขภาพที่ดีกว่าการใช้น้ำตาลทราย-เป็นกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ด้านรสชาติและคุณค่า ที่สามารถแข่งขันกับกลุ่มน้ำผึ้งในตลาดบนได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถออกแบบตามความต้องการของผู้บริโภคได้
3. สร้างความยั่งยืนของระบบนิเวศและผลกระทบเชิงบวกเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น กระบวนการผลิตปราศจากการใช้สารเคมีในทุกขั้นตอน เพราะกระบวนการเลี้ยงผึ้งและชันโรงมีส่วนช่วยเพิ่มความหลากหลายและการติดผลของพืช ทั้งพืชเกษตรและพืชป่า นอกจากนี้ รูปแบบการเลี้ยงผึ้งช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ปลอดสารพิษให้กับชุมชน
สำหรับเครือข่ายผู้เลี้ยงผึ้งพื้นเมืองและธุรกิจเพื่อสังคม Beesanc ที่ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงผึ้งพื้นเมืองของกลุ่มวิจัยผึ้งพื้นเมือง มจธ.ราชบุรี ทำให้เกิดเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งโพรง ผึ้งมิ้ม และชันโรง กว่า 783 คน จาก 567 ครัวเรือน 245 หมู่บ้านทั่วประเทศ
กลุ่มเกษตรกรดังกล่าวได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายผลิตน้ำผึ้งเอกลักษณ์จากป่าธรรรมชาติ วิธีธรรมชาติทำให้น้ำผึ้งทุกขวดผลิตจากฟาร์มเลี้ยงผึ้งพื้นเมืองไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ เครือข่ายดำเนินการขายน้ำผึ้งเอกลักษณ์เฉพาะพื้นที่ให้กับลูกค้าที่ชื่นชอบน้ำผึ้งแท้ และก่อตั้งเป็นธุรกิจเพื่อสังคมในนามบริษัท BeeSanc ซึ่งปัจจุบันมีหน้าร้านอยู่ที่ร้านค้ามูลนิธิชัยพัฒนา สาขาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบัน สร้างรายได้ให้เครือข่ายในหมวดเลี้ยงผึ้งและผลิตภัณฑ์ผึ้งเพิ่มขึ้นกว่า 28.5% ต่อไป
เลี้ยงผึ้ง สร้างอาชีพยั่งยืน
คุณแมนรัตน์ ฐิติธนากุล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 11 ตำบลบ้านคา อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี เป็นหนึ่งในเกษตรกรที่เข้าร่วมอบรมความรู้เรื่องการเลี้ยงผึ้งกับ มจธ.ราชบุรี เล่าให้ฟังว่า เดิมที ครอบครัวทำอาชีพปลูกสับปะรดและผักมานานหลายปี แต่ประสบปัญหาภาวะหนี้สินและปัญหาสุขภาพ เนื่องจากการใช้สารเคมีตกค้างในร่างกายทำให้ร่างกายเจ็บป่วย จึงปรับมาทำการเกษตรในรูปแบบวนเกษตร ปลูกพืชผสมผสานร่วมกับปลูกไม้ป่าและเลี้ยงผึ้งชันโรงทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีสุขภาพที่ดีขึ้น
ผู้ใหญ่แมนรัตน์เป็นแกนนำชาวบ้านจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงผึ้งและชันโรง อำเภอบ้านคา เพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องผึ้งและชันโรงให้แก่ผู้สนใจทั่วไป โดยมี ผศ.ดร.อรววรณ ดวงภักดี และอาจารย์ปรีชา รอดอิ่ม ผู้เชี่ยวชาญวิจัยด้านชีววิทยาผึ้ง ห้องปฏิบัติการวิจัยผึ้งพื้นเมือง มจธ.ราชบุรี เป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการ
ผู้ใหญ่แมนรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เดิมทีอำเภอบ้านคา เป็นพื้นที่สีแดง ชาวบ้านเพาะปลูกพืชโดยใช้สารเคมีอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดปัญหาสารเคมีตกค้างในร่างกาย หลังจากได้อบรมความรู้เรื่องการเลี้ยงผึ้งและชันโรง มจธ.ราชบุรี จนประสบความสำเร็จ สร้างรายได้ที่ดีและมีสุขภาพที่ดีขึ้นก็พยายามชักชวนชาวบ้านในชุมชนหันมาเลี้ยงผึ้งและชันโรง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งเกิดปัญหาวิกฤตโควิด-19 เกิดปัญหาแรงงานตกงานจำนวนมาก จึงชักชวนให้มาเลี้ยงผึ้งและชันโรง ปรากฏว่าขายได้เงินกลับมาเลี้ยงครอบครัว เกิดกระแสบอกต่อปากต่อปากทำให้เห็นคุณค่าของการเลี้ยงผึ้งและชันโรง มีคนสนใจมาเลี้ยงเพิ่มมากขึ้น จึงค่อยๆ ลดการใช้สารเคมีไปโดยปริยาย
นอกจากนี้ ผู้ใหญ่แมนรัตน์ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายโรงเรียนใกล้บ้านอบรมหลักสูตรการเลี้ยงผึ้ง หลังจากนั้นมีการเพิ่มเนื้อหาดังกล่าวเข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะเด็กๆ ในชุมชนแห่งนี้ หลังจบ ป.6 ก็ไม่ได้เรียนต่อ วิธีนี้ช่วยดึงเด็กเข้ามาในระบบด้วยการฝึกอบรมอาชีพให้เขา เพราะใครๆ ก็สามารถเลี้ยงผึ้งและชันโรงได้ เพียงแค่บริเวณนั้นต้องเป็นการทำเกษตรอินทรีย์เท่านั้น ผึ้งดูดน้ำหวานจากผลไม้หรือดอกไม้ที่ไม่มีสารเคมี ซึ่งทางกลุ่มได้มีการฝึกอบรมอาชีพการเลี้ยงผึ้งและชันโรงฟรีมาโดยตลอด เพื่อให้ครอบครัวมีรายได้และลดการใช้สารเคมีในชุมชนให้มากที่สุด
ปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งพื้นเมืองและชันโรงอำเภอบ้านคา มีสมาชิกประมาณ 300 คน หน้าที่ของวิสาหกิจคือ เน้นการส่งเสริมองค์ความรู้เรื่องผึ้งและชันโรงที่ถูกต้องโดยได้รับการถ่ายทอดจาก มจธ.ราชบุรี โดยวิสาหกิจชุมชนฯ ได้รวบรวมน้ำผึ้งจากสมาชิกเพื่อส่งขายต่อให้กับศูนย์วิจัยฯ เพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์แบรนด์ Beesanc โดยน้ำผึ้งโพรงทางศูนย์รับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 500-600 บาท น้ำผึ้งชันโรงรับซื้อที่กิโลกรัมละ 1,000 บาท นอกจากนี้ วิสาหกิจชุมชนฯ ยังมีทำกล่องหรือบ้านผึ้งส่งขายด้วย โดยมีออร์เดอร์ในแต่ละเดือนประมาณ 200-300 ใบต่อเดือน ซึ่งอาชีพดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพเสริมที่นอกจากจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวบ้านแล้ว ยังช่วยปรับเปลี่ยนทัศนคติของเกษตรกรเรื่องลดการใช้สารเคมี เป็นการดูแลรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน
หากใครสนใจเรื่องการเลี้ยงผึ้งและชันโรง สามารถเข้าไปศึกษาเรียนรู้ได้ที่อุทยานการเรียนรู้เรื่องผึ้ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ราชบุรี โทรศัพท์ 032-726-510-13 หรือติดต่อได้ทาง www.http://ratchaburi.kmutt.ac.th/bee-park/