10 ก.พ. วันหมอดินอาสา กรมพัฒนาที่ดินจัดงานยิ่งใหญ่ที่อุบล ภายใต้ธีม“หมอดินอาสา นำพาการผลิต พิชิตตลาด” รมว.เกษตรฯ“ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน” เป็นประธาน พร้อมปลาบปลื้มผลงาน หนุนเต็มร้อยเพื่อเสริมแกร่ง ด้วยนโยบายตลาดนำการผลิต เป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่การเกษตรทั่วไทย
กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดพิธีเปิดงาน “วันหมอดินอาสา กรมพัฒนาที่ดิน” ปี 2566 ภายใต้หัวข้อ “หมอดินอาสา นำพาการผลิต พิชิตตลาด” โดยมี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน นายกำพล สิริรัตตนนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวต้อนรับ นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวรายงาน ณ โรงแรมยูเพลส มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมถ่ายทอดสดผ่านระบบ Video conference application zoom และ Facebook live กรมพัฒนาที่ดิน ไปยัง 76 จังหวัดทั่วประเทศ มีหมอดินอาสาที่เข้าร่วมงานในทุกพื้นที่กว่า 7,700 คน
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในนามของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอชื่นชมกรมพัฒนาที่ดิน โดยเฉพาะสถานีพัฒนาที่ดินทั้ง 77 จังหวัด ที่ส่งเสริม พัฒนาเครือข่ายหมอดินอาสาให้มีความเข้มแข็ง และมีความซาบซึ้งใจที่เครือข่ายหมอดินอาสา ร่วมกันขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาที่ดิน ให้เห็นผลเป็นที่ประจักษ์อย่างเป็นรูปธรรม การจัดงานวันหมอดินอาสา กรมพัฒนาที่ดิน” ปี 2566 ภายใต้หัวข้อ “หมอดินอาสา นำพาการผลิต พิชิตตลาด” เป็นนิมิตหมายที่ดี ในการรวมพลังหมอดินอาสาทั่วประเทศที่เป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่การเกษตร สามารถพิชิตตลาดได้อย่างเข้มแข็ง นำมาซึ่ง ความมั่นคงของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยต่อไป เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า หมอดินอาสา จะเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการร่วมผลักดันให้ภารกิจของกรมพัฒนาที่ดิน บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
“ เครือข่ายหมอดินอาสา เป็นเกษตรกรที่มีจิตสาธารณะ ช่วยเหลือเพื่อนเกษตรกร ในการปรับปรุงบำรุงดิน และฟื้นฟูทรัพยากรดินให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน ปัจจุบันมีหมอดินอาสา 77,688 ราย และครูหมอดิน 354 ราย ถือว่าเป็นหนึ่ง ในเครือข่ายเกษตรกรที่ใหญ่ที่สุดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง และหัวข้อการจัดงาน “หมอดินอาสา นำพาการผลิต พิชิตตลาด” แสดงให้เห็นถึงการยกระดับ และพัฒนาเครือข่ายหมอดินอาสาให้เป็นผู้ประกอบการ ด้วยปัจจุบันการหาช่องทางการตลาด หรือการผลิตที่ตอบสนองความต้องการของตลาด และผู้บริโภคเป็นสิ่งสำคัญ ถือเป็นการดำเนินการ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 1 ตลาดนำการผลิต ที่เร่งการส่งเสริมด้านการตลาด ผลักดันให้สินค้าเกษตรมีคุณภาพ และมาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ ” ดร.เฉลิมชัย กล่าว
ด้านนายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดิน มีภารกิจหลักในการพัฒนาทรัพยากรดิน ทางการเกษตรให้อุดมสมบูรณ์ และวางแผนการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร แต่ด้วยภารกิจที่ต้องดูแลทรัพยากรที่ดินครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรม 150 ล้านไร่ทั่วประเทศ เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน 9.2 ล้านคน ขณะที่มีเจ้าหน้าที่จำนวนจำกัด กรมพัฒนาที่ดินจึงริเริ่มโครงการ “หมอดินอาสา” ขึ้นในปี 2538 เพื่อสนับสนุนภารกิจของกรมฯ ในการแก้ปัญหาและพัฒนาทรัพยากรที่ดินอย่างรวดเร็วและทั่วถึง พร้อมกำหนดให้วันที่ 10 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันหมอดินอาสา สำหรับการจัดงาน ในปี 2566 นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเชิดชูเกียรติแก่หมอดินอาสาที่สร้างคุณประโยชน์มาอย่างยาวนาน และทุ่มเททำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ และเพื่อจัดให้มีกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างหมอดินอาสาและเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดิน รวมถึงเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ ช่วยเหลือดูแลกันและกันของหมอดินอาสา
อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่เริ่มจัดตั้งจนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลา 28 ปี หมอดินอาสาทั้ง 4 ระดับ ได้แก่ หมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน หมอดินอาสาประจำตำบล หมอดินอาสาประจำอำเภอ และหมอดินอาสาประจำจังหวัด ได้รับ การพัฒนาศักยภาพ และมีการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั้งในและต่างประเทศ โดยระดับพื้นที่ หมอดินอาสาเป็นตัวแทน ช่วยประสานงาน ประชาสัมพันธ์ และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านพัฒนาที่ดินไปสู่เกษตรกร และผู้สนใจในพื้นที่ได้ ดังคำกล่าว “หมอดินอาสาเปรียบเสมือนครูและเพื่อนที่ดีที่สุดสำหรับเกษตรกร” ส่วนระดับประเทศ หมอดินอาสาเป็นเครือข่ายเกษตรกรขนาดใหญ่ที่มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพสูง เป็นเกษตรกรต้นแบบที่มีองค์ความรู้ สามารถใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน เพื่อการจัดการดินอย่างยั่งยืน ขณะที่ระดับโลก หลายองค์กร เช่น องค์การอาหารและเกษตร แห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้นำแนวคิดหมอดินอาสาไปส่งเสริมในระดับนานาชาติ ภายใต้ชื่อ หมอดินโลก (Global Soil Doctor Program) รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว พม่า เวียดนาม กัมพูชา ได้เข้าร่วมโครงการจัดตั้งหมอดินอาสากับกรมพัฒนาที่ดิน
“ปี 2566 นี้ กรมพัฒนาที่ดิน มีเป้าหมายพัฒนาขีดความสามารถ ในเรื่อง การตลาดนำการผลิต และการสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรผ่านเครือข่ายหมอดินอาสา ส่งเสริมการใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีการจัดการที่ดินทางการเกษตรเพื่อลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนการสนับสนุนให้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล 4.0 และแอปพลิเคชันต่างๆของกรมพัฒนาที่ดิน สู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจตามนโยบายของรัฐบาล นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เป็นประธานกลุ่มในโครงการส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร และโครงการหมู่บ้านปลอดขยะอินทรีย์ต้นแบบ (Zero waste) เพื่อเป็นต้นแบบถ่ายทอดองค์ความรู้ และการใช้เทคโนโลยีชีวภาพทางดินจัดการขยะเศษวัสดุอินทรีย์ในชุมชนให้หมุนเวียนนำกลับมาใช้ประโยชน์ ” นายปราโมทย์ กล่าวในที่สุด