ค้นหา

จากใบไผ่สู่สกินแคร์ภายใต้แบรนด์ SUCHADA ฝีมือคณะวิทย์ มธ. เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เข้าชม 516 ครั้ง

รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร บุญยืน อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SCI-TU) เปิดตัวแบรนด์ SUCHADA (สุชาดา) สกินแคร์ที่มีสารสกัดจากใบไผ่สายพันธุ์ “ซางหม่น” ที่พบได้ในประเทศไทย ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากโจทย์ของกลุ่มเกษตรกร จ.สระแก้ว ที่ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มของต้นไผ่

ต้นไผ่ซางหม่น

โดยทีมวิจัยด้านเคมีได้ทำการศึกษาทุกส่วนของไผ่ จนพบว่าใบไผ่สายพันธุ์ดังกล่าวมีสารประกอบสำคัญเรียกว่า ไอโซออเรียนติน (isoorientin)  ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย (Anti-Bacteria) ชนิด E.coli และ S.aureus สามารถฆ่าเชื้อไวรัส (Anti-Virus) เดงกี (dengue virus) ที่นำไปสู่โรคไข้เลือดออกได้ และยังยับยั้งการอักเสบของผิวหนังได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงนำมาต่อยอดเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จนออกมาเป็นสกินแคร์ที่มีศักยภาพสูงด้วยคุณสมบัติและบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม อีกทั้งยังเป็นการนำสารประกอบดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ได้เป็นครั้งแรกของโลก

สารสกัดไอโซออเรียนติน

ทั้งนี้ SUCHADA (สุชาดา) ได้ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพในห้องปฏิบัติการที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพระดับ Biosafety Level 2 การทดสอบกับกลุ่มตัวอย่าง (Clinical Test) จำนวนกว่า 300 ราย ที่ประกอบด้วยเพศชาย เพศหญิง ในกลุ่มอายุต่าง ๆ ที่หลากหลายซึ่งพบว่าสารสกัด ไอโซออเรียนติน (isoorientin)  ให้ผลลัพธ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน คือ ต้านสารอนุมูลอิสระ การชะลอวัย และยืดอายุเซลล์ ช่วยฟื้นฟูให้ผิวฉ่ำน้ำ ผิวแข็งแรง ลดการเกิดสิว รอยดำจากฝ้า และบำรุงผิวอักเสบ

สกินแคร์จากใบไผ่ซางหม่น

อีกทั้งยังช่วยยับยั้งปัจจัยทำลายผิวอย่าง PM 2.5 ได้อีกด้วย โดยไม่พบผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย ซึ่งปัจจุบันสารสกัดไอโซออเรียนติน (isoorientin) ภายใต้แบรนด์ SUCHADA (สุชาดา) ได้รับการจดสิทธิบัตร และได้รับขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ถือเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของผู้พัฒนาในนามของคณะวิทย์ มธ.

รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร กล่าวต่อว่า การพัฒนาสกินแคร์ภายใต้แบรนด์ SUCHADA (สุชาดา) ของคณะวิทย์ มธ. ถือเป็นต้นแบบของการนำงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์มาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจากภาคการเกษตร ซึ่งเป็นพืชสายพันธุ์ที่พบมากในประเทศไทย ที่ให้ผลลัพธ์ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างครบวงจร

โดยมีองค์ประกอบสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนอยู่ด้วย ได้แก่ การลดขยะจากภาคเกษตรกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มจากสินค้าเกษตร อีกทั้งยังสร้างมูลค่าให้กับงานวิจัยไทย ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ

ทั้งนี้การวิจัยสกัดสารสำคัญ ไอโซออเรียนติน (isoorientin) จากใบไผ่เพื่อพัฒนาเป็นครีมบำรุงและครีมกันแดด ได้รับรางวัลเหรียญทองจากเวที The 5th China (Shanghai) International Invention & Innovation Expo ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในปีที่ผ่านมา (2022)

รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร กล่าวอีกว่า โดยทั่วไปต้นไผ่จะมีระยะเวลาเติบโตก่อนเก็บเกี่ยวลำต้นประมาณ 3 ปี ซึ่งระหว่างนั้นเกษตรกรจะไม่มีรายได้จากการเพาะปลูก และส่วนใหญ่เป็นของเหลือทิ้ง นั่นคือจุดเริ่มต้นของการพัฒนาสกินแคร์จากใบไผ่สายพันธุ์ไทย ภายใต้แบรนด์ SUCHADA (สุชาดา) ซึ่งเป็นงานวิจัยที่นำมาสู่การใช้งานจริง และส่งผลดีทั้งภาคเกษตรกรรม การดูแลสิ่งแวดล้อม และการสร้างมูลค่าสินค้าเกษตรและงานวิจัยของไทย

ซึ่งคณะวิทย์ มธ. พร้อมชู SUCHADA Model กับแนวคิดการสร้างมูลค่าเพิ่มด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อส่งต่อแนวคิดนี้ไปยังคนรุ่นใหม่ สร้างกำลังคนแห่งอนาคต (Future Workforce) ภายใต้แนวคิด “SCI+BUSINESS” ปั้นเด็กวิทย์คิดประกอบการ ที่พร้อมส่งต่อแรงบันดาลใจสู่คนรุ่นใหม่ เพื่อปลุกไฟในเส้นทางสายวิทยาศาสตร์ โดยตอบโจทย์ 3 เป้าหมายของ Gen Z ได้แก่ งานก้าวหน้า รายได้มั่นคง และตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.agrinewsthai.com/agricultural-technology/54059