ลดฝุ่นพิษ PM 2.5 เกษตรกรครบุรี ตัดอ้อยสด ลดเผา ไม่ทิ้งวัตถุดิบให้เสียเปล่า นำยอดเลี้ยงควาย ทุ่นค่าใช้จ่ายอาหารสัตว์ ช่วยลดปัญหามลภาวะทางอากาศ
นายพศวีร์ สมใจ ปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา พร้อม นายบัญชา ชุติมันตานนท์ ปศุสัตว์อำเภอครบุรี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามแนวคิดของใหม่ที่จะช่วยลดต้นทุนในการเลี้ยงปศุสัตว์ ที่บ้านใหม่จอมทอง หมู่ที่ 11 ต.จระเข้หิน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา
ซึ่งเป็นหนึ่งในหมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย แห่งสำคัญของจังหวัดนครราชสีมา ตอนนี้มีเกษตรกรกลุ่มหนึ่ง นำโดย นายจำเนียร ดายครบุรี อายุ 57 ปี เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและเลี้ยงกระบือ ถือเป็นต้นแบบ การช่วยลดปัญหามลภาวะทางอากาศและฝุ่นละออง PM 2.5 ด้วยการตัดอ้อยสด ลดมลพิษ ไม่ทิ้งวัตถุดิบให้เสียเปล่า นำยอดอ้อยมาเป็นอาหารกระบือช่วงหน้าแล้ง ลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างมาก
นายจำเนียร กล่าวว่า ตนเองมีอาชีพหลักคือปลูกอ้อยไว้ส่งขายให้กับโรงงานในพื้นที่มานานหลายสิบปีแล้ว ก่อนหน้านี้เก็บเกี่ยวผลผลิตเหมือนกับเกษตรกรทั่วไป เผาต้นอ้อยเพื่อให้ง่ายต่อการเก็บเกี่ยว แต่ช่วงหลังที่ผ่านมา สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา ส่งเสริมให้เลี้ยงกระบือเพื่อสร้างรายได้เสริม และได้รับผลสำเร็จ มีชาวบ้านในพื้นที่เริ่มหันมาเลี้ยงกระบือกันเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นหมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทยที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา
ทั้งยังได้รับคำแนะนำให้ใช้ยอดอ้อยมาเลี้ยงกระบือยามหน้าแล้ง ซึ่งจะเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวอ้อยพอดี ทำให้ตอนนี้สามารถลดต้นทุนในการเลี้ยงกระบือในช่วงหน้าแล้งได้อย่างดี บางส่วนยังมีเพื่อนเกษตรกรผู้เลี้ยงกระบือมาติดต่อขอซื้อ แบ่งขายกำละ 10 บาท สร้างรายได้เพิ่มเติมอีกช่องทางหนึ่ง ทั้งการตัดอ้อยสดยังได้ราคาดีกว่าการเผา ช่วยลดมลภาวะทางอากาศสนองนโยบายรัฐบาลอีกด้วย
ราคาอ้อยสดที่รับซื้อของโรงงานในพื้นที่ จะได้ราคาสูงกว่าอ้อยราคากลางตันละ 20 บาท ส่วนอ้อยที่ผ่านการเผามาก่อนราคานั้น จะถูกกว่าราคากลางถึง 30 บาท ส่วนตัว ตนเองปลูกอ้อย 25 ไร่ สามารถเก็บเกี่ยวอ้อย นำยอดอ้อยที่ไม่เคยได้ใช้งานมาเลี้ยงกระบือที่มีอยู่ 20 ตัว ได้ประมาณ 2 เดือน
ซึ่งเดิมทีต้องใช้ฟางอัดมาเลี้ยงกระบือ วันละประมาณ 12 ก้อน หากเปรียบเทียบราคาวันนี้ฟางอัดก้อนอยู่ที่ก้อนละ 50 บาท จะสามารถลดค่าใช้จ่ายการเลี้ยงกระบือได้สูงกว่า 30,000 บาท เลยทีเดียว
นายพศวีร์ เปิดเผยว่า การที่เกษตรกรหันมาใช้ยอดอ้อยเพื่อนำมาเป็นอาหารกระบือ ถือเป็นการนำวัสดุเหลือใช้มาสร้างประโยชน์ และยังเป็นการลดปัญหามลภาวะทางอากาศ หรือ ฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นการสนองต่อนโยบายของภาครัฐ
อีกทั้งยังสามารถลดต้นทุนในการเลี้ยงให้กับเกษตรกรได้อย่างดีอีกด้วย ขณะที่โปรตีนที่จำเป็นต่อสัตว์ของยอดอ้อยก็ยังสูงกว่าฟางข้าวที่ราคาแพงกว่า โดยในฟางข้าวจะมีโปรตีนที่จำเป็นต่อสัตว์เพียง 1 – 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ขณะที่ยอดอ้อยจะมีสูงถึง 4 – 6 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว