ค้นหา

หอมแดงอบแห้งพร้อมใช้ ยืดอายุได้นาน 4 เท่าตัว

ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ กรมวิชาการเกษตร
เข้าชม 430 ครั้ง

ผู้เขียน ชาติชาย ศิริพัฒน์

จังหวัดศรีสะเกษเป็นแหล่งผลิตหอมแดงคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศที่นิยมอาหารไทย แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงส่วนใหญ่ผลิตและจำหน่ายหัวหอมสดเพียงอย่างเดียว นอกจากจะประสบปัญหาราคาตกต่ำ ผลผลิตยังเก็บรักษาได้ไม่นานหัวหอมมักจะฝ่อและเน่า ปี 2561 เราได้เงินสนับสนุนจากงบพัฒนาจังหวัด มาทำการศึกษาวิจัยแปรรูปหอมสดเป็นหอมแดงพร้อมใช้ ปรากฏว่า ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาได้เพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว จากเดิมเก็บรักษาได้นานแค่ 2-3 เดือน เพิ่มเป็น 8-12 เดือน โดยที่กลิ่น สี รสชาติยังคงเดิมไม่เปลี่ยนไป และเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน เกษตรกรสามารถทำเองได้”

นางสุคนธ์ วงศ์ชนะ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ กรมวิชาการเกษตร เผยถึงที่มาของโครงการวิจัยยืดอายุและเพิ่มมูลค่าหอมแดง โดยการนำหอมสดมาล้างทำความสะอาด หั่นให้เป็นชิ้นขนาดเดียวกับที่นำไปใช้ปรุงอาหาร

แล้วนำไปแช่ในสารละลายแคลเซียมคลอไรด์และกรดซิตริก เพื่อเพิ่มความแข็งแรง รักษาโครงสร้างของหอมแดงที่หั่นแล้วให้คงสภาพ และหยุดกระบวนการเน่าเสีย ให้คุณภาพสี กลิ่น รสชาติ ยังคงเดิม…แช่นาน 5 นาที จากนั้นนำขึ้นมาผึ่งให้สะเด็ดน้ำ แล้วนำเข้าเตาอบให้แห้งนาน 6 ชั่วโมง ใส่บรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิท จะได้หอมแดงที่เก็บได้นานมากกว่าหัวหอมสด 4 เท่าตัว

การใช้งาน เพียงแค่นำมาแช่น้ำอุ่น 1-2 นาที ถ้าแช่น้ำเย็นประมาณ 3 นาที จะได้หอมแดงหั่นพร้อมปรุงอาหารที่ใจชอบ

“แต่ด้วยการเก็บเกี่ยวหอมแดง เกษตรกรมักจะนำต้นหอมแดงมามัดให้เป็นกลุ่มๆ นำมาแขวนตากและจะแต่งทำความสะอาดมัดเป็นจุกก่อนการจำหน่าย ทำให้มีส่วนที่ไม่ใช้ประโยชน์ อย่างใบ ราก เปลือก ถูกทิ้งเป็นขยะในปริมาณมากถึงปีละ 4,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 10 ของผลผลิต เราจึงได้ทำการวิจัยต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าจากสิ่งเหลือใช้ของหอมแดงด้วย”

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ เผยว่า การนำใบ ราก และเปลือกหอมแดงที่ถูกทิ้งเป็นขยะมาสกัดสารสำคัญและกลั่นน้ำมันหอมระเหย พบว่ามีสารสำคัญหลายชนิด เช่น สารเคอร์ซิติน สารในกลุ่มไกล์โครไซด์ ซัลเฟอร์ และกลุ่มฟาโวนอย ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งการเปลี่ยนแปลงโปรตีนทำให้คอลลาเจนอยู่ในสภาวะปกติไม่สลายตัว (ลดริ้วรอยตามวัย) สร้างเซลล์ใหม่ได้รวดเร็ว (สมานแผล และลบรอยแผลเป็น) และลดอาการหวัดคัดจมูกได้ด้วย

จากการค้นพบดังกล่าว ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษจึงได้ร่วมกับจังหวัดศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลเบญจลักษ์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา วิจัยและพัฒนาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารสกัดหรือน้ำมันหอมระเหยมาทำเครื่องสำอาง ได้แก่ สบู่ ครีมบำรุงผิวหน้า เจลแต้มสิว โฟมล้างหน้า และเวชภัณฑ์ ได้แก่ สติกเกอร์แผ่นแปะ และน้ำมันหอมแดงช่วยบรรเทาอาการหวัด

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สอบถามข้อมูลได้ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ โทร.0-4581-4581.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/2633798